คิด GP Food Delivery แบบไหนถูกต้อง พ่อค้าแม่ขายต้องรู้!

กระแส Food Delivery แม้ตอนนี้ตัวเลขจะลดลงบ้างแต่ก็ยังถือว่าติดลมบนและเป็นอีกรูปแบบการขายที่คนทำธุรกิจยุคนี้ต้องนำมาใช้ ประเมินว่าตลาด Food Delivery ในปี 2567 จะมีมูลค่าประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท หรือหดตัว 1.0% จากปี 2566 แม้ว่าค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารเฉลี่ยต่อครั้งน่าจะปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 2.8% หรือมีราคาเฉลี่ยประมาณ 185 บาทต่อครั้งของการสั่ง

ต้นทุนในการเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่ผู้ประกอบการต่างรู้ดีคือ “Gross Profit” (GP) ที่แตกต่างกันไปตามแต่ละค่าย แต่มันก็ไม่ใช่แค่นั้นเพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องตั้งราคาโดยคำนึงถึง “วัตถุดิบที่แพงขึ้นด้วย” โดยในปี 2567 คาดว่าราคาอาหารเฉลี่ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2% คำถามคือเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ การคิดค่า GP Food Delivery แบบไหนจึงจะถูกต้อง ชนิดที่ตั้งราคาขายแล้วไม่ขาดทุนจนต้องเข้าเนื้อตัวเอง

คิด GP Food Delivery

ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าค่า GP ของแต่ละค่ายเดลิเวอรี่ตอนนี้เป็นเท่าไหร่กันบ้าง?

  1. Grab ค่า GP 30% (ไม่รวม VAT 7%)
  2. Foodpanda ค่า GP 32% (ไม่รวม VAT 7%)
  3. LINE MAN ค่า GP 30% (ไม่รวม VAT 7%)
  4. Robinhood ไม่หักค่า GP แต่สามารถเลือกเป็นพาร์ทเนอร์แนะนำ เก็บเงินค่าขนส่ง Logistic Subsidy 8%
  5. Shopee Food ค่า GP 30% (ไม่รวม VAT 7%)

** เป็นการยกตัวอย่างจากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้บริการ**

สังเกตว่าค่า GP ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 30-32% ไม่รวม VAT 7% ซึ่งการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ของแอปฯ จะคำนวณจาก รายได้ที่รับจากรายการสั่งอาหารนั้น ๆ ไปเรียบร้อยแล้ว เช่น

  • รายการอาหารที่สั่ง 100 บาท หัก ค่า GP 30% = แอปฯ มีรายได้ 30 บาท
  • รายได้ 30 บาท จะหักอีก 7% = 2.1 บาท
  • หมายความว่าทางร้านอาหารจะมีต้นทุนใช้บริการจากรายการดังกล่าวอยู่ที่ 32.1 บาท

เมื่อรู้ว่าต้นทุนที่ควรคิดเพิ่มคือ 32.1 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอาตัวเลข 32.1 นี้ไปบวกกับราคาอาหารในทันทีเพราะหากเป็นเช่นนั้นราคาจะโดดสูงไปมาก แทนที่จะได้ลูกค้าเพิ่ม ใครเห็นราคาอาจจะตกใจจนเราขายไม่ออกกันเลยทีเดียว

ลองมาดูสูตรคำนวณที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ได้จริงในการตั้งราคาสำหรับเดลิเวอรี่

คิด GP Food Delivery

สูตรมารตฐานคำนวณตั้งราคาขายเดลิเวอรี่

  • ราคาหน้าร้าน ÷ [100 – (ค่าGP + VAT 7%)] x 100 = ราคาขายในเดลิเวอรี่
  • เช่น ราคาหน้าร้านตั้งไว้ 40 บาท
    • ราคาขายในเดลิเวอรี่ = 40 ÷ (100 – 32.1%) x 100
    • = 40 ÷ (67.9 x 100)
    • = 58.9

แต่เชื่อเถอะว่าสูตรนี้ไม่ถูกใจพ่อค้าแม่ค้าแน่ๆ ก็ด้วยความที่มันดูยุ่งยากและใช่ว่าทุกคนจะเก่งเรื่องคณิตศาสตร์เหมือนกันทั้งหมด ก็มีอีกแบบที่น่าจะใช้ได้ดีกว่าคือ ใช้เครื่องคิดเลข เป็นตัวช่วยในการคำนวณ

คิด GP Food Delivery

การคำนวณตั้งราคาขายเดลิเวอรี่ (แบบใช้เครื่องคิดเลข)

ยกตัวอย่างเช่น

  • ยอดสั่งออร์เดอร์เข้ามา 140 บาท
  • ถ้าหัก GP 30% จะเสีย GP = 140 x 30% เท่ากับ 42 บาท
  • และหักอีก 7% จากจำนวนยอดที่หักก็คือ 42 บาท เท่ากับเสียภาษี 42 x 7% = 2.94
  • ทีนี้ก็เอา ค่าGP 30% + vat 7% = 42 + 2.94 = 44.94
  • เท่ากับว่ายอดที่จะโดนหักจากราคาขายคือ 44.94 บาท
  • เท่ากับว่าร้านจะได้เงินจากยอดนี้เท่ากับ 140-44.94 = 95.06

ซึ่งถ้ารู้ต้นทุนค่า GP รวมที่ต้องจ่ายก็จะทำให้ตั้งราคาขายได้แบบไม่ขาดทุน

แต่หลายคนก็บอกว่าใช้เครื่องคิดเลขมาช่วยมันก็ยังดูยากไปอยู่ดี เอาแบบที่เป็นสูตรสำเร็จไม่ต้องคิดมาก เอาไปใช้ได้เลยแบบนี้มีไหม? คำตอบคือ “มี” ซึ่งได้ผู้มีประสบการณ์คำนวณออกมาเป็น “ตัวคูณ” ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย

  1. Grab ราคาหน้าร้าน x 1.48
  2. Foodpanda ราคาหน้าร้าน x 1.5
  3. LINE MAN ราคาหน้าร้าน x 1.48
  4. Robinhood ราคาหน้าร้าน x 1.2
  5. Shopee Food ราคาหน้าร้าน x 1.7
ยกตัวอย่างเช่น ร้านชานมไข่มุกแห่งหนึ่งใช้บริการแอพเดลิเวอรี่ของ Grab
  • ราคาเมนูที่ลูกค้าต้องการคือ 40 บาท
  • ราคาขายแบบเดลิเวอรี่ คือ 40 x 1.48 = 59.2 (ปัดขึ้นเป็น 60)
  • เท่ากับว่าควรขายในราคา 60 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมและไม่ขาดทุน

ทั้งนี้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ในยุคนี้มีการปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์มากขึ้นเช่นบางแพลตฟอร์มได้ทำตลาดร่วมกับร้านอาหารที่ได้รับความนิยมหรือมีการสั่งซื้อที่สูง และมีการจัดแคมเปญส่วนลดค่าอาหารเมื่อซื้อครบตามที่กำหนด รวมถึงมีการใช้กลยุทธ์แบบ Subscription Model ซึ่งช่วยให้ผู้สั่งได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง รวมถึงมีส่วนลด หรือไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการอื่นในแอปพลิเคชั่น

ดังนั้นก่อนจะเข้าร่วมแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ใดๆ ก็ตามจึงควรศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน และต้องไม่ลืมเรื่องการคำนวณต้นทุนที่แท้จริงในแต่ละเมนู เพื่อให้นำตัวเลขที่แท้จริงมาใช้คำนวณในการตั้งราคาขายเดลิเวอรี่ได้อย่างถูกต้อง

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

อ้างอิงจาก คลิกที่นี่

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด