กลยุทธ์ 3 ประการเพื่อเปลี่ยนพ่อค้าให้กลายเป็นเศรษฐี

เราเชื่อว่าหลักการหรือทฤษฏีทางการตลาดแม้เป็นเพียงแนวทางทฤษฏีแต่ก็มีนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จจำนวนมากที่เลือกเอา กลยุทธ์ ต่างๆเหล่านี้มาใช้ในการทำธุรกิจอย่างได้ผล

บางคนเริ่มต้นจากศูนย์แต่ด้วยความรู้ที่มีและความพยายามที่จะเรียนรู้มีการปรับใช้ทฤษฏีเข้ากับสถานการณ์ผลที่ได้รับคือการพลิกชีวิตจากพ่อค้าธรรมดาก็กลายเป็นเศรษฐีได้อย่างสบายๆ

www.ThaiSMEsCenter.com ต้องการให้ผู้ลงทุนทุกคนเข้าใจในความมสำคัญของทฤษฏีเชิงการตลาดจึงยกเอาเรื่องราวของพ่อค้าจากโอมิซึ่งเป็นเขตหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดชิกะของประเทศญี่ปุ่น พ่อค้าจากเมืองโอมิถือเป็นต้นแบบความสำเร็จมากมายของธุรกิจในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าได้มารู , ห้างสรรพสินค้า Takashimaya ,ชุดชั้นใน Wacoal , รถยนต์ Toyota หรือแม้แต่รถยนต์เพื่อการเกษตรอย่าง Yanmar จุดกำเนิดของกิจการเหล่านี้เติบโตมาจากพ่อค้าในเมืองโอมิทั้งนั้น

hy1

ภาพจาก goo.gl/pm9rrj

การเริ่มต้นกิจการของพ่อค้าจากเมืองโอมิเหล่านี้ใช้ทฤษฏีของการซื้อมาขายไปในเบื้องต้น แล้วค่อยๆ ขยายกิจการไปเรื่อยๆ จนเริ่มเข้าสู่การสร้างบริษัทและผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หากจะพิจารณาเรื่องนี้พบว่าบริษัทในญี่ปุ่นที่มีอายุยาวนานพบว่าเกินครึ่งเป็นบริษัทที่พ่อค้าจากเมืองโอมิเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นทั้งนั้น

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่าเหตุใดธุรกิจการค้าของพ่อค้าจากเมืองโอมินี้ถึงได้มั่นคงและทรงประสิทธิภาพ ซึ่งก็พอสรุปสิ่งที่เรียกว่าทฤษฏีแห่งความสำเร็จที่เปลี่ยนพ่อค้าให้กลายเป็นเศรษฐีนั้นมีกลยุทธ์แค่ 3 ประการแต่เป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุด

1.แนวทาง 3 ได้

hy2

ภาพจาก goo.gl/NuJl2N

กลยุทธ์นี้แบ่งได้เป็น 3 แนวทางใหญ่ๆที่สำคัญคือ คนขายได้ คนซื้อได้ และสังคมได้ คำกล่าวหนึ่งในแนวทางนี้คือ“อย่าเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ขายอย่างเดียว ต้องหาทางให้ผู้ซื้อและสังคมได้ประโยชน์ด้วย” ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Nishikawa Sangyo ในอดีต เป็นกลุ่มพ่อค้าที่เดินทางขายมุ้งไปทั่วประเทศญี่ปุ่น

จากนั้นเริ่มตั้งร้านค้าและโรงงานผลิตมุ้งของตนเอง จนเมื่อความต้องการมุ้งเริ่มลดลงบริษัทจึงหันมาผลิตและพัฒนาที่นอน จนปัจจุบันทำที่นอนคุณภาพดีเพื่อสุขภาพ และมีร้านให้คำปรึกษาด้านการนอนโดยเฉพาะ

หรือแม้แต่ Idemitsu Sazo ผู้ก่อตั้งบริษัท Idemitsu (บริษัทน้ำมันระดับโลก) มุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจจำหน่ายน้ำมัน Hita Jutaro นักลงทุนรายใหญ่ของญี่ปุ่นเห็นแววความตั้งใจของ Idemitsu ตั้งแต่ตอนที่ Idemitsu ยังเป็นเพียงแค่ครูสอนพิเศษลูกชายของตนเอง Hita จึงให้เงินสดมูลค่าเกือบ 20 ล้านบาทแก่ Idemitsu เพื่อนำไปลงทุน โดยเขากล่าวว่า “ผมไม่ได้สนใจในกิจการคุณ จงทำตามสิ่งที่คุณปรารถนา และไม่ต้องคืนเงินผม ขออย่างเดียว อย่าบอกเรื่องนี้กับใคร”

เพราะพื้นฐานพ่อค้าจากเมืองโอมินั้นมักจะบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือสังคมในลักษณะปิดทองหลังพระเพราะเขาเหล่านี้มีแนวคิดว่าการเสียสละ คิดถึงสังคมและคิดถึงคนอื่นจะทำให้ไม่หลงมัวเมาไปกับรายได้และไม่ทำให้เชื่อมั่นในตัวเองจนเกินไปจนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดทางธุรกิจ

2. กำไรน้อย ขายมาก

hy3

ภาพจาก goo.gl/TXVNsX

คำกล่าวในกลยุทธ์นี้คือ “จงขายสินค้าในราคาที่ไม่สูงเกินไป ราคาที่ดี คือ ราคาที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า สินค้าดีขนาดนี้ ทำไมราคาถึงไม่แพงเลย” สิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้วางใจและสร้างความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่ยอดขายที่สูงขึ้นในระยะยาวทั้งนี้รวมถึงการไม่โก่งราคา ไม่กักตุนสินค้าอันเป็นการทำกำไรระยะสั้นแต่ทำลายความเชื่อมั่นของลูกค้าในระยะยาวได้

ยกตัวอย่างเช่น Ryugetsu ร้านขนมชื่อดังเก่าแก่ในฮอกไกโดพยายามใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุดในการผลิตขนมเค้ก แต่ทว่าเค้กของร้าน Ryugetsu กลับขายเพียงชิ้นละ 50-60 บาทเท่านั้น เพราะผู้ก่อตั้งเชื่อว่า ขนมเป็นสิ่งที่สร้างความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนในครอบครัว จึงพยายามตั้งราคาไม่สูงเพื่อให้พ่อแม่สามารถซื้อเค้กแสนอร่อยไปให้ลูก ๆ ทานที่บ้านได้บ่อย ๆ นั่นเอง

3. ความถูกต้องมาก่อน กำไรมาทีหลัง

hy4

ภาพจาก goo.gl/XvsR1A

หลายคนอาจมองว่าทำธุรกิจต้องมีกำไรแต่เหล่านักธุรกิจจากเมืองโอมิกลับมองว่ากำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญนักเพราะสิ่งสำคัญอันดับแรกก็คือ “ความถูกต้อง” จะต้องทำสิ่งที่ไม่ผิดต่อศีลธรรมหรือจริยธรรม เช่น ไม่นำสินค้าที่ใกล้หมดอายุมาจำหน่าย ไม่โกหกเกี่ยวกับรายละเอียดสินค้า หากทำได้ กำไรจะตามมา

ยกตัวอย่างจากเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา Morimura Ichizaemon ได้ก่อตั้งบริษัท Noritake โดยมุ่งผลิตเครื่องเซรามิคคุณภาพดี โดยเขากล่าวเสมอว่า บริษัทที่ดีต้องไม่โกหก Morimura จึงพยายามผลิตสินค้าให้ดีและประณีตยิ่งกว่าสินค้าตัวอย่างที่ส่งไปให้ลูกค้าและในช่วงปีใหม่ Morimura ถึงกับขอบริษัทคู่ค้าว่า จะไม่รับของขวัญใด ๆ

เนื่องจากเกรงว่า จะเกิดความรู้สึกเกรงอกเกรงใจกันทั้งสองฝ่าย ทำให้ไม่กล้าพูดตักเตือนกันตรง ๆ หากวันใด สินค้าที่ตนผลิตไม่ได้มาตรฐานหรือมีตำหนิ ทั้งสองฝ่ายอาจจะประนีประนอมกัน ไม่กล้าตักเตือนกัน และเผลอปล่อยสินค้าเหล่านั้นไปถึงมือลูกค้าได้และด้วยเหตุนี้ปัจจุบัน Noritake จึงกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์เซรามิคพรีเมี่ยมที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

หลักการทั้ง 3 ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่นักธุรกิจพ่อค้าแม่ค้าเมืองไทยควรจะเรียนรู้ไว้เป็นกรณีศึกษา เหตุใดญี่ปุ่นจึงได้ชื่อว่ามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเหตุใดสินค้าญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก ทุกอย่างรวมอยู่ในกลยุทธ์เหล่านี้ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องยากสำคัญเพียงว่าเราทุกคนจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดแค่ไหนเท่านั้น

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด