Cross-Border ความร่วมมือการค้าออนไลน์ไทย-มาเลย์เกิดขึ้นแล้ว

จากที่เคยบอกไปครับเรื่องของการรับมือสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศที่ยกทัพเข้ามาบุกบ้านเรา วิธีหนึ่งที่เราจะรับมือได้ก็คือการพยายามส่งสินค้าของเราออกไปนอกประเทศผ่านช่องทางออนไลน์หรือมาร์เก็ตเพลสของต่างประเทศด้วยเช่นกัน วันนี้ผมและ TARAD.com รวมถึง Startup ของไทยอีกสองบริษัทก็ได้ลงมือทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้แล้ว

เมื่อปลายเดือนเมษายนผมมีโอกาสเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เพื่อไปทำในสิ่งที่ได้เคยพูดไว้ คือการไปลงนามความร่วมมือทางการค้าออนไลน์ระหว่างสองประเทศและลงทุนขยายธุรกิจไทยด้านออนไลน์ไปยังมาเลเซีย โดยทาง TARAD.com ได้ขยายช่องทางเข้าไปในเว็บไซต์ของมาเลเซีย

รวมถึงการร่วมลงทุนของบริษัท Startup อย่าง SHIPPOP ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านระบบโลจิสติกส์ครบวงจร และ Siam Outlet ผู้ให้บริการด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์สำหรับองค์กรธุรกิจและร้านค้าออนไลน์แบบครบวงจร ทั้งสองบริษัทของไทยได้ขยายบริการออกไปยังประเทศมาเลเซียเช่นเดียวกัน

ในการลงนามครั้งนี้มีตัวแทนจาก Malaysia Digital Economy Corporation หรือ MDEC ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักภายใต้รัฐบาลมาเลเซียที่มีหน้าที่ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศมาเลเซีย และกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นพยานในการลงนามครั้งนี้ด้วย

3 โครงการที่เกิดขึ้นในการลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลย์เซียครั้งนี้ คือ

โครงการความร่วมมือ TARAD.com ของไทย กับ SiteGiant ผู้ให้บริการการค้าออนไลน์ของมาเลเซีย เพื่อเชื่อมต่อการค้าออนไลน์ระหว่างกัน โดยสามารถนำสินค้าจากทั้งสองประเทศส่งออกไปขายระหว่างกันผ่านช่องทางออนไลน์

โครงการการร่วมลงทุนของ SHIPPOP มาเลเซีย (www.Shippop.com.my) ผู้ให้บริการขนส่งทางออนไลน์ในมาเลเซีย เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท SHIPPOP ประเทศไทย และบริษัท Commerce.asia ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการ E-Commerce ครบวงจรของมาเลเซีย

โครงการการลงทุนใน LetMeStore มาเลเซีย (www.letmestore.com) ซึ่งเป็นบริษัทด้านการจัดเก็บสินค้าและจัดส่งสินค้า (Fulfilment) เป็นการลงทุนของบริษัท Siam Outlet ประเทศไทย

Cross-Border

ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำผู้ประกอบการของทั้งไทยและมาเลเซียสามารถที่จะขยายช่องทางการค้าระหว่างกันผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวกขึ้นและง่ายขึ้น ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการผลักดันที่ประสบความสำเร็จของภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศได้เกิดขึ้น นับเป็นความร่วมมือในระดับอาเซียนที่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยความสำเร็จครั้งนี้เป็นการร่วมมือกับบริษัท Commerce.asia บริษัทที่ให้บริการ E-Commerce ของมาเลเซีย

หันมามองดูเบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้คงต้องพูดถึง Startup ทั้งสองบริษัทของไทยที่ถือว่าเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ที่สามารถขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว เป็นตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าแบบเดิม

ทั้งสองบริษัทมีมุมมองที่ไม่ได้จับแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่มองไกลไปถึงการขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวหลักในการสร้างและขับเคลื่อนธุรกิจ นับว่าเป็น Startup ของไทยที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างให้แก่ธุรกิจอื่นสามารถเดินตามได้ ถือว่าได้เปิดประตูให้กับการทำธุรกิจ cross-border ที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

o3

ภาพจาก goo.gl/26MM8M

บริษัท SHIPPOP ที่เป็น Startup แถวหน้าของไทยด้วยทีมงานเด็กรุ่นใหม่เพียง 15 คนที่ช่วยกันสร้างธุรกิจจนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และทำกำไรได้แล้วแม้จะเปิดธุรกิจมาได้แค่เพียงปีกว่าๆ เท่านั้น ที่สำคัญคือสามารถขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว การเปิดให้บริการของ SHIPPOP มาเลเซียนั้นเปิดมาตั้งแต่เมื่อปลายปี 2560 โดยบริษัทสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักภายในประเทศมาเลเซียได้หมดแล้ว

มียอดผู้ใช้บริการที่เติบโตต่อเนื่องและรวดเร็ว วันนี้ยังอาจเป็นการให้บริการกับบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในประเทศมาเลเซียเป็นหลัก แต่ในอนาคตจะเชื่อมต่อเข้ากับระบบขนส่งของประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยทีมของประเทศไทยจะเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ SHIPPOP มาเลเซีย

o2

ภาพจาก goo.gl/95FFjf

อีกหนึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ก็คือ Siam Outlet บริษัทที่ทำเกี่ยวกับคลังสินค้าและโลจิสติกส์สำหรับองค์กรธุรกิจและร้านค้าออนไลน์แบบครบวงจรของไทย เป็นอีกหนึ่ง Startup ที่น่าจับตามองเพราะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว จากจุดเริ่มต้นเพียงแค่ 2 ปีก็สามารถนำเทคโนโลยีของตนมาขยายการลงทุนออกไปนอกประเทศได้แล้ว

นั่นคือการลงทุนใน LetMeStore ผู้ให้บริการเกี่ยวกับคลังสินค้าและโลจิสติกส์ของมาเลเซียซึ่งเป็นธุรกิจในลักษณะเดียวกัน โดยทาง Siam Outlet ได้นำเอาเทคโนโลยีการบริหารคลังสินค้าและองค์ความรู้ของตนมาถ่ายทอดให้กับทีมงานมาเลเซีย เทคโนโลยีที่ว่านี้ได้พัฒนาให้มีความก้าวล้ำและตอบโจทย์การทำธุรกิจในมาเลเซียเป็นอย่างมาก

การทำงานในครั้งยังไม่ถือว่าถึงจุดสิ้นสุด หน้าที่ของผมต่อจากนี้คงต้องมองต่อไปถึงประเทศในอาเซียนอื่นๆ เพราะการตลาดออนไลน์จะขายแต่ในประเทศคงไม่ได้แล้ว เราต้องส่งออกไปต่างประเทศด้วย เราคงต้องเตรียมการในเรื่องของการเชื่อมต่อ การเจรจากับหน่วยงานของแต่ละประเทศ และต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องการจัดเก็บสินค้า การขนส่ง การจัดการ ฯลฯ

o1

ภาพจาก goo.gl/95FFjf

นักธุรกิจไทยที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศหากทำเองทั้งหมดอาจมีความยุ่งยาก ผมจึงพยายามเชื่อมต่อทุกอย่างไว้ให้ หากใครสนใจลองเข้าไปที่ TARAD.com ก่อนก็ได้ เพราะตอนนี้เราได้เชื่อมต่อและเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

แค่นำข้อมูลสินค้ามาฝากไว้ในเว็บไซต์ก็สามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ผมพยายามลดขั้นตอนต่างๆ ให้น้อยลงและอยากให้คนไทยได้ส่งสินค้าออกไปขายได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เราไม่ควรยอมให้ต่างชาติบุกเข้ามาตีตลาดบ้านเราแต่ฝ่ายเดียว เราต้องหาทางส่งออกไปด้วยเช่นกัน เพราะนั่นคือทางรอดของเราครับ

 

เขียนโดย : คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต