กลยุทธ์บริหารธุรกิจค้าปลีก ดึงดูดลูกค้า

ในอดีตโรงงานผลิตสินค้าถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างสีสันให้กับตลาดเป็นอย่างมาก มีการแข่งขันกันผลิตสินค้าป้อนให้กับร้านค้าส่ง ก่อนที่จะส่งมายังร้านค้าปลีกที่มีอยู่มากมาย

พอมาในยุคปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกเข้ามามีบทบาทในการสร้างตลาดให้มีสีสันมากขึ้น มีการแข่งขันกันมากที่สุด ต่างก็สร้างกลยุทธ์การขายที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ออกโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ออกแบบตกแต่งร้านให้สะดุดตา และสร้างประสบการณ์ชั้นยอดให้กับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจค้าปลีกในทุกวันนี้ ถือเป็นการปรับตัวของร้านค้าปลีกต่างๆ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเป็นพวกของตัวเอง ร้านค้าไหนที่สามารถดึงลูกค้าขาจรมาเป็นลูกค้าประจำได้ ย่อมได้เปรียบ ยิ่งร้านค้าปลีกไหนมีสาขาจำนวนมาก ก็จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกจะผันตัวเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะเป็นวิธีการขยายสาขาโดยไม่ต้องใช้เงินทุนตัวเอง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำผู้ประกอบการธุรกิจ ไปดูกลยุทธ์การบริหารธุรกิจค้าปลีกต่างๆ ในยุคปัจจุบัน เพื่อเพิ่มยอดขาย สร้างประสบการณ์ สร้างคุณค่าให้กับสินค้า และดึงดูดลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการ

1.ขายฟังก์ชั่นที่หลากหลาย

ดึงดูดลูกค้า

เคยสังเกตและตั้งคำถามไหมว่า ทำไมปั้มน้ำมันตามถนนหนทางต่างๆ ถึงไม่ขายเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันอย่างเดียว ทำไมต้องขายสินค้าหลายๆ อย่าง มีการเอาธุรกิจต่างๆ ไปตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ปั้มน้ำมันด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าธุรกิจปั้มน้ำมันในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง จะขายผลิตภัณฑ์น้ำมันอย่างเดียวไม่มีกำไร จำเป็นต้องปรับตัวใหม่ ใส่ธุรกิจต่างๆ เข้าไปอยู่ในปั้มน้ำมันด้วย พูดง่ายๆ คือ เขาเพิ่มฟังก์ชั่นให้มีความหลากหลาย เป็นทางเลือก ที่มากกว่าขายน้ำมันอย่างเดียว

เห็นได้ว่าแทบทุกปั้มน้ำมัน มีร้านสะดวกซื้อ ร้านขายกาแฟแบรนด์ดังมากมาย ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม คาร์แคร์ ร้านอาหารตามสั่ง รถเข็นของ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด บริหารห้องน้ำที่สวยงามและสะอาดมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นฟังก์ชั่นที่ธุรกิจค้าปลีกอย่างปั้มน้ำมัน เพิ่มเข้าไปในปั้มน้ำมัน ให้มีความหลากหลาย รองรับความต้องการของลูกค้าที่สัญจรผ่านไปมา

ธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็ใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยการขายฟังก์ชั่นที่หลากหลายเช่นกัน นอกจากจะมีโซนที่ขายสินค้าของแบรนด์ตัวเองแล้ว ยังมีพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านค้า ร้านขาย มีร้านอาหารต่างๆ ทั้งแบรนด์ไทยแบรนด์นอก สถาบันการเงิน ธนาคาร โรงหนัง โรงเรียนกวดวิชา เรียกว่าไปห้างที่เดียวทำอะไรได้หลายอย่าง

2.สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า

hu2

ธุรกิจค้าปลีกจะอยู่รอดได้ในยุคที่มีการแข่งขันกันรุนแรง ต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยเฉพาะเรื่องของการให้บริการที่ประทับใจ สร้างคุณค่าให้กับสินค้า ปรับตกแต่งร้านค้าให้สวยงาม สร้างบรรยากาศภายในร้านและนอกร้านให้เหมาะกับธุรกิจและกลุ่มลูกค้า เห็นได้ว่าธุรกิจร้านกาแฟในปัจจุบัน ได้ปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่หมด เพื่อความอยู่รอด

อย่างเช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ทุกคนต่างรู้ดีว่าราคาแพง แต่ก็เข้าไปซื้อกิน เพราะคนที่ซื้อกาแฟสตาร์บัคส์ ไม่ต้องที่จะดื่มกาแฟอย่างเดียว ต้องการอย่างอื่นด้วย เช่น การพักผ่อน พูดคุย ทำงาน เล่นอินเทอร์เน็ต ต้องการมีระดับ เดี๋ยวนี้ไม่เฉพาะสตาร์บัคส์อย่างเดียวที่มี Wi-Fi ไว้บริการลูกค้า แทบทุกร้านกาแฟที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ต่างก็ให้บริการลูกค้าแบบนี้อยู่แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับร้านกาแฟในทุกวันนี้ เพราะธุรกิจเหล่านี้ต้องการที่จะสร้างสบการณ์ที่ดี มีความคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าจ่ายไปให้มากที่สุด ลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการต่างอยากได้ประสบการณ์ที่ประทับใจ กลับมาแล้วสามารถบอกเล่าต่อสู่กลุ่มเพื่อนๆ ได้ มีการแชร์ภาพถ่ายขณะอยู่ในร้านกาแฟ เพื่อนกดไลค์ กดแชร์ ตรงนี้จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเอง เท่ห์ มีระดับ เหนือคนอื่น

แม้แต่ร้านอาหารแบรนด์ดังต่างๆ นอกจากจะบริการอาหารให้กับลูกค้าแล้ว ยังพยายามสร้างบรรยากาศภายในร้าน มีการตกแต่งร้านสวยงาม มีเอกลักษณ์ ลูกค้าเข้าไปอยากถ่ายภาพตัวเองเก็บเอาไว้

อย่างร้านไอศกรีมสเวนเซ่นส์ มีมุมถ่ายภาพสำหรับลูกค้า ภายในร้านออกแบบตกแต่งสวยงาม เหมือนที่ทำงาน นั่งคุยกัน ไม่เหมือนร้านไอศกรีมทั่วไป อีกร้านคือ ร้าน MK สุกี้ ก็พยามสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ด้วยการให้พนักงานเต้น เพื่อสร้างสร้างสีสันภายในร้าน และช่วยผ่อนคลายให้กับลูกค้า

ประสบการณ์ที่ดีจะเกิดขึ้นกับลูกค้าได้ สินค้า การบริการ บรรยากาศ ทำเลที่ตั้งของร้าน สิ่งอำนวยความสะดวก ต้องดีด้วย ถึงจะเกิดการบอกปากต่อปาก ถ้าร้านไหนสินค้าไม่ดี ด้อยคุณภาพ แถมบริการแย่ จะกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวในทันที

3.ขายความสะดวกสบาย

hu3

ธุรกิจค้าปลีกเป็นการขายสินค้า เป็นงานให้บริการแก่ลูกค้า ลูกค้าต้องการสินค้าแบบไหน ก็ต้องจัดหามาให้ได้ ไม่เช่นนั้นขายของไม่ได้ ลูกค้าหนีไปหาร้านค้าคู่แข่งหมด ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เป็นตัวอย่างที่ทำให้คุณเห็นภาพได้ชัดเจน ในเรื่องของการขายความสะดวกสบายแก่ลูกค้า เขาได้ทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้ามายาวนาน จนรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร

แต่ก่อนแรกๆ 7-11 ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง แต่ตอนหลังปรับมาเปิดขาย 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ทุกเพศ ทุกวัย ลูกค้าหิวเมื่อไหร่ ก็แวะเข้าร้าน 7-11 ได้ทันที ยิ่งปัจจุบันสินค้าในร้าน 7-11 มีเลือกมากมาย จนหลายคนต้องบอกว่า ถ้าอยากได้อะไร ให้เข้าไปหาใน 7-11 ตอบสนองได้ทุกความต้องการ

กลยุทธ์บริหารธุรกิจของ 7-11 ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ นอกจากขายความสะดวกสบาย ตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้าแล้ว ยังขายฟังก์ชั่นที่หลากหลาย สินค้าอุปโภค-บริโภคมีให้เลือกซื้อได้หมดภายในร้าน

อีกทั้งยังเพิ่มบริการรับส่งไปรษณีย์ ทำประกันภัย ต่อพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ รับชำระค่าไฟ ค่าน้ำ เติมเงินในโทรศัพท์ เรียกได้ว่าเกือบทุกธุรกรรมทางเงิน สามารถทำได้หมดในร้าน 7-11 สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ที่ลูกค้าเข้าไปใช้บริการ เกิดความประทับใจ กลับมาใช้บริการซ้ำอีก

ธุรกิจที่ให้บริการลูกค้าแบบ เดลิเวอรี่ ก็ขายความสะดวกสบาย ตอบสนองลูกค้าที่ไม่อยากเดินทาง อยากอยู่กับบ้าน เช่น กลุ่มร้านพิซซ่า เทสโก้โลตัส รวมถึงร้านอาหารตามสั่งต่างๆ ได้เริ่มให้บริการลูกค้าส่งถึงบ้านกันแล้ว

เห็นแล้วว่ากลยุทธ์บริหารร้านค้าปลีก ดึงดูดลูกค้าให้เข้าใช้บริการ มีหลากหลายวิธี แต่เหนือสิ่งอื่นใด สินค้าในร้านของคุณต้องมีคุณภาพมาตรฐาน ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ แล้วค่อยเพิ่มเทคนิคทำให้ลูกค้าติดหนึบ ไม่ว่าจะเป็นมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย มอบประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจ เพิ่มความสะดวกสบายแก่ลูกค้า

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช