ความท้าทาย “อุตสาหกรรมอาหารไทย” ราคาขึ้น ในวิกฤต “โควิด – สงครามรัสเซีย ยูเครน”

ในปี 2564 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารไปทั่วโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นแป้งมันสำปะหลัง, กุ้ง, ผลิตภัณฑ์มะพร้าว, เครื่องปรุงรส, น้ำตาล, อาหารพร้อมรับประทาน, สับปะรด และผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก และคาดว่าในปี 2565 แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4%

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่ายังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกสินค้าอาหารไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ เงินเฟ้อ ราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน และค่าขนส่ง ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมอาหารไทย

หากเจาะลึกถึงตัวเลขการส่งออกสินค้าอาหารของไทย จะพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกอาหารไทยโดยรวมอย่างมาก โดยในแต่ละปีไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารสำเร็จรูปมากกว่า 200,000 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมถึงแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการอาหาร ท่ามกลางการระบาดโควิดสายพันธุ์โอไมครอน และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นอย่างไร

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลจากการสัมภาษณ์ “คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปมานำเสนอให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวไทยได้รับทราบ

สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป

22

คุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปไทยในปี 2565 ว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ได้ส่งผลให้สินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมถึงซอสปรุงรส กลายเป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตได้ดีในช่วงกักตัวอยู่ที่บ้าน เพราะทุกคนพยายามเก็บกักตุนอาหารและทำกินเองที่บ้าน

ในภาวะปกติการบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณปีละ 2 ล้านล้านบาท มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ทำให้สินค้าอาหารในกลุ่มที่จำหน่ายในร้านอาหาร โรงแรม หรือสินค้าของฝากลดลงไปด้วย ทางออกของผู้ประกอบการคือ ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น รวมถึงปรับรูปแบบการขายส่งตรงถึงผู้บริโภคได้ง่าย ทั้งออนไลน์ เดลิเวอรี่ เป็นต้น

สำหรับปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปช่วงการระบาดโควิด-19 คือ ราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบขาดแคลน ต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากมีการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน หยุดงาน 14 วัน โรงงานขาดทุนไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ การแก้ปัญหาของเอกชน คือ ให้พนักงานพักรักษาตัวในโรงงานป้องกันการแพร่เชื้อ

การปรับตัวและโอกาสของผู้ประกอบการ

21

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารเน้นการผลิตจำนวนมากทำให้เกิดการแข่งขันกันสูง ผู้ประกอบการควรหันมาผลิตสินค้าพร้อมทานที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างความแตกต่างให้กับตลาด และสามารถสร้างมูลค่าได้สูง เพราะยังไม่มีการแข่งขันกันรุนแรงมากนัก ผู้ประกอบการ SME สามารถเริ่มต้นได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ๆ

ขณะเดียวกัน ต้องปรับปรุงเรื่องบรรจุภัณฑ์เปลี่ยนไปตามรูปแบบของวิธีใช้งาน และพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงขนาดของครอบครัว เพราะปัจจุบันคนที่อยู่บ้านอาจมีแค่คนเดียวหรือสองคนเท่านั้น และปัจจุบันพลาสติกก็เข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นด้วย แต่กระป๋องก็ยังคงใช้อยู่ เพียงแต่ค่อนข้างจำกัดชนิดของสินค้า และส่วนใหญ่ก็นำไปใช้ในการส่งออกมากกว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋องนี้มีข้อดีของตัวเองคือเรื่องของการเก็บรักษา ซึ่งมีระยะเวลาที่ยาวนาน การขนส่งที่ปลอดภัย รวมถึงกันกระแทกได้ดีกว่า

เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป

20

พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ดังนั้น การผลิตอาหารต้องมีสัญลักษณ์ให้เห็นว่ามีคุณภาพด้านสุขภาพ และผ่านการแปรรูปไม่มาก ถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าสินค้านี้คืออาหารแปรรูป แต่ต้องแปรรูปน้อย ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคในเวลานี้คือยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้สุขภาพดีมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น

ขณะเดียวกันผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาหารต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตมาจากฟาร์มไหน กระบวนการผลิตทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทำลายทรัพยากรมากน้อยแค่ไหน ใช้วัตถุดิบได้คุ้มค่าหรือไม่ สุดท้ายคือการผลิตสินค้าในปริมาณรับประทานได้ครั้งเดียวเพื่อลดการสูญเสียวัตถุดิบ

ความท้าทายอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูป

19

คุณวิศิษฐ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปไทยจากปัจจัยต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูป นับตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ราคาเหล็กแผ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระป๋องได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตกระป๋องปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยถึง 30% กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสำเร็จรูปจำเป็นต้องขอปรับขึ้นราคาสินค้าประมาณ 5-15% เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงและภาวะขาดทุนในระยะยาวได้ หากไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้อาจทำให้สินค้าขาดตลาดเนื่องจากโรงงานอาจหยุดการผลิต

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปได้พยายามแก้ปัญหาและหาทางออก เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ปรับตังสูง เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ปรับตลาดเป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียมเพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น หรือปรับลดขนาดสินค้าลงเพื่อไม่ต้องปรับราคาขึ้น หากรัฐบาลยังต้องการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปตรึงราคาสินค้า จะต้องควบคุมราคาต้นทางไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนในด้านปุ๋ยเคมี ค่าขนส่ง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า

กรณีปุ๋ยเคมีราคาจะสูงและอาจขาดแคลน นับเป็นต้นทุนสำคัญของการทำเกษตรกรรมในประเทศ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตามล่าสุดเริ่มมีการมองหาการนำเข้าจากแหล่งอื่นทดแทน เช่น ซาอุดิอาระเบีย

18

สำหรับราคาอาหารในภาพรวมนั้น ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถควบคุมได้ระดับหนึ่งเพราะเป็นสต็อกเก่า แต่เมื่อต้นทุนใหม่ที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ค่าขนส่ง แม้กระทั่งบรรจุภัณฑ์ต่างๆ อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องมีการปรับขึ้น แต่จะมากหรือน้อยก็อยู่ที่ศักยภาพการผลิตแต่ละราย และภาวะตลาดหรือกำลังซื้อของสินค้านั้นๆ แต่ภาครัฐจะมีการพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นเป็นรายบริษัทไปก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้ชี้แจงให้เห็นถึงตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง

คุณวิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมอาหารไทยยังเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้ไทยจะยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบการขนส่งสินค้าในท่าเรือ โดยเฉพาะการคุมเข้มเรื่องโควิดของจีนที่ประกาศใช้มาตรการ Zero COVID กำหนดให้ตรวจ PCR 100% จะมีผลในช่วงฤดูผลไม้จะมาถึง


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3D8Ot9N

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช