การสร้าง ความคิดธุรกิจ SMEs

The first Sentence in business concepts “We are in the business is providing (specific goods or service) to a (specific group of customer or clients)”


เมื่อเริ่มธุรกิจสิ่งแรกที่จะต้องบอกให้ได้ก็คือ เราต้องรู้ว่าธุรกิจของเราขายอะไร หรือนำเสนออะไรให้ลูกค้า เรากำลังจะมอบอะไรให้กับธุรกิจ นอกจากนี้ยังต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือกลุ่มใดอีกด้วย

แฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น
แฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่น

ความคิดธุรกิจ เป็นแนวทางการกำหนดความเป็นไปของการดำเนินการที่ควรจะต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเสียก่อน เช่น ความคิดของร้านสะดวกซื้อแบบ Seven-Eleven ที่เริ่มต้นด้วยแนวคิดง่ายๆที่ร้านจำหน่ายน้ำเข็งเล็กๆแห่งหนึ่งที่มีเจ้าของร้านชื่อ คุณลุงจอห์น เห็นว่าในวันหยุดไปโบสถ์ ร้านค้าปิดร้านเป็นส่วนใหญ่ ชาวบ้านโดยเฉพาะเด็กๆไม่มีอะไรรับประทานหรือหายากต้องมีการเตรียมการยุ่งยาก และด้วยความคิดนี้จึงปรับร้านเดิมที่เป็นร้าน ขายเฉพาะน้ำแข็งเท่านั้น จึงเริ่มนำขนมปัง ไข่ เนย นม มาวางขายเพิ่มเพื่อสร้างความสะดวกให้กับลูกค้า

และธุรกิจก็เติบโตมาได้ด้วยแนวคิด Business Concept ที่จับช่องว่างกับความสะดวกนี่แหละ หรือจะมองแนวคิดของนาฬิกา Rolex ขายความแพง ความหรูหรา ความรวย คนที่ซื้อยอมเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อนาฬิกา Rolex ก็เพราะต้องการใช้เป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของตน และแนวคิดที่จะสร้างนาฬิกาที่ไม่ได้บอกเวลาแต่บ่งบอกถึงความสำเร็จของผู้สวมใส่

จากธุรกิจนาฬิกากลายเป็นธุรกิจแห่งความสำเร็จ แนวคิดทางธุรกิจแบบนี้จะเป็นรากฐานในการดำเนินการในธุรกิจ ทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าจะได้อะไรทั้งทางตรงทางอ้อมจากสินค้านั้นๆ ทำให้ธุรกิจเข้าใจตนเองว่าจะเดินไปอย่างไร อะไรคือจุดเข็งของตนเอง รู้ตำแหน่งของสินค้า

ถ้าหากว่าจะต้องมาวางว่าธุรกิจของเราในลักษณธุรกิจค้าปลีกที่ถึงตัวผู้บริโภคโดยตรงจะมีอะไรเป็นแนวคิดทางธุรกิจที่เป็นจุดยืน ก็อาจจะมองหลักการ 3 แบบดังนี้ คือ การจัดกลุ่มที่เน้นความสะดวก เน้นความสำคัญของสินค้า และเน้นแนวทางการปฏิบัติให้บริการลูกค้า

1. คุณค่าด้านความสะดวก (Convenience Value)

คือ การให้บริการที่เน้นความสะดวกให้กับลูกค้าเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น McDonald เน้นการบริการที่รวดเร็ว หรือ Seven-Eleven มีแนวคิดเบื้องต้นจากแนว concept คือ เป็นร้านเสมือนหนึ่งเป็น “ ตู้เย็นของคนจน” เมื่อบอกแนวคิดก็จะเห็นกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจได้อย่างดี รวมถึงเห็นแนวทางการให้บริการ รูปแบบของสินค้าได้ชัดเจน

แนวความคิดเหล่านั้นจะบอกถึงวิธีการบริหารรูปแบบร้านของแต่ละธุรกิจ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การวางรูปแบบสินค้า แม้กระทั่งระบบการปฏิบัติงาน ร้านสะดวกซื้อดังกล่าวจึงเน้น กลุ่มลูกค้าระดับล่าง ระดับกลาง สินค้าที่จำหน่ายก็เป็นขนาดเล็ก ราคาไม่แพง ร้านเปิดตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องมีที่จอดรถเน้นลูกค้าที่เดินมาซื้อสินค้า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของทำเล Location ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของความสะดวก เช่น ร้านอาหาร Fast Food จะต้องวางตำแหน่งให้ร้านของตนเป็นร้านที่สะดวกซื้อและรวดเร็วจริงๆ

2. คุณค่าด้านผลิตภัณฑ์ (Product Value)

คือ การสร้างความแตกต่าง(Diffenciate) ให้กับสินค้าและบริการ สำหรับธุรกิจอาหารเรื่องความแตกต่างของผลิตภัณฑ์คงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นธุรกิจอาหารจะต้องสร้างความแตกต่าง คือ “Something to talk” คือ บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้สิ่งนั้นมีเรื่องราว ประวัติที่น่าสนใจ การสร้างจุดเด่นที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการซื้อสินค้าของลูกค้าขึ้นมา

ตัวอย่างเช่น ร้านซาลาเปา หมันโถวร้านหนึ่ง ที่จะสร้างความแตกต่างของการสร้างเรื่องราวที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของสินค้าตัวเอง การสร้างเรื่องโดย มีป้ายติดหน้าร้านเล่าประวัติ ว่า “หมันโถว เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัย 3 ก๊ก นับเนื่องจากขงเบ้งยกทับไปรบกับเบ้งเฮ็ก (คนไทยดั้งเดิม)”

การเล่าเรื่องที่มีลีลาน่าสนใจจับเอาประเด็นให้เห็นความเชี่ยวชาญเอาใจใส่ของร้านที่นำสินค้าที่เป็นหมั่นโถมาเป็นสินค้าหลัก และการเล่าเรื่องก็มีประวัติบรรยายที่มาของหมันโถวว่า “เมื่อสมัยขงเบ้งยกทับไปรบกับเบ้งเฮ๊ก เมื่อรบชนะกำลังจะยกทัพกลับข้ามแม่น้ำสาละวินก็เกิดพายุใหญ่ ที่เกิดจากอิทธฤทธิ์ของชนชาวม่าน

เนื่องจากขงเบ้งฆ่าชาวม่านจากสงครามไว้มาก มีการลองใจขงเบ้งขึ้นว่าจะนับชาวม่านเป็นประชาชนของตนจริงหรือไม่จึงมีการแสร้งทำนายว่าจะต้องแก้เคล็ดด้วยการตัดหัวชาวม่าน 49 หัวมาเซ่นสังเวย ด้วยความเมตตาและความฉลาดของขงเบ้งจึงแก้ไขด้วยการนำแป้งมาปั้นเป็นก้อนแทนหัวคน แล้วจึงเซ่นสังเวย

นี่เป็นที่มาของคำว่า ม่านโถว ที่แปลว่า หัวชาวม่าน และมาเรียกกันว่า หมันโถว นั่นเอง เรื่องราวแบบนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ที่เข้ามาในร้านได้อ่านและสร้างความสนใจในตัวสินค้าได้อย่างรวดเร็ว เรื่องราวที่บอกกล่าวเล่าความเป็นมา เล่าแนวความคิดของร้าน พูดถึงคุณภาพที่จับต้องได้ของสินค้าที่นำเสนอ เรื่องราวเหล่านี้สร้างภาพในการรับบริการจากผู้บริโภคที่เริ่มเน้นการบริโภคที่ต้องแฝงด้วยแนวคิดหรือ ได้รับประสบการณ์ไปด้วย

รับขนมจีบ หรือ ซาลาเปา เพิ่มมั้ยค่ะ คือความแตกต่างที่ 7-11 มีจากแบรนด์ค้าปลีกอื่นๆ
รับขนมจีบ หรือ ซาลาเปา เพิ่มมั้ยค่ะ คือความแตกต่างที่ 7-11 มีจากแบรนด์ค้าปลีกอื่นๆ

3. คุณค่าด้านการปฏิบัติ (Business – Behavior Value)

เป็นส่วนเสริมที่จะทำให้องค์ประกอบคุณค่าด้านอื่นๆ สมบูรณ์ โดยเป็นด้านการควบคุมบุคลากร การฝึกอบรมพนักงาน เช่น ร้าน Seven-Eleven พนักงานจะถูกฝึกว่าเมื่อมีลูกค้าเข้ามาในร้านต้องกล่าวคำว่า “ สวัสดีคะ/ครับ” หรือเมื่อลูกค้าออกจากร้านก็กล่าวคำว่า “ขอบคุณค่ะ/ครับ” รูปแบบของการปฏิบัติที่จะให้กับลูกค้า คือ สิ่งที่หมายถึงในหัวข้อนี้ รวมถึงวิธีการให้บริการกับลูกค้าด้วย

ตัวอย่าง พนักงานขายที่ประสบความสำเร็จในการขาย เธอมีชื่อว่า “วิกตอเรีย” เป็นพนักงานขายของร้าน PRADA เธอสามารถทำยอดขายได้มากถึงปีละ 1 ล้านเหรียญ พนักงานขายแต่ละคนจะบันทึกประวัติของลูกค้าไว้ ตั้งแต่วันเกิด หรือข้อมูลเล็กน้อย เช่น ชอบสีอะไรเป็นพิเศษ ซื้อสินค้าอะไรในครั้งล่าสุด การที่สามารถรู้รายละเอียดสำคัญของลูกค้าก็เพื่อเป็นแสดงว่าเราให้ความใส่ใจกับลูกค้า เป็นการสร้างให้เกิดบรรยากาศที่ดีด้วยวิธีการทักทายที่เหมาะสมและสร้างความเป็นกันเองเหมาะสมกับธุรกิจนั้นๆ และเกิดความแตกต่างในการให้บริการที่ดีกว่าสำหรับธุรกิจ

การทำงานของวิคตอเรีย มีการติดตามให้ข่าวสาร การเยี่ยมเยียน จดจำวันสำคัญของลูกค้าไว้อย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นการที่จะมียอดขายขนาดนั้นก็ต้องทำงานหนักเหมือนกัน รูปแบบการปฏิบัติอาจจะมองง่ายๆ เช่น ร้านที่เป็นร้านญี่ปุ่นก็ต้องมีการบริการทักทาย แบบญี่ปุ่นกัน ถ้าแบบจีน หรือไทยก็ต้องสร้างบรรยากาศให้เกิดด้วย นี้คือ คุณค่าในการปฏิบัติอย่างง่ายที่เห็นได้ รูปแบบการทำงานของพนักงานจะสร้างความประทับใจ และทำให้แสดงถึงแนวคิดธุรกิจของร้านได้อย่างดี

การสร้างความแตกต่างด้วยแนวคิดด้านนี้จะต้องมีการศึกษา และปรับปรุงอยู่เสมอ และอย่าสร้างวิธีการให้เป็นเพียงกระแสแฟชั่น เพราะการสร้างวิธีการการปฏิบัติใดขึ้นมา ลูกค้าจะจดจำเป็นมาตรฐานที่จะคาดหวังว่าจะได้รับ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงลดน้อยลงทำให้ผิดการคาดหวังถือว่าเป็น การลดคุณภาพไป

การทำความเข้าใจถึงการนำเสนอสิ่งใดของธุรกิจนั้นก็ คือ บทเรียนบทแรกที่ธุรกิจทุกธุรกิจต้องเข้าใจและสอบผ่านให้ได้เสียก่อน การทำธุรกิจการค้าโดยไม่เข้าใจว่าเรากำลังเสนออะไรให้กับลูกค้านั้นไม่ได้เสี่ยงเฉพาะเจ้าของกิจการเท่านั้น แต่คนกินคนใช้ก็เสี่ยงด้วย เพราะเมื่อใดต้องมาใช้สินค้าหรือบริการแล้วก็ยับงงไม่แน่ใจตัวเองซักที ว่าสิ่งที่ตัวเองคิด ตัวเองอยากได้นั้นจะได้จากร้านค้าที่ทำการค้าอยู่หรือเปล่า ผู้ซื้อก็วิ่งไล่จับสิ่งที่ตัวเองต้องการ ผู้ขายก็ไล่จับสิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่หากันไม่เจอเสียที

อย่างนั้นวันนี้ไม่ว่าธุรกิจเก่าหรือใหม่ก็ตามคงต้องมองตัวเองซักทีว่า วันนี้เราขายอะไรกันแน่ แล้วหาทางตอบให้ได้ชัดเจนสมกับเป็นนักค้านักขายในยุคสมัยใหม่กันเสียที อย่ารอให้คนอื่นมาสะกิดแขนก่อนเลยครับ อายเขา…แย่

 

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก internet

บทความโดย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด

Email : peerapong@consultant.com