ส่อง 4 ประเทศอาเซียน CLMV ทำเลทองของแฟรนไชส์ไทย

ปี 2017 นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ในการรุกตลาด AEC เพราะตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียนไม่แตกต่างไปจากคนไทยมากนัก

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ที่ถือเป็นทำเลทองในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย ด้วยลักษณะของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่มีลักษณะการกิน การดื่มการเที่ยวเหมือนกับไทย จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในการขยายการลงทุนไปที่ 4 ประเทศนี้

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยไปสำรวจตลาด สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคใน 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ถึงความนิยมและความน่าสนใจในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

สำรวจแฟรนไชส์ไทย ทำไมต่างชาตินิยม

ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

ต้องยอมรับว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะแฟรนไชส์ต่างชาติให้ความสนใจ หวังใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนระบบแฟรนไชส์ของตน ก่อนที่จะขยายไปสู่ตลาดอาเซียน เนื่องจากไทยมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม แต่ก็เป็นดาบ 2 คม ทำให้แฟรนไชส์สัญชาติไทย ต้องดิ้นรนไม่ให้ถูกต่างชาติกลืนหายไป

แฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด คือ ธุรกิจร้านอาหาร รองลงมาเป็นธุรกิจเครื่องดื่ม เบเกอรี่ และธุรกิจบริการ เพราะลงทุนไม่สูง มีระบบจัดการไม่ซ้ำซ้อน ทำให้ขณะนี้ไทยมีแฟรนไชส์เหล่านี้เป็นจำนวนมาก และแข่งขันกันสูงในประเทศ

gh6

ภาครัฐจึงพยายามส่งเสริมให้เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์เซอร์ หาทางออกไปลองทำตลาดในอาเซียน ซึ่งจะมีประชากรอาเซียนรวมกันถึง 680 ล้านคน สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์รายใหญ่ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก คงก้าวไปสู่ตลาดอาเซียนได้ไม่ยาก แต่เฟรนไชส์แบรนด์ที่ไม่เด่นไม่ดัง ไม่สร้างความแตกต่าง ก่อนจะขยายตลาดไปอาเซียน จะต้องสร้างชื่อเสียงให้ติดตลาด

แฟรนไชส์สัญชาติไทย มีเกิดขึ้นมากมายทุกๆ ปี ถ้าขาดการพัฒนาและไม่รักษาคุณภาพของแฟรนไชส์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสาขา และขาดความเข้าใจในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์นั้นๆ คงจะยืนอยู่ได้ยากในยุค AEC แต่ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยก็ยังที่เป็นที่ต้องการของนักลงทุน ในประเทศในกลุ่มอาเซียนลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV)

gh5

จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าปัจจุบัน ไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์จำนวน 1,250 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 961 ราย แยกเป็นธุรกิจค้าปลีก 454 ราย บริการ 237 ราย อาหารและเครื่องดื่ม 189 ราย ความงามและสปา 47 ราย การศึกษา 34 ราย และมีการขยายเครือข่ายออกไปตลาดต่างประเทศแล้ว 22 ราย ใน 37 ประเทศ เช่น ในอาเซียน ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ อเมริกา เป็นต้น

สปป.ลาว เลือกช้อปแฟรนไชส์ดูดี มีแบรนด์ มีมาตรฐาน

gh4

ภาพจาก facebook.com/SwensensLao

สปป.ลาวจะมีประชากรอยู่เพียง 6.8 ล้านคน และในเมืองหลวงเวียงจันทน์ก็มีเพียง 5-7 แสนคนเท่านั้น ทำให้ดูไม่น่าสนใจในการไปเปิดตลาดค้าขายที่นี่ แต่จุดแข็งของลาว คือ สปป.ลาวกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น และมีกลุ่มชนชั้นที่มีฐานะที่จ่ายได้ไม่อั้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสในการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเติบโตไปพร้อมๆ กับประเทศนี้

สำหรับแฟรนไชส์ไทย ในวันนี้ได้มีการลงทุนที่ สปป.ลาวแล้วหลายแบรนด์ เช่น พิซซ่าคอมปะนี สเวนเซ่นส์ ตำมั่ว ฮอทพอท ไก่ย่างห้าดาว ทรูคอฟฟี่ คอฟฟี่เวิลด์ แบล็คแคนยอน เดอะวอฟเฟิล ชายสี่หมี่เกี๊ยว คาเฟ่อะเมซอน เชสเตอร์กริลล์ สมาร์ทเบรน ไจแอ้นลูกชิ้นปลาระเบิด และคาร์แล็ค 68 เป็นต้น

ประชากรลาวส่วนใหญ่จะมีกำลังซื้อไม่สูงมากก็จริง แต่ยังมีกลุ่มคนรวยอยู่ส่วนหนึ่ง ที่อาจประมาณ 5% ของประชาชากรทั้งหมด ซึ่งมีฐานการเงินแข็งมาก และกล้าใช้จ่าย กล้าลงในธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มนักธุรกิจจีน และ เวียดนาม ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลลาวอย่างเหนียวแน่น เข้าลงทุนธุรกิจใน สปป.ลาวหลายประเภท ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่สูงมาก

สำหรับตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในลาว มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ค่อยหวือหวามากนัก อาจเป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศยังมีความยากจน มีรายได้น้อย จึงทำให้แบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศชะลอเข้าไปลงทุนในลาว  แต่สำหรับแฟรนไชส์ไทย ตลาดและผู้บริโภคชาวลาวมีความต้องการ เพราะรูปแบบการกิน การดื่มเหมือนกับคนไทย จึงเป็นโอกาสอย่างยิ่งสำหรับแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ในการเข้าไปลงทุนในลาว โดยการลงทุนแฟรนไชส์สำหรับแบรนด์ต่างประเทศในลาว เฉลี่ยอยู่ที่ 90-200 ดอลลาร์สหรัฐ

“แฟรนไชส์ที่ดูดี มีแบรนด์ คือ แฟรนไชส์ที่ใช่ในตลาดลาว แฟรนไชส์ประเภท อาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก และด้านบริการ ที่ดูดี มีระบบมาตรฐาน และมีแบรนด์ หรือมีความเท่ยังเป็นที่ต้องการ หากแฟรนไชส์ใดเข้าข่ายในลักษณะนี้ อาจลองหาคู่ค้านักธุรกิจชาวลาวดู เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดที่กำลังเติบโต”

เมียนมา…โอกาสทองแฟรนไชส์อาหาร- เครื่องดื่มไทย

gh3

ภาพจาก goo.gl/DICMsu

เมียนมาถือว่าเป็นประเทศที่ยังมีความ “สด” มาก เป็นประเทศที่ต้องการลงทุนจากต่างประเทศ และมีการสงวนอาชีพ Trading ไว้ให้กับชาวเมียนมา ซึ่งต่อมาก็ได้มีการออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้ต่างชาติสามารถทำการค้าสินค้าบางประเภทที่พม่ามีความต้องการ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์

อีกไม่นานเมียนมาจะเปิดให้ต่างชาติมีการค้าขายในสินค้าประเภทอื่นๆ มากขึ้น ธุรกิจที่รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านธุรกิจบริการต่างๆ เช่น สปา อาหาร ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น ด้วยในขณะนี้ตลาดดังกล่าว มีแนวโน้มการเติบโตดี และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง รวมถึงเมียนมายังมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก

โดยที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานแฟรนไชส์ของไทย ได้มีการทำโครงการร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ พร้อมแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์และการลงทุนในธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเมียนมาขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเมียนมาได้เริ่มมีธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นแล้ว และถือเป็นประเทศที่เนื้อหอมมากสุดในภูมิภาคอาเซียนในขณะนี้

ปัจจุบันพบว่า มีธุรกิจแฟรนไชส์ราวๆ กว่า 50 แบรนด์หลักในประเทศเมียนมา เป็นแฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นแฟรนไชส์ที่ดำนินธุรกิจหรือเปิดกิจการได้ง่ายกว่าแฟรนไชส์กลุ่มอื่นๆ ที่สำคัญเมียนมายังเป็นตลาดใหม่ เพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่เกี่ยวกับตลาดแฟรนไชส์ ถือเป็นประเทศในอาเซียนที่น่าสนใจ มีโอกาสเติบโตในธุรกิจแฟรนไชส์อีกมาก

ด้วยจำนวนประชากรของเมียนมารที่มีมากกว่า 50 ล้านคน ธุรกิจที่เข้าไปดำเนินการในเมียนมาส่วนใหญ่เป็น SMEs คิดเป็นสัดส่วน 97% ของธุรกิจทั้งหมด โดยที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้นำผู้ประกอบการแฟรนไชส์ของไทย 21 รายเดินทางไปนำเสนอและเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจเมียนมา ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้มาติดต่อเจรจาธุรกิจถึง 478 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามและประเมินผล คาดว่าจะมีการตกลงทำธุรกิจร่วมกันเกิดขึ้นในอนาคตแน่นอน

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความสนใจ คือ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เดินทางไป 11 ราย มีผู้มาติดต่อเจรจาธุรกิจด้วย 301 ราย ธุรกิจความงามและสปาไป 4 ราย มีผู้มาติดต่อ 53 ราย ธุรกิจการศึกษาไป 4 ราย มีผู้มาติดต่อ 53 ราย และธุรกิจบริการไป 2 ราย มีผู้มาติดต่อ 71 ราย

กัมพูชา นิยมและคุ้นเคยแฟรนไชส์อาหาร-บริการไทย

gh2

ภาพจาก facebook.com/lookchingiantfc

ปัจจุบันธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์กำลังเป็นที่นิยมมากในกัมพูชา สะท้อนจากธุรกิจแฟรนไชส์ของต่างประเทศที่ต่างทยอยขยายธุรกิจเข้ามาในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบกับชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่เปิดรับการบริโภครูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดกัมพูชา ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารของไทยที่จะลองเข้าไปทำตลาด

นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนกัมพูชาถึงกว่า 5 ล้านคน/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญของธุรกิจนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และคุ้นเคยกับการให้บริการในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี

โดยอาหารไทยเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวกัมพูชา ส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอีกธุรกิจ ที่มีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้ามาลงทุนในตลาดกัมพูชา สถานการณ์ตลาดแฟรนไชส์ในประเทศกัมพูชา ปี 2017 ความน่าสนใจอยู่ที่ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มภาคบริการ

เพราะเป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่มีโอกาสเติบโตและขยายตัวสูงที่สุด เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่รัฐบาลต้องการลงทุนสูง โดยในปี 2017 กัมพูชามีแผนการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจศูนย์ออกกำลังกายและฟิตเนส มูลค่ามากกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ และลงทุนในธุรกิจด้านบริการให้คำปรึกษา มูลค่ามากกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เวียดนาม นิยมแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม บริการ

gh1

ภาพจาก goo.gl/VFVOMF

ปัจจุบันตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ของเวียดนามอยู่ในช่วงขาขึ้น มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปิดสาขาร้านแฟรนไชส์มากกว่า 530 สาขา แม้ว่าขณะนี้ ตลาดแฟรนไชส์ในเวียดนาม จะค่อนข้างเล็ก และยังมีการแข่งขันน้อยอยู่ แต่คาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมามีแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมมาขยายธุรกิจในเวียดนาม

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ท้องถิ่นของเวียดนามเองก็ได้รับการยอมรับ และประสบความสำเร็จขึ้นมากกว่าเดิม นอกจากนี้ที่ผ่านมา กฎหมายแฟรนไชส์ได้ผ่านการอนุมัติจากสมาชิกสภาแห่งชาติในปี 2005 โดยกฎหมายมีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของแฟรนไชส์ ข้อกำหนดในสัญญาแฟรนไชส์ และข้อกำหนดด้านการดูแลจัดการแฟรนไชส์

ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเวียดนาม กำลังมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามสถานการณ์และความต้องการของตลาด โดยแบรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศได้เข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีแบรนด์แฟรนไชส์มากกว่า 110 แบรนด์ เป็นแฟรนชส์ต่างประเทศ แฟรนไชส์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม

สถานการณ์ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในเวียดนามมีการเติบโตประมาณ 61.6% มาจากการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2012-2017 และกว่า 50% เป็นการใช้จ่ายในครัวเรือนเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม  โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2021 คาดว่ามีอัตราการเติบโตของ GDP หรือผลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเฉลี่ยกว่า 4,348 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลเวียดนามได้เล็งเห็นว่าแฟรนไชส์ คือ วิถีทางหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์จะช่วยดึงนักลงทุนภาคเอกชน ที่มีเงินสะสมอยู่ค่อนข้างมากออกมาใช้ เนื่องจากตลาดทุนของเวียดนามยังไม่พัฒนาไปมากนัก ธุรกิจแฟรนไชส์จึงถูกคาดหวังว่า จะช่วยเป็นเครื่องมือในการดึงเงินออมของเอกชน และนำไปสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่ขึ้น เพราะแฟรนไชส์นั้น เป็นการลงทุนทางธุรกิจที่ทำให้นักลงทุนเวลาสั้นในการประกอบธุรกิจ มีความเสี่ยงน้อยด้วย

“แฟรนไชส์จากต่างประเทศที่น่าจะเติบโตในเวียดนาม ไม่เพียงแต่ธุรกิจประเภทอาหาร และเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น แฟชั่น บริการดูแลรถยนต์ ดูแลเด็ก ความสะอาด สุขอนามัย บริการจ้างงาน ท่องเที่ยว โรงแรม และโมเด็ล เครื่องเรือนตกแต่งบ้าน สินค้าและบริการด้านการศึกษา ร้านสะดวกซื้อ เครื่องสำอาง ดูแลความงาม และอื่นๆ“

ได้เห็นแล้วว่า ประเทศอาเซียนลุ่มน้ำโขง กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีความน่าสนใจอย่างไร ในการลงทุน หรือขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปปักหมุดที่นั่น ด้วยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศเหล่านี้ นิยมสินค้าและบริการของไทย ที่สำคัญผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้ มีความความมั่นใจในคุณภาพสินค้าที่ดีของสินค้าไทย จึงน่าจะช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเติบโตใน 4 ประเทศดังกล่าวได้ไม่ยาก แต่ผู้ประกอบการต้องสร้างมาตรฐาน มีแบรนด์ สินค้ามีคุณภาพ ด้วย

สำหรับที่สนใจอยากลงทุนซื้อแฟรนไชส์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ ได้ที่ https://goo.gl/cLKE5E


Franchise Tips

  • สปป.ลาว เลือกช้อปแฟรนไชส์ดูดี มีแบรนด์ มีมาตรฐาน
  • เมียนมา…โอกาสทองแฟรนไชส์อาหาร- เครื่องดื่มไทย
  • กัมพูชา คุ้นเคยแฟรนไชส์อาหาร-บริการไทย
  • เวียดนาม นิยมแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม บริการ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3jw2Eds

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช