8 เรื่องต้องจัดการหลังจาก ตกงาน

เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคน ไม่อยากพบเจอกับการ ตกงาน หรือถูกเลิกจ้างมากที่สุด เพราะนอกจากจะทำให้เสียรายได้ และเสียโอกาสไปแล้ว ปัจจุบันงานดีๆ ก็ไม่ได้หากันง่ายๆ แต่ถ้าหากคุณต้องพบกับเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การมานั่งเสียใจ ควรที่จะตั้งสติ ค่อยๆ คิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะบอกสิ่งที่จะต้องทำหลังจาก ตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง เพื่อให้มนุษย์เงินเดือนทุกคนนำไปเป็นแนวทางดำเนินชีวิต หากว่าวันข้างหน้าอาจจะต้องเจอกับการถูกเลิกจ้างก็ได้ครับ

1.จัดการเรื่องประกันสังคม

ตกงาน

เมื่อว่างงาน 2 สิ่งที่คุณต้องดำเนินการ คือ เดินเรื่องขอรับเงินจากประกันสังคม กรณีการว่างงาน ลาออก หรือถูกไล่ออก โดยผู้ว่างงานจะต้องรีบติดต่อไปที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ใกล้เคียงต่างๆ ทั่วประเทศ

ลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ สำหรับผู้ถูกเลิกจ้าง จะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน สำหรับผู้ลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี โดยผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน

ลูกจ้างที่ออกจากงาน จะยังคงได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไป อีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงาน โดยจะได้รับความคุ้มครองต่อ 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ตามเงื่อนไข ในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี

และถ้าผู้ประกันตนประสงค์ที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ตามเงื่อนไข คือ เคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และจะต้องสมัครภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ลาออกจากงานและจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด 6 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตรและชราภาพ

2. ตรวจสุขภาพการเงิน

yo1

เมื่อว่างงาน แน่นอนว่ารายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่รายจ่ายส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลทางการเงินของตนเองเป็นการด่วนว่า มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร

สำหรับสินทรัพย์และเงินลงทุน คุณควรจัดกลุ่มออกเป็นสิ่งที่มีสภาพคล่องและไม่มีสภาพคล่อง เพื่อประเมินถึงความสามารถในการแปรเปลี่ยนเป็นเงินสด ให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ โดยจะต้องอัพเดทมูลค่าของทรัพย์สินเงินลงทุนให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่ใช่ราคาต้นทุน

สำหรับค่าใช้จ่ายและการผ่อนชำระหนี้ต้อง ตรวจสอบว่าในแต่ละเดือน จะมีค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นต้องจ่ายบ้าง และค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถลดได้หากจำเป็น รวมถึงมูลค่าหนี้สินที่คงเหลืออยู่ว่ามีสถานะเท่าใด เพื่อให้ทราบถึงสุขภาพการเงินของคุณที่เป็นปัจจุบัน

3.ปรับพฤติกรรมการใช้เงิน

เมื่อตรวจสอบสถานะการเงินเรียบร้อยแล้ว คุณคงพอทราบว่าตัวเองพอมีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด รายได้ที่ยังเหลือกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและหนี้สินหรือไม่

หากมีไม่เพียงพอ หรือสามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่นาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอย่างเร่งด่วน จะปรับมากหรือน้อยขึ้นกับระดับความจำเป็น สิ่งที่ต้องลดลงก่อนเป็นอันดับแรก ได้แก่ รายจ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ ต้องลดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามสถานภาพปัจจุบัน

ต่อมาคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จ่ายให้น้อยลงสำหรับสิ่งจำเป็น เช่น ลดการทานอาหารนอกบ้านหรือมีราคาแพงให้น้อยลง สำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรลดหรือเลือกลดเป็นอันดับท้ายๆ คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สินที่ลดแล้วจะกระทบต่อเครดิตและความน่าเชื่อถือของตัว คุณ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ การค้างชำระหนี้บัตรเครดิตมากกว่าที่กำหนด เป็นต้น

4.เคลียร์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

yo2

ภาพจาก goo.gl/HNucnJ

เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ เงินสะสม (ที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุน) เงินสมทบ (ที่นายจ้างจ่ายให้) ผลประโยชน์เงินสะสม และผลประโยชน์เงินสมทบ (สิ่งที่งอกเงยจากการลงทุน)

เงินที่เป็นสิทธิของคุณในฐานะสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแน่นอนคือ เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสะสม ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์เงินสมทบ จะได้รับก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุน เช่น มีอายุงานถึงเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อคุณออกจากงานจะมีทางเลือกคือ รับเงินก้อน

โดยถือว่าเป็นการลาออกจากระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่รับเงินก้อนนี้ โดยคงเงินไว้ในระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน เพื่อรอโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองใหม่ของบริษัทนายจ้างในอนาคต

ข้อพึงระวังคือ หากคุณลาออกจากกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณอายุ คุณอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินสมทบที่จะได้รับไม่เต็มจำนวน อีกทั้ง เงินที่ได้รับจากกองทุนในส่วนของเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสะสม และเงินสมทบจะต้องถูกหักภาษี ตามเงื่อนไขเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

5.รักษาเงินก้อนที่ได้มา

yo3

ถ้าตกงาน เงินก้อนที่ได้มาอย่าเพิ่งรีบใช้ หรือนำไปลดหนี้ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการเงินก้อนนี้ ก็คือ การเอาไปลดหนี้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การจัดสรรเงินให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามปกติ เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด โดยต้องคิดออกมาให้ได้ว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ รวมค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และชำระบัตรเครดิตในแต่ละเดือนเป็นเท่าใด

จากนั้นก็ต้องกันเงินสำรองส่วนนี้ ให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรกประมาณ 6-8 เท่า เพื่อเป็นหลักประกันว่า ยามว่างงานคุณจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไปอีกอย่างน้อย 6-8 เดือน จนกว่าจะได้งานใหม่ และเมื่อกันเงินส่วนนี้แล้ว ยังมีเงินก้อนเหลือ จึงค่อยพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรดี

6.มองหางานใหม่

yo4

เมื่อว่างงานคนส่วนมากจะเร่งหางานใหม่ให้ได้เร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่า แม้ได้งานใหม่กลับทำได้ไม่นานก็ลาออกอีก เพราะยังไม่ใช่งานที่ชอบ ไม่เหมาะสมกับตัว หรือทำไปก็ไม่มีความสุข เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง น้อยคนนักที่จะได้ทำงานที่ตนเองชอบจริงๆ การจะประเมินว่า คนคนหนึ่งจะทำงานที่หนึ่งได้นานแค่ไหน ขึ้นกับเหตุผลของความพอใจใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ เนื้อหางาน รายได้ และผู้ร่วมงาน

ความพอใจในเนื้อหางาน หมายถึง ความชื่นชอบภูมิใจในงานที่ทำตำแหน่งที่ได้รับ ชั่วโมงที่ต้องทำงาน และความเชี่ยวชาญในงานที่ทำ รายได้ หมายถึง จำนวนเงินที่ได้รับ ความถี่หรือความสม่ำเสมอของรายได้ ผู้ร่วมงานหมายถึง เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง หรือบุคคลนอกบริษัทที่ต้องติดต่อประสานงานด้วย เป็นต้น หากใครมีความพึงพอใจหรือรับได้ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างน้อย 2 ใน 3 อย่าง ก็จะสามารถทำงานนั้นได้อย่างยาวนาน

7.พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

ช่วงเวลาที่ ตกงาน คือช่วงเวลาทองที่หาไม่ได้ หากคุณยังทำงานประจำอยู่ ในระหว่างหางานใหม่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ควรมีการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานทุกอย่างไปแล้ว

นอกจากนั้น ก็เป็นการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพ ด้านวิชาชีพตามความจำเป็นในสายงานที่ทำอยู่ หรือสนใจเข้าไปทำ เช่น การเข้าอบรมเพื่อให้รู้ถึงกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน รวมถึงการอบรมหลักสูตรต่างๆ และเข้าสอบใบอนุญาตต่างๆ ที่คิดว่าจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงเวลาว่างที่ไม่ควรปล่อยไปให้เปล่าประโยชน์

8.ทำงานฟรีแลนซ์

yo5

สิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนใฝ่ฝัน ก็คือ การอยากทำงานที่มีอิสระ เป็นเจ้านายตนเอง ไม่ต้องคอยเป็นลูกจ้างใคร แต่ในความเป็นจริงมีมนุษย์เงินเดือนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ “กล้า” ลาออกจากงานประจำมาทำงานอิสระเหล่านี้ ด้วยเหตุผลหลักคือ เรื่องความมั่นคงของรายได้ ที่มักไม่เท่ากับการเป็นพนักงานกินเงินเดือน

ดังนั้น ช่วงเวลาว่างงานนี้คือโอกาสอันดี สำหรับการทดลองทำในสิ่งที่ชื่นชอบ อยากทำและมีรายได้ให้ตนเอง โดยเริ่มจาก บงานฟรีแลนซ์ที่ตนเองถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญก่อน ไม่แน่ว่าคุณอาจพบหนทางสว่างในอาชีพ และไม่ต้องกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนเลยก็เป็นได้

ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้การรับงานฟรีแลนซ์ เป็นโอกาสที่น่าสน รับงานแล้วกลับมาทำที่บ้าน ก็ลดค่าใช้จ่ายลงได้ งานรับเป็นที่ปรึกษา หรือโครงการต่างๆ ก็เป็นโอกาสในการรับเงินก้อน หรืองานขายตรง ขายของออนไลน์ก็เป็นโอกาสที่ไม่เลว

ได้เห็นกันแล้วว่า 8 เรื่องที่เราจะต้องจัดการหลังจากตกงาน หรือถูกเลิกจ้างมีอะไรบ้าง เมื่อถูกเลิกจ้างแล้ว ไม่ต้องมานั่งเสียใจ ค่อยๆ คิดว่าจะอะไรก่อนเป็นอันดับแรก ต้องคิดเสมอว่าการตกงานถือเป็นการพักผ่อน เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
ตกงาน มีเงินเก็บ ซื้อเลยแฟรนไชส์ http://www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช