BIG DATA & AI เทคโนโลยีที่สรรพากรจะนำมาใช้ในการจัดการระบบภาษี

จากการที่ กรมสรรพากร จะนำเอาเทคโนโลยี BIG DATA และ AI เข้ามาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร เรามาดูกันก่อนว่าสรรพากรจะทำได้อย่างไรบ้าง ระบบจะแบ่งข้อมูลออกเป็นหลายส่วน

ข้อมูลแบบแรก internal data คือข้อมูลที่ทางสรรพากรได้รับมา เช่น งบการเงินต่างๆ ข้อมูลแบบที่สองคือข้อมูลภายนอกที่เรียกว่า external data ซึ่งตอนนี้มีมากมายในโลกออนไลน์ อินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียทั้งหลาย

วิธีการแรกของสรรพากรน่าจะเป็นการใช้ข้อมูลจาก internal ที่ได้มาจากการที่บุคคลและธุรกิจส่งข้อมูลเข้ามาทั้งงบการเงิน รายได้ รายจ่ายต่างๆ ฯลฯ ซึ่งต่างจากเดิมที่ทำกันในรูปแบบ manual คือทำเป็นกระดาษmyh’หมดซึ่งต้องใช้เวลาในการจัดการมาก และบางคนอาจไม่ยอมส่งข้อมูลการเงินไปให้ จึงทำให้สรรพากรเองก็ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้

แต่ในวันนี้เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบออนไลน์จึงทำให้สรรพากรสามารถที่จะค้นหาข้อมูลได้ทุกรายการ วิธีต่อมาคือการเริ่มดูจากแพทเทิร์นโดยใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ เช่น คนคนหนึ่งเคยมีรายได้เท่าไหร่ในทุกๆ เดือน

ซึ่งการใช้คนเข้ามาดูทีละรายการเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามาก แต่หากใช้เทคโนโลยีเข้าไปตรวจสอบเราจะมองเห็นรูปแบบในการใช้จ่ายเงินว่ามีเงินเข้าเงินออกอย่างไรโดยดูได้ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและของบริษัท

กรมสรรพากร

ภาพจาก goo.gl/MSb2pj ,  goo.gl/GV7HPm

การใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบ แม้ว่าเราจะมีคนเป็นล้านๆ คนแต่ระบบจะอ่านข้อมูลแค่แป๊บเดียวก็จะรู้เลยว่าคนคนนี้มีแพทเทิร์นการชำระเงินเป็นแบบไหน มันจะเรียนรู้พฤติกรรมของแต่ละคน เมื่อมีข้อมูลที่เหมือนกันก็จะสามารถเรียนรู้แพทเทิร์นของคนอื่นได้ด้วย โดยการเอา data ทั้งหมดมาเรียนรู้ว่าคนคนหนึ่งมีพฤติกรรมอย่างไร

เมื่อคนอื่นๆ มีแพทเทิร์นแบบเดียวกันปุ๊บก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะมีลักษณะเดียวกัน และถ้าคนคนนี้หรือบริษัทนี้มีพฤติกรรมการใช้เงินแบบนี้ก็อาจจะสามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร

เช่น บริษัทหนึ่งเพิ่งเปิดมา 2 ปีมีอัตราการเติบโตเป็นแบบนี้ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับอีกบริษัทที่เปิดมา 20 ปีและมีอัตราการเติบโตในลักษณะเดียวกันหรืออาจนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับอีกหลายๆ บริษัทก็จะเริ่มทำนายได้แล้วว่าในปีต่อไปบริษัทนี้ควรต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่

ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่จะทำให้เริ่มจำลองความเป็นไปได้ว่าคนคนหนึ่งน่าจะต้องจ่ายภาษีเท่าใด ดังนั้นการจะหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีทำได้ยากแล้วเพราะระบบมันจะฉลาดมากขึ้น ข้างต้นนี่เป็นเพียงแค่ข้อมูล internal data ที่สรรพากรมีอยู่ เป็นแค่การเรียนรู้จากข้อมูลภายในเท่านั้น

แต่ที่ผมมองไปไกลกว่านั้นคือถ้าเป็นแบบ external data มีการหาข้อมูลจากโซเชียลมีเดียและนำข้อมูลต่างๆ เช่น ขายของออนไลน์ได้มากน้อยเท่าไหร่ เลขที่บัญชีธนาคารที่มีการโอนเข้าออก โลเคชั่นที่อยู่ และอื่นๆ ที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ทั้งหมด นำกลับมาดูข้อมูลและตรวจสอบการจ่ายภาษีในแต่ละปีของคนคนนั้น สรรพากรก็จะรู้และสามารถติดตามไปถึงตัวได้ทันที

ในโลกออนไลน์เมื่อใดที่เรามีข้อมูลที่สามารถใช้ผูกเข้าด้วยกันได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อนามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ข้อมูลเหล่าสามารถตั้งความเชื่อมโยงจากบุคคลหรือธุรกิจถึงกันได้แบบไม่ยาก

เพราะเดี๋ยวนี้มี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มี data มากขึ้นเรื่อยๆ ที่อยู่ในฐานข้อมูลขององค์กร มี external data อย่างในโซเชียลมีเดียเต็มไปหมด ฉะนั้น เมื่อเอาข้อมูลเหล่านี้มาแมทช์เข้าด้วยกันแล้ว มันสามารถที่จะทำ automated ได้ทันที ต่อไปไม่ว่าจะมีคนกี่ล้านคนก็จะสามารถรู้ข้อมูลได้ทั้งหมด

m3

ภาพจาก goo.gl/etMVVz

ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสรรพากรที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือการที่ ธปท. กำหนดให้ใช้มาตรการจัดทำบัญชีเดียวสำหรับการใช้ยื่นเสียภาษีและใช้ประกอบการขอสินเชื่อของ SMEs มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 จริงๆ ผมเห็นด้วยนะ

ข้อดีของการทำบัญชีเดียวคือทำให้เราสบายใจมากขึ้นว่าจะมีความผิดพลาดในการทำบัญชีน้อยลงหรือไม่ต้องห่วงในเรื่องการโกงหรืออื่นๆ แต่ที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าใดนักคือเรื่องที่สรรพากรจะออกกฎหมายที่หากบัญชีไหนมีการฝากเงินเข้าบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี ธนาคารต้องส่งบัญชีธนาคารนั้นไปให้สรรพากรตรวจสอบ โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันอาจเป็นการรุกล้ำมากเกินไปหน่อย

การที่สรรพากรจะนำเอา AI เข้ามาตรวจสอบ หากถามถึงกลุ่มที่พยายามหลีกเลี่ยง ผมว่าเรื่องนี้มันจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยน norm หรือเปลี่ยนวิธีคิด มันคงไม่ได้เกิดขึ้นในทันที ผมว่าที่สรรพากรทำนี้เป็นสิ่งที่ดี ประเทศเราต้องเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง

ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนวิธีคิด เห็นได้จากภาครัฐเริ่มเปลี่ยน เทคโนโลยีหรือกลุ่มสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน ตอนนี้ไม่ใช่แค่สรรพากรอย่างเดียวที่เปลี่ยนแต่ธนาคารต่างๆ เองก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว ดังนั้นระบบนิเวศ ecosystem หรือภาพรวมทางการเงินหรือธุรกิจกำลังเริ่มเปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้ว

และหากมีนำ AI เข้ามาใช้ในการตรวจสอบต่างๆ ก็อยากให้เข้าใจว่าการจะใช้ AI จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่คิดกัน เราก็อาจคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วหากบางคนเคยใช้โปรแกรม Excel ที่จะมีคำสั่ง run macro มันก็คือการเขียนสูตรคำสั่งที่ใช้ทำงานอัตโนมัติในโปรแกรมให้รันข้อมูลออกมา มันก็คือ AI แบบง่ายๆ ที่คนไม่ต้องไปทำเอง

เราแค่ตั้งกฎขึ้นมาแล้วนำไปใช้กับฐานข้อมูลที่มีจำนวนมาก AI จึงไม่ใช่เรื่องยาก สรรพากรอาจมีข้อมูลจำนวนมาก ผมกำลังพูดถึงฐานข้อมูลที่ต้องใช้ระบบที่ต้องมีวิธีเข้ามาจัดการอีกทีหนึ่ง ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานและสรรพากรเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เก่งจริงๆ เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ทำให้เราสามารถยื่นภาษีออนไลน์และยังจ่ายภาษีออนไลน์ได้อีกด้วย

ในเชิงของการนำ AI เข้ามาใช้งานซึ่งตอนนี้ในเมืองนอกเป็นที่สนใจกันมากทีเดียว บางคนอาจดูว่าเป็นเรื่องไกลตัว ผมอยากให้คุณลองนำข้อมูลในบริษัทมาอยู่ใน Excel แล้วลองรันมาโคร มันมีวิธีสอนการทำง่ายๆ อยู่ลองค้นในอินเทอร์เน็ตก็ได้

มันเหมือนเป็น AI ง่ายๆ เป็น AI เล็กๆ ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของคุณอยู่แล้ว ลองรันข้อมูลยอดขายที่ผ่านมา ลองสร้างสูตรดูซึ่งไม่ยาก ฯลฯ ผมอยากให้คุณได้ลองทำดู แล้วคุณจะได้เข้าใจมันมากขึ้นและไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยากอะไรอีกต่อไป

 

เขียนโดย : คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต