สรุปภาพรวมเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไทยปี 2559 และแนวโน้มปี 2560

นับตั้งแต่ต้นปี 2559 เศรษฐกิจโลก ยังคงเผชิญกับความผันผวนมาโดยตลอด ประเด็นใหญ่ๆ ที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ นั่นคือ เหตุการณ์ก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระเบิดป่วนหลายจุดกลางกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เหตุระเบิดสนามบินกรุงบลัสเซลส์

ที่นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ประเทศเบลเยียม เหตุการณ์การโจมตีทั่วกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และล่าสุด เหตุการณ์โจมตีสนามบินนานาชาติ ประเทศตุรกี ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

กระทั่งต่อมา เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือ Brexit ยิ่งทำให้หลายคนกลัว ขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าในอนาคตต่อไปจะเกิดเหตุการณ์อะไร ที่ร้ายแรงขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจอีก

ดังนั้น หลายคนมีความกังวลถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้หรือไม่ และเศรษฐกิจไทยนับจากนี้จะมีทิศทางเป็นอย่างไร

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอบทวิเคราะห์สรุปภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการ นักลงทุน ผู้บริโภคชาวไทย ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของตัวเองในอนาคต

ภาพรวมเศรษฐกิจไทย 2559

jk1

ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.3 สูงกว่าร้อยละ 2.8 ในปี 2558 ที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแรงส่งจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

ทั้งมาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายการลงทุนขนาดเล็ก และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง (จำนวนนักท่องเที่ยวเดือนม.ค.-ต.ค.59 รวม 27 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 58)

แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนบ้าง จากการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน จากอานิสงค์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ทยอยออกมาตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2558 – เมษายน 2559 (จำนวน 11 มาตรการ วงเงินรวม 671,442 ล้านบาท)

การปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกร ที่สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง และระดับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวได้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่าในปี 1560 เศรษฐกิจไทยน่าจะมีการเติบโตได้ดีกว่าในปี 2559 จากแรงขับเคลื่อนหลักของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ, จำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง, ภาคการบริโภคที่ได้รับอานิสงค์จากรายได้เกษตรที่ฟื้นตัวขึ้น

jk3

รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่างๆ ของภาครัฐ, การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มว่าจะปรับดีขึ้นตามความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ, ภาคการส่งออกที่อาจจะกลับมาขยาย ตัวได้ในรอบ 5 ปี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจมีความล่าช้าออกไปจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี, กระบวนการของการที่สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นต้น
ทิศทางและแนวโน้มการส่งออกไทย

ภาคการส่งออกในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2559 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางแข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอย่างอาเซียน และ CLMV ที่ยังมีทิศทางการขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี

ซึ่งการส่งออกอาจจะกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 ปี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 สูงกว่าที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1

jk4

สหรัฐอเมริกา การจ้างงานของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน, ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจภายหลังจากการเลือกตั้ง, การปรับตัวดีขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยเสี่ยงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และความไม่แน่นอนของนโยบายในช่วงสั้นๆ ภายหลังการเลือกตั้ง

ยูโรโซน อาจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เท่าที่ควรในปี 2560 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของการเจรจา และเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปมีต่อสหราชอาณาจักร ภายหลังผลการลงประชามติออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (BREXIT) ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะลอลง ยิ่งไปกว่านั้นหลายประเทศในกลุ่มยูโรโซน ยังมีอัตราการจ้างงานและเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่าเป้าหมาย

ญี่ปุ่น น่าจะเติบโตได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2559 จากการเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีการบริโภคออกไป การใช้จ่ายเพิ่มเติมจากภาครัฐ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การบริโภคมีการฟื้นตัวที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับภาวะเงินฝืด การแข็งค่าของค่าเงินเยนที่จะกระทบต่อรายได้จากการส่งออก

จีน เศรษฐกิจในปี 2560 คาดว่ายังคงชะลอตัว เนื่องจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หนี้ภาคเอกชนและกำลังการผลิตส่วนเกิน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนจากการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมาเป็นพึ่งพาภาคการบริโภคและการบริการมากขึ้นจะทำให้การบริโภคภายในประเทศเป็นตัวช่วยประคองการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไว้ได้ ประกอบกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ

อาเซียน เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่เศรษฐกิจเติบโตสูง อีกทั้งระดับราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ที่กลับมามีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีทิศทางเติบโตดีขึ้นได้

ภาพรวมอุตสาหกรรมปี 2559

jk6

การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยภาคอุตสาหกรรมในปี 2559 ยังคงเผชิญกับสภาวะการส่งออกที่หดตัว จากการฟื้นตัวที่ยังไม่สม่ำเสมอของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

ด้านกำลังซื้อภายในประเทศของภาคครัวเรือนซบเซาลง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตร ที่มีปัจจัยบั่นทอนจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตาม ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2559

ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนภาคเอกชนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เติบโตได้ในอัตราร้อยละ 0.6 จากที่หดตัวร้อยละ -3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก 1,302 โครงการ แม้จำนวนโครงการจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่มีมูลค่าเงินลงทุน 675,620 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0

แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2560

jk5

ทิศทางของภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 คาดว่าน่าจะมีแรงส่งที่ดีขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่น่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากปี 2559 โดยมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่น่าจะขยายตัว

ด้านอุปสงค์ภายในประเทศนั้น การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนคาดว่าจะเร่งขึ้น จากรายได้ของเกษตรกรที่ปรับดีขึ้นจากผลของราคาสินค้าเกษตร ที่กลับมามีทิศทางขยายตัวได้อีกครั้ง ประกอบกับภาครัฐน่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนจะสามารถเติบโตได้ตามการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่เม็ดเงินลงทุนจะสามารถเข้าสู่ระบบได้มากยิ่งขึ้นในปี 2560

รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย, การส่งเสริมการลงทุนภายใต้แผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC), การส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0”

jk7

ขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศ มีความเป็นไปได้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2559 จากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก นำโดยการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง และปัจจัยที่คาดว่าจะสนับสนุนความต้องการสินค้าในภาคอุตสาหกรรม ก็คือ การท่องเที่ยวในปี 2560 ที่ยังขยายตัวได้ดี

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2560 ไว้ที่ 2.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีเป้าหมายรายได้ 2.4 ล้านบาท

ซึ่งจะมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการยกเว้นค่าทำเนียมการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,000 บาทต่อคนเป็นการชั่วคราว สามารถช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้, การจัดรูปแบบกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเข้ากับบรรยากาศของประเทศ เป็นต้น

ทิศทางของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ปี 2560

1.อุตสาหกรรมก่อสร้าง

jk8

ภาพจาก goo.gl/QObznY

  • คาดว่าจะได้รับอานิสงค์จากลงทุนภาครัฐฯ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1,410,763.35 ล้านบาท รวมถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่เป็นประตูการค้าชายแดน เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองชายแดน
  • โอกาสสำหรับการส่งออกวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศ CLMV ที่มีชายแดนติดกับไทย จากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ซึ่งส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างของไทย ที่จะมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับการขยายตัวของเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

2.อุตสาหกรรมอาหาร

jk9

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าจะได้รับอานิสงค์ที่ดีจากผลผลิตทางการเกษตร ที่ผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทิศทางการบริโภคภายในปะเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว
  • น่าจะมีการเติบโตตามการส่งเสริมการลงทุน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแห่งอนาคตหรือการแปรรูปอาหาร
  • ภาคการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ย่อมก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น

3.อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

jk11

ภาพจาก goo.gl/ok9AzN

  • ตลาดในประเทศปี 2560 คาดว่า ยอดขายจะดีขึ้น จากการขยายตัวของคอนโดมิเนียมและที่อยู่อาศัย ทำให้มียอดการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีการทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามรายได้เกษตรกรที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างอุปสงค์ในสินค้าคงทนอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้
  • รวมทั้งการรองรับการขยายการลงทุนในกลุ่ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) ตามการส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (New Growth Engine)

4.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

jk10

  • อุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2560 คาดว่า ตลาดในประเทศน่าจะได้รับผลดี จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ประกอบกับความต้องการเสื้อผ้าสีดำ ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เป็นต้น
  • ส่วนแนวโน้มการส่งออก คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก ที่น่าจะฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ประกอบกับการส่งออกผ้าผืนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวได้ดี รวมถึงผู้ประกอบการมีการปรับปรุงคุณภาพของผ้าผืนให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น

ได้เห็นแล้วว่า ภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2559 และแนวโน้มปี 2560 เป็นอย่างไร ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ในปี 2560 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองภาพรวมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทย มีแนวโน้มและทิศทางการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าปี 2559

เนื่องจากการลงทุนในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ราคาสินค้าการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มที่จะกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช