ถ้าเงิน “ไม่มีใช้” เราควรทำอย่างไรดี?

“ไม่มีเงิน” เป็นคำที่ทุกคนไม่อยากเจอ แต่ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร บวกกับสถานการณ์แพร่ระบาด COVID ที่ยังไม่คลี่คลายซ้ำเติมให้ฐานะการเงินของเรายิ่งแย่ ข้อมูลน่าสนใจระบุว่าการสั่งปิดกิจการมีผลอย่างมากต่อตลาดแรงงาน

พร้อมประเมินว่า หากยืดเยื้อถึงสิ้นปี คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขอัตราการว่างงานของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 2.5-3 ส่วนตัวเลขของผู้ว่างงาน อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคน

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนคิดตอนนี้คือแผนรับมือว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้หากเราไม่มีเงิน หรือมีเงินเหลือน้อย ควรทำอย่างไรดี

1.ลดรายจ่ายให้เหลือเท่าที่จำเป็น

ไม่มีใช้

ภาพจาก freepik.com/

หากเกิดปัญหาเงินขาดมือสิ่งแรกที่ต้องทำทันทีคือ “รัดเข็มขัดให้แน่น” หมายถึงเราต้องจัดสรรระเบียบการจับจ่ายใช้สอยใหม่ทั้งหมด อะไรที่เคยจ่ายโดยไม่จำเป็น จ่ายเพราะความเคยชิน จ่ายเพราะความชอบ ต้องหยุดทั้งหมด รายจ่ายที่จะออกจากกระเป๋าต่อจากนี้ต้องมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งถ้าจะให้มองเห็นภาพก็กำหนดเงินที่ควรใช้ในแต่ละวันของตัวเองว่าเท่าไหร่เช่นใช้วันละ 100 ซึ่งก็ต้องมาคำนวณดูก่อนว่าเรามีค่าใช้จ่ายหลักๆอย่างไรบ้างเช่น ค่ารถ ค่ากิน ทั้งนี้อย่าลืมจัดทำเรื่องบัญชีซึ่งอาจจะทำให้เราพบรูรั่วทางการเงินที่ชัดเจนมากขึ้นก็ได้

2.ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

31

ภาพจาก freepik.com/

ปัญหาสำคัญเมื่อเงินขาดมือส่วนใหญ่เรามักจะเลือกไปหากู้ยืมจากแหล่งการเงินโดยเฉพาะพวกบัตรกดเงินสดทั้งหลาย ที่มักจะมีการเพิ่มวงเงินให้เราในยามจำเป็น ซึ่งมันก็เป็นผลดีในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวกลับกลายเป็นหนี้สินแบบดินพอกหางหมู เพราะเป็นเรื่องยากที่เราจะหาเงินมาจ่ายชำระได้ทัน ยิ่งการจ่ายอัตราขั้นต่ำใช่ว่าจะตัดยอดเงินกู้ให้เหลือน้อยได้ดีไม่ดีจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น จากภาระเดิมที่เงินขาดมือก็จะยิ่งมีปัญหาการเงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวทีเดียว

3.หารายได้เสริม

30

ภาพจาก freepik.com/

เมื่อไม่แนะนำให้ไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือหารายได้เข้ามาเสริมเป็นการด่วน เงินขาดมือจะมานั่งงอมืองอเท้าเสี่ยงโชคลุ้นดวงอยู่กับบ้านไม่ได้ ต้องหาอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้เงิน ไม่ว่าจะเป็นงานพิเศษ งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ต่าง ๆหรือแม้แต่การเลือกลงทุนขายของแบบที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากแต่หากมองเห็นว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนได้บ้างก็ควรลงมือทำอย่าได้ชักช้า

4.รีไฟแนนท์

29

ภาพจาก freepik.com/

สาเหตุสำคัญของการเป็นหนี้ เงินชักหน้าไม่ถึงหลังส่วนหนึ่งเกิดจากภาระทางสินทรัพย์ที่เราต้องผ่อนไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ ซึ่งรายจ่ายในส่วนนี้หากใครเคยมีประสบการณ์พบว่าแต่ละเดือนมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่าหลัก 10,000 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงเอาเรื่องแต่เราก็มีวิธีการรีไฟแนนท์ที่จะช่วยลดดอกเบี้ยเหล่านี้ให้น้อยลง เราสามารถชำระได้ในวงเงินที่ถูกลง ซึ่งการรีไฟแนนท์ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน แต่ทุกที่มีข้อกำหนดนี้เอาไว้ซึ่งเราก็ควรใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

5.เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน

28

ภาพจาก freepik.com/

ถ้าการหารายได้เสริมยังไม่ทันการณ์หรือภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังของเรามันรุนแรงมากวิธีการที่จะหาเงินสดมาเสริมสภาพคล่องได้ดีที่สุดก็คือเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน ซึ่งยุคนี้ไม่ว่าจะรถยนต์ บ้าน ที่ดิน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทั้งสิ้นเพียงแต่หลังจากได้เงินสดเหล่านี้มาก็เท่ากับเรามีปัญหาหนี้สินตามมาด้วยเช่นกัน หรือเราอาจจะเลือกการจำนำทอง หรือสินทรัพย์ที่เราไม่ต้องการไถ่คืนเช่น โทรทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในบ้านที่เราไม่ค่อยได้ใช้งาน ก็อาจเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เหล่านี้มาเป็นเงินสดประทังชีวิตในยุคเงินขาดมือไปพลางๆก่อนได้

6.หาเงินทุนแบบไม่มีดอกเบี้ย

27

ภาพจาก freepik.com/

เราไม่แนะนำให้หาเงินทุนจากแหล่งที่มีดอกเบี้ย เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้ตัวเองมีปัญหามากขึ้น แต่หากเรามีคนรู้จัก ญาติสนิท เพื่อน พ่อแม่ พี่น้องที่พอจะให้ความช่วยเหลือเราได้ในเรื่องเงินทุน ก็อาจจำเป็นที่ต้องไปขอความช่วยเหลือ ซึ่งข้อดีของการยืมเงินจากบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่มีดอกเบี้ยแต่อย่างไรก็ตามต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเงินที่ยืมคนอื่นมาจะต้องหามาใช้ทุกบาททุกสตางค์และห้ามเบี้ยวหนี้เป็นอันขาด เนื่องจากวันหนึ่งในอนาคตหากเกิดปัญหาเงินขาดมือจะได้มีที่พึ่งพิงยามยากได้

7.รับความช่วยเหลือจากโครงการภาครัฐ

26

ภาพจาก https://bit.ly/3oyZjyV

ปัจจุบันในเดือนสิงหาคม 2564 ยังมีความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ยังไม่สิ้นสุดมาตรการ อาทิ ขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและประปา , คนละครึ่ง เฟส 3 , เงินเยียวยาจากประกันสังคม สำหรับ 9 กิจการในพื้นที่สีแดงเข้ม โดย 13 จังหวัดจะได้รับเงิน 2,500-10,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือน (กรกฎาคม-สิงหาคม) แม้มาตรการเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้ฐานะการเงินเราดีขึ้นแต่อย่างน้อยก็ช่วยลดรายจ่ายของเราได้ในระดับหนึ่ง

8.บริหารการเงินให้เป็นระบบ

25

ภาพจาก freepik.com/

และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเงินขาดมือกลับมาหาเราได้อีกเราควรมีระบบการบริหารการเงินที่ชัดเจน มีการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายที่มีคุณภาพ มีการแบ่งเงินออกเป็นหมวดหมู่ทั้งเงินที่ควรเก็บออม เงินใช้ในยามฉุกเฉิน เงินที่ใช้สำหรับลงทุน เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะดูเป็นเรื่องละเอียดที่ยุ่งยาก แต่การมีวินัยทางการเงินและจัดระเบียบการเงินได้ดีจะทำให้เรารู้เส้นทางการเงินที่เรามีอยู่ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเงินขาดมือในระยะยาวได้

9.ยื่นรับเงินชดเชยจากประกันสังคม กรณีว่างงาน-ลาออก-ถูกเลิกจ้าง

24

ภาพจาก https://bit.ly/3FmnqYu

คนที่ไม่ได้ทำงานเพราะถูกกักตัว 14 วัน หรือไม่ได้ทำงานเพราะรัฐสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว และไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างในช่วงนี้ สามารถยื่นเรื่องรับเงินทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยได้ โดยจะได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ แล้วแต่กรณี คราวละไม่เกิน 90 วัน

และนายจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองการหยุดงานของลูกจ้างอันเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือคนที่ลาออกเองหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างในช่วงสถานการณ์COVID19 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 45% ไม่เกิน 90 วัน/ปีปฏิทิน รวมถึงคนที่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกในช่วงสถานการณ์COVID19 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 70% ไม่เกิน 200 วัน/ปีปฏิทิน

10.ต้องขยัน และอย่ายอมแพ้

23

ภาพจาก freepik.com/

เมื่อไม่มีเงินสิ่งที่เราต้องทำอย่างแรกคือทำใจยอมรับ และหาวิธีแก้ปัญหา โดยที่กล่าวมาข้างต้นคือแนวทางแก้ปัญหาแต่สำคัญไม่แพ้กันคือนับแต่นี้เราต้องขยันและห้ามท้อแท้ ปัญหาที่เกิดอาจเป็นแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรืออาจจะเป็นระยะเวลานาน เราควรหาวิธีแก้ไขเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาใช้สติคิดให้รอบคอบ จะทำให้เรามองหาทางออกที่ดีที่สุดได้


เมื่อไม่มีเงินใช้ 3 สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด

คนส่วนใหญ่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จนตรอกคิดอะไรไม่ออกมักหาทางออกที่ผิดวิธีแทนที่จะดีขึ้นบางทีกลับทำให้จมดิ่งลงไปมากขึ้น สำหรับคนที่ไม่มีเงินมีคำแนะนำว่าไม่ควรทำ 3 สิ่งต่อไปนี้

1.หาเงินจากการเล่นการพนัน

22

ภาพจาก freepik.com/

นอกจากไม่ใช่การหาเงินให้อยู่รอดบางทีอาจซ้ำเติมให้เราเป็นหนี้หนักยิ่งขึ้น อย่าคิดว่าจะหาเงินด้วยวิธีสบายๆ และได้เงินเป็นก้อนจากวิธีนี้เด็ดขาด

2.กดเงินสดจากบัตรจนเต็มวงเงิน

21

ภาพจาก freepik.com/

บัตรเครดิตเหมือนดาบสองคม ถ้ารู้จักใช้ก็มีประโยชน์มากแต่ในสถานการณ์ที่เราไม่มีเงินใช้ การไปกดเงินสดจากบัตรเท่ากับการสร้างหนี้ แน่นอนว่าเราจะมีปัญหาเรื่องการใช้หนี้ในอนาคตด้วย

3.กู้เงินนอกระบบ

20

ภาพจาก freepik.com/

ดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบแพงมากบางทีสูงถึงร้อยละ 20 และยิ่งเราไม่มีรายได้ไม่มีเงินทุนสำรอง การได้เงินก้อนจากวิธีนี้จะยิ่งกลายเป็นขว้างงูไม่พ้นคอ สุดท้ายก็เจอปัญหาหนักกว่าเดิมเมื่อไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยที่โหดมาก

คำแนะนำเบื้องต้นหากเราต้องตกงาน โดนลดเงินเดือน รายได้ไม่พอรายจ่าย สิ่งแรกคือต้องพยายามหาทางออกที่ไม่ใช่การเพิ่มปัญหาให้มากขึ้น สำรวจศักยภาพตัวเองว่าสามารถทำอะไรได้บ้างและพยายามเปลี่ยนสิ่งรอบตัว เปลี่ยนความสามารถให้กลายเป็นรายได้ แม้อาจไม่ใช่เงินก้อน แต่หากมีรายได้แม้เพียงเล็กน้อยเข้ามาทุกวันอย่างน้อยก็พอจะประคับประคองชีวิตให้ก้าวพ้นวิกฤตินี้ไปได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3xUOytn , https://bit.ly/3801DXK , https://bit.ly/3mgvK5U , https://bit.ly/3j1euQ5

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3FsHyZa

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด