สร้าง vs เซ้ง ตัดสินใจอย่างไรดี หลังโควิด-19

ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เริ่มสังเกตได้ว่าระยะหลังๆ มักจะเห็นร้านค้าต่างๆ มีการติดป้าย “ เซ้งร้าน ” หรือ “ ให้เช่า ” กันมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านต้องการใช้เงิน หรือ ไม่สามารถที่จะเปิดร้านดำเนินการกิจการต่อไปได้ หรือถ้าหากเปิดร้านได้อีกครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะมีลูกค้ากลับมาใช้บริการเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะร้านที่มีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยว 

แต่ถ้าถามว่า ระหว่างการไปเซ้งกิจการร้านต่อจากคนอื่น กับ การสร้างร้านขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง แบบไหนดีกว่ากันหลังจบวิกฤตโควิด-19 แต่ต้องบอกเลยว่ามีข้อดีข้อเสียเหมือนๆ กัน วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอว่าระหว่าง สร้าง vs เซ้ง แบบไหนดีกว่ากัน และมีขั้นตอนและความยุ่งยากต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นทางเลือกของแต่ละคน

“สร้างใหม่” เป็นความภูมิใจคนรุ่นใหม่

สร้าง vs เซ้ง

ภาพจาก bit.ly/2T6L4CK

การสร้างร้านขึ้นมาด้วยตัวเอง ถ้าหากประสบความสำเร็จจะถือเป็นความภาคภูมิใจของตัวคุณเอง แต่การสร้างร้านขึ้นมาเอง จะต้องเหนื่อยในช่วงเริ่มแรก กว่าร้านของคุณจะติดตลาด มีลูกค้ามาใช้บริการ อีกทั้งยังต้องมีเงินทุนหมุนเวียน แต่ถ้าจะสร้างกิจการหรือร้านค้าขึ้นมาเอง ต้องเริ่มต้นอย่างมีขั้นตอน เพราะหลังโควิด-19 การทำธุรกิจอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม

1. จะทำอะไรดี

การเริ่มธุรกิจใหม่คือการเริ่มจากศูนย์จริงๆ ว่าคุณจะทำอะไรดี จากนั้นคุณต้องหาข้อมูลความรู้ทั้งหมดด้วยตนเอง เรียนรู้กระบวนการขั้นตอนทั้งหมดเองตั้งแต่แรก รวมถึงทำวิจัยตลาดเอง และลองผิดลองถูกเอาเองทั้งหมด อะไรที่ไม่เคยทำก็จะทำเป็นหมดคราวนี้แหละ

2. หาทำเลเอง

เมื่อรู้ว่าจะเปิดร้านหรือทำธุรกิจอะไรแล้ว สิ่งถัดมาคือคุณต้องหาทำเลเปิดร้านเอง ในส่วนนี้คุณต้องใช้เวลาคัดเลือกทำเลที่ดีที่สุดซึ่งก็ใช้เวลาพอตัว เมื่อได้ทำเลมาแล้ว คุณก็ต้องลงทุนตกแต่งร้าน ซื้อของเข้าร้านเองทั้งหมดเช่นกัน

15

ภาพจาก bit.ly/2WSKiKC

3. ทำการตลาด

ถัดมาคุณก็ต้องมาทำการตลาดเองเพื่อโปรโมทร้านของคุณ รวมถึงต้องพยามยามสร้างแบรนด์เพื่อให้เป็นที่รู้จัก ขั้นตอนนี้ใครสายป่านยาวก็รอดตัว แต่ถ้าใครทุนสำรองน้อยก็ลำบากหน่อย ดังนั้น ต้องเตรียมตัวเรื่องเงินทุนให้รัดกุม

4. สร้างฐานลูกค้าเอง

ธุรกิจจะรอดหรือจอดสำคัญตรงฐานลูกค้า ธุรกิจใหม่คุณต้องหาและรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ให้ได้ และก็เหมือนการสร้างแบรนด์ การสร้างฐานลูกค้าก็เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้างพอสมควร

5. รับความเสี่ยงเอง

การทำธุรกิจใหม่ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันพอๆ กับโอกาสที่จะจอดไม่ต้องแจว เพราะคุณต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดเมื่อเริ่มต้นกิจการเอง

“เซ้ง” กิจการต่อคนอื่น ทางลัดธุรกิจ

14

ภาพจาก bit.ly/2Z3WIls

การเซ้งกิจการต่อจากคนอื่น เป็นทางลัดในการทำธุรกิจ เช่นเดียวกันกับ การซื้อแฟรนไชส์ เพราะไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์ ทำการตลาดให้ลูกค้าติดใจในสินค้าและบริการ ซึ่งการเซ้งกิจการหากร้านนั้นๆ มีลูกค้าอยู่แล้ว ก็สามารถเปิดร้านขายได้ทันที แต่ผู้ที่จะเซ้งต่อนั้น ต้องศึกษาอย่างละเอียดว่า เจ้าของร้านคนเก่าจะเซ้งร้านเพื่ออะไร ถ้าเซ้งเพราะขากทุน ไม่มีลูกค้า คนีที่จะเซ้งต่อก็ต้องชั่งใจให้ดี เพราะหลังจบโควิด-19 พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงไปด้วย เซ้งมาแล้วอาจไม่คุ้ม

แต่ถ้าจะเซ้งกิจการต่อจากคนอื่นจริงๆ ควรเช็คสักนิดก่อนคิดจะเซ้งกิจการ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเซ้งกิจการ มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ประกอบการตัดสินใจ คุณจะได้ไม่พลาดพลั้งอย่างน่าเสียดาย

1. มีสัญญาเช่าหรือไม่

หากเป็นกิจการที่มีสัญญาเช่าหรือต้องเช่าพื้นที่ ควรจะมีสัญญาเช่าที่ชัดเจนและต้องสามารถเปลี่ยนชื่อผู้เช่าในสัญญาได้ หากธุรกิจที่คุณจะเซ้งเป็นเช่นนั้นคุณก็วางใจได้ว่าคุณจะไม่สูญเงินเปล่า

ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ไม่มีสัญญาเช่า หรือมีแต่ใบเสร็จที่ระบุชื่อผู้เช่า ถ้าคุณเจอกิจการแบบนี้ คุณตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะถ้าเจ้าของพื้นที่ตรวจพบ หรือเปลี่ยนนโยบายคุณก็พร้อมจะปิ๋วได้ทุกเมื่อ  และทำนองเดียวกับถ้ามีสัญญาเช่าหลักแต่ระบุห้ามเช่าช่วง การทำสัญญานั้นจะถือว่าเป็นการทำสัญญาซ้อน สัญญาจะเป็นโมฆะทันที ดังนั้นควรเช็คเรื่องสัญญาเช่าเป็นอันดับแรก

2. ตรวจสอบระยะเวลาสัญญาเช่า

ข้อนี้คุณควรจะดูและคำนวณให้ละเอียดเพราะมันคือต้นทุนแรกสุดที่คุณจะตัดสินว่าถ้าเซ้งแล้วมันจะคุ้มหรือไม่ โดยที่คุณควรจะนำเอาค่าเซ้งมารวมกับค่าเช่าต่อเดือนเพื่อคำนวณ โดยนำจำนวนเดือนที่เหลือในสัญญาเช่าจากเจ้าของที่จริงมาคิด คุณก็จะได้ต้นทุนหลักแต่ละเดือนว่าจะต้องเสียเท่าไร อย่าลืมว่าต้นทุนคุณไม่ได้มีแค่เรื่องนี้มันยังมีค่าอย่างอื่นอีก ถ้าต้นทุนแรกก็ไม่คุ้มแล้ว คุณก็ไม่ควรเซ้งกิจการนั้นๆ

3. ค่าเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่า

ข้อนี้ก็ถือเป็นต้นทุนอีกรายการเช่นกัน ควรจะเช็คเสียก่อนว่าหากต้องเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่ามีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้ามีค่าเปลี่ยนคิดราคาเท่าไร และใครเป็นคนรับผิดชอบระหว่างผู้ไปเซ้ง หรือผู้ให้เซ้งกิจการ

13

ภาพจาก bit.ly/2T1kI4S

4. วัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากการเซ้ง

บางกรณีการเซ้งกิจการอาจเป็นการเซ้งแบบรวมมูลค่าของอุปกรณ์ในร้านด้วย ก่อนจะเซ้งควรตรวจดูว่าอุปกรณ์ที่ว่าราคาเท่าไร มีสภาพการใช้งานอย่างไรและจำเป็นกับกิจการของเราไหม ควรแยกแต่ละรายการอย่างละเอียดว่าอะไรใช้ได้ อะไรไม่ได้ใช้ และอะไรที่ขาดเพราะมันก็รวมอยู่ในเรื่องของต้นทุนเช่นกัน ยิ่งเซ้งกิจการพร้อมอุปกรณ์ในสภาพดี ถือว่าเป็นการลดต้นทุนการเริ่มธุรกิจของเราได้อีกทาง แถมไม่เสียเวลาไปซื้อใหม่อีกด้วย

5. องค์ความรู้ในการทำกิจการ

บางครั้งการเซ้งกิจการ ก็จะคิดรวมค่าความรู้ลงไปด้วย เช่นสูตรอาหาร สูตรน้ำ สูตรขนม หากคุณคิดว่าความรู้นั้นเป็นความรู้เฉพาะหรือต้องใช้เวลาศึกษามันก็คุ้มค่าที่จะจ่าย แต่หากเป็นความรู้ที่คุณมีอยู่แล้วหรือหาง่าย คุณอาจเลือกไม่เรียนเพื่อต่อรองราคาได้

6. ต้องลงสำรวจร้านในพื้นที่จริง

ข้อนี้คือสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเซ้งกิจการต่อ คุณจะต้องไปสำรวจพื้นที่ร้านหลายๆ ครั้ง เพราะมันคืออนาคตของกิจการ การลงพื้นที่คุณจะได้รู้ว่าสภาพกิจการเป็นอย่างไร บรรยากาศ สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ลูกค้าเยอะไหม ยอดขายดีไหม และควรจะสุ่มดูหลายๆ ช่วงเวลาเพื่อดูช่วงคึกคักและช่วงคนเงียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจและที่สำคัญอย่าไปให้เจ้าของรู้ตัว

12

ภาพจาก bit.ly/2WTDP1R

หลังวิกฤตโควิด-19 หลายคนอาจมองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ มักมีความเสี่ยงเสมอ แต่ผู้ประกอบสามารถลดความเสี่ยงได้ หากคุณศึกษามันอย่างละเอียด รอบคอบในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตาม

โดยเฉพาะการเซ้งกิจการต่อจากผู้อื่น ดูเผินๆ ก็เป็นเรื่องไม่ยาก เหมือนการในพงหญ้าที่มีคนแหวกทางให้แล้ว แต่ถ้าคุณไม่ใส่ใจศึกษา ทางที่ดูเหมือนง่ายนี้ ก็อาจเป็นกลลวงให้คุณหลงทางในธุรกิจนั้นๆ


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก  https://bit.ly/2yYi1u7

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช