มีเหนื่อย! พนักงานบริษัท ปี 2020

บริษัทซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทผลิตชิ้นส่วนแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ และซ่อมแซมแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะ ประกาศเลิกจ้างพนักงานทุกคนมีผลตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2562

ขยับมาอีกหน่อยวันที่ 28 สิงหาคม 2562 บริษัท GM General Motors Thailand ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม อิสเทิร์นซีบอร์ด ระยอง ได้เลิกจ้าง พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว แบบฟ้าผ่ามากกว่า 300 คน

แม้แต่ค่ายรถยนต์ระดับโลกอย่าง Nissan ยังเคยมีแถลงการณ์เมื่อ 25 กรกฏาคม 2562 ว่าบริษัทจะลดกำลังการผลิตทั่วโลก 10% ภายในสิ้นปี 2565 และเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่ลดลง บริษัทมีแผนจะเลิกจ้างพนักงานราว 12,500 คน

www.ThaiSMEsCenter.com กำลังมองว่าข่าวที่เกี่ยวกับการ “ปลด” “เลิกจ้าง” “บริษัทปิดกิจการ” คือความเป็นจริงของการลงทุนในยุคนี้และคนที่เหนื่อยก็ไม่ใช่แค่ผู้ลงทุน “พนักงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน” ต่างก็เหนื่อยและอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน

แม้ตอนนี้เราจะเชื่อมั่นว่าบริษัทที่เราทำงานอยู่ยังไม่มีแผนในการเลิกจ้าง หรือลดจำนวนคนงาน ด้านหนึ่งถือเป็นเรื่องดีแต่ในอีกด้านหนึ่งเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้นกับเราในอนาคต

ในขณะที่เราก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานกันไป ในฝ่ายบริหารเขาก็มีการวางแผนและบริหารจัดการกันไป บริษัทที่มีโครงสร้างแข็งแรงก็อาจยืนหยัดมั่นคงอยู่ได้ แต่สำหรับบางบริษัทที่อาจมีโครงสร้างไม่ได้แข็งแรง พนักงานไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่ผู้บริหารกำลังจะทำต่อไปคืออะไรกับการรักษาผลประโยชน์ของบริษัท

ตามสิทธิของกฎหมายแรงงานโดยกระทรวงแรงงานระบุว่า
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หากนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ดังนี้

พนักงานบริษัท ปี 2020

ภาพจาก bit.ly/2lYE4tX

  1. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  2. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  3. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  4. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  5. ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

กลัวถูกเลิกจ้าง! เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำอะไร

82

ภาพจาก bit.ly/2kIUma7

เหตุผลสำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่ของพนักงานบริษัทคือถ้าถูกเลิกจ้าง “แล้วจะไปทำอะไร” คำถามคือทำไมถึงคิดอย่างนั้น อธิบายง่ายๆ เพราะพนักงานบริษัทเหล่านี้ เรียนจบมาก็ตั้งใจสมัครทำงานตามบริษัทต่างๆ พนักงาน 1 คนอาจเคยได้ทำงานกับบริษัทอื่นมาแล้วอย่างน้อย 2-3 แห่ง ก่อนที่จะมาลงหลักปักฐานกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

เมื่อตั้งใจลงหลักปักฐานก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานอัพเงินเดือนตัวเองจากเริ่มต้น จนเริ่มมีเงินเดือนสูงขึ้น ประกอบกับเริ่มมีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น เริ่มมีคนนับหน้าถือตา เริ่มมีพรรคพวกเพื่อนฝูงมากขึ้น จนความรู้สึกว่าตัวเองมีความมั่นคงกับการทำงานที่บริษัทนั้นๆ เป็นอย่างดี ยิ่งบริษัทไหนดูแลพนักงานดี สวัสดิการดี โบนัสทีละ 3-4 เดือน คนทำงานยิ่งใจรักและไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะ “ไปหางานทำที่อื่น”

ไม่นับรวมในระหว่างที่ทำงานก็วางแผนในการซื้อบ้าน ซื้อรถ สร้างครอบครัว จากเงินเดือนที่บริษัทจ่ายให้ จากโบนัสที่บริษัทจ่ายให้ ทำให้พนักงานที่ทำงานกันมานานวางแผนชีวิตตัวเองล่วงหน้า 1-2 ปีว่าต่อแต่นี้จะทำอะไรรวมถึงวางแผนไปถึงตอนเกษียณว่าจะมีเงินก้อนเท่าไหร่ จะใช้ชีวิตสุขสบายอย่างไร

จนกระทั่งฟ้าผ่าเปรี้ยง บริษัทจู่ๆเลิกจ้าง! ทุกอย่างเคว้งคว้าง เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่ออย่างไรกับแผนที่วางไว้ในอนาคต เพราะไม่เคยวางแผนรับมือกับเรื่องเหล่านี้ไว้

เหตุผลอะไรที่ทำให้บริษัท เสี่ยงปิดกิจการ พนักงานมีเหนื่อย!

81

ภาพจาก bit.ly/2kS2xkk

ถ้าไม่มองเรื่องการบริหารที่ผิดพลาด การเดินเกมส์การตลาดและการบริหารที่ก้าวไม่ทันโลกยุคใหม่การเกิดขึ้นมาของอินเทอร์เน็ตทำให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงได้เช่นกัน บริษัทต่างๆ เห็นว่า การ outsource ให้คนอื่นทำด้านการผลิตและการกระจายสินค้าเป็นเรื่องที่สะดวกและต้นทุนถูกกว่า ตัวเองหันมาจับเฉพาะงานที่มีมูลค่าสูง เช่น การออกแบบ การตลาด และบริหารตราสินค้า

บริษัทแรกที่บุกเบิกเรื่องนี้คือ ไนกี้ ที่มีพนักงานถึง 5 หมื่นกว่าคน แต่พนักงานพวกนี้ไม่ได้ทำงานด้านการผลิตสินค้ากีฬาของไนกี้เลย เพราะโอนการผลิตไปให้ซัพพลายเออร์ทั้งหมด ไนกี้เป็นตัวอย่างธุรกิจที่มักเรียกกันว่า “บริษัทเสมือนจริง” (Virtual Corporation) ต่อมาอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดังๆ ก็เอาอย่างไนกี้ รวมทั้งอุตสาหกรรมยา มีรายงานว่า ยาสามัญต่างๆ ของบริษัทยาอเมริกันที่ขายในสหรัฐฯ 40% เป็นยาที่ผลิตในอินเดีย

การเติบโตของซับพลายเออร์ที่ทำหน้าที่ผู้ผลิตสินค้าหรือการกระจายสินค้า รวมทั้งการอาศัยบริการด้านระบบไอทีผ่าน Cloud Service เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการทั้งหมด แทนที่ธุรกิจแต่ละรายจะลงทุนเองด้านระบบไอที ทำให้อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดในธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทยักษ์ใหญ่เคยครองตลาดอยู่สูญหายไป การผลิตในปริมาณมากเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าต่ำลงก็ไม่มีความได้เปรียบอีกต่อไป

80

ภาพจาก Men’s Journal

ทุกวันนี้ ใครที่มีบัตรเครดิตและเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำธุรกิจอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะตั้งบริษัท เป็นผู้ผลิต หรือผู้จำหน่าย ในสหรัฐฯ บริษัทผลิตและขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Vizio มีพนักงานแค่ 400 คน เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2002 แต่สามารถขายโทรทัศน์ได้มากพอๆ กับร้านของ Sony ที่มีพนักงาน 1 แสนกว่าคน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กลายเป็นแรงกดดันต่อการอยู่รอดของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบดั้งเดิม การจะอยู่รอดได้ การดำเนินงานของบริษัทจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเศรษฐกิจ และที่สำคัญ รายได้ต้องสูงกว่ารายจ่าย หากมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่สามารถทำได้ดีกว่าวิธีการทำธุรกิจรูปแบบเดิม บริษัทเหล่านี้คงจะสูญหายไปในที่สุด แม้แต่การประกอบการที่ไม่ได้มุ่งผลกำไร สภาพการณ์ก็เป็นแบบเดียวกันนี้

และในเมื่อเราได้เกิดมาในยุคนี้และได้ชื่อว่าเป็น “พนักงานบริษัทในโลกยุคใหม่” สิ่งที่ต้องทำคือ “เตรียมใจ” และ “เตรียมตัว” สิ่งสำคัญคือวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดในอนาคต รายได้ทางเดียวจากบริษัทไม่ใช่สิ่งดีอีกต่อไป คนยุคใหม่ควรมีอาชีพสำรอง มีรายได้ทางอื่นที่ไม่ใช่แค่รอเงินเดือนจากบริษัทเท่านั้น

ปัจจุบันมีหลายธุรกิจที่ให้เราสามารถเริ่มต้นควบคู่กับการทำงานบริษัทได้ ในเมื่อเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญทำให้ระบบนิเวศทางธุรกิจเปลี่ยนไป เราก็ลองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้มาเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้นให้กับตัวเรา หากเราไม่อยากเหนื่อยในวันที่บริษัทเลิกจ้าง ควรรีบคิดและลงมือทำไว้ล่วงหน้า แล้วคำว่าเหนื่อยก็จะใช้ไม่ได้กับเราอีกต่อไป


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2FMrZOq

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด