Step by Step ขั้นตอนเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์

ขึ้นชื่อว่า อาหารไทย มีเอกลักษณ์และจุดขายในตัวเอง หลายคนสนใจมองการลงทุนเปิดร้านในต่างประเทศ เอาที่คนนิยมที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “สิงคโปร์” ด้วยความที่เป็นเมืองท่องเที่ยว และมีอัตราการเติบโตสูงมาก

ผู้ลงทุนคาดหวังในเรื่องรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำแต่ www.ThaiSMEsCenter.com เห็นว่าการจะลงทุนเปิดร้านอาหารในสิงคโปร์ไม่ใช่เรื่องที่คิดปุ๊บปั๊บและทำได้เลย

โดยเฉพาะหากเรายังไม่รู้กฏเกณฑ์และวิธีการที่ดีพอ เงินลงทุนที่ตั้งใจไว้อาจกลายเป็นเรื่องสูญเปล่าก็ได้ ทั้งนี้เราจึงควรศึกษาแนวทางการเปิดร้านให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน

ร้านอาหารไทยในสิงคโปร์มี 3 รูปแบบคือ

12

ภาพจาก www.facebook.com/ThaiExpressSG/

  1. ร้านแบบแฟรนไชส์ ยกตัวอย่างเช่น ร้าน Thai Express ของกลุ่ม Minor หรือร้าน Siam Kitchen และ Bangkok Jam ของ S&P หรือร้าน Bali Thai ที่เป็นของกลุ่มนายทุนในสิงคโปร์เอง
  2. ร้านที่เปิดแบบเดี่ยวๆ และนิยมใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทยสร้างจุดขาย เช่น ร้านท่านหญิง หรือร้านสบายที่ทั้ง 2 ร้านนี้เจ้าของคือคนสิงคโปร์แต่ใช้กุ๊กที่เป็นคนไทยทั้งหมด
  3. ร้านอาหารไทยสำหรับคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก คนไทยในสิงคโปร์ส่วนใหญ่นิยมไปทำงานที่ร้านประเภทนี้ พบได้ในห้างสรรพสินค้าทั่วไป

แนวทางเบื้องต้นการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์

11

ภาพจาก www.facebook.com/ThaiExpressSG/

1.ใช้เงินทุนในการเริ่มต้นสูง

ส่วนจะสูงแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของร้านที่ต้องการจะเปิด แม้การจดทะเบียนเปิดร้านอาหารในสิงคโปร์จะไม่ได้มีข้อกำหนดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ แต่สิงคโปร์ก็ได้เชื่อว่าเป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับโลก ที่สำคัญพนักงานเสิร์ฟส่วนใหญ่ต้องจ้างแรงงานต่างชาติ คนสิงคโปร์ไม่นิยมที่จะทำอาชีพเด็กเสิร์ฟ เพราะต้องยืนนาน บริการลูกค้า ทำงานแต่เช้ายันดึก

รวมถึงการที่รัฐบาลสิงคโปร์เข้มงวดมากในเรื่องคุณสมบัติ “พ่อครัว” ซึ่งมีกฎระเบียบหลายอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่านี้ จึงต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงมาก ยังไม่รวมเรื่องเค่าเช่าพื้นที่ในสิงคโปร์ที่ถือว่าโหดหินส่วนใหญ่มักเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า 3-6 เดือน ยังไม่รวมค่าตกแต่งร้าน

ราคาโดยประมาณของร้านอาหารแบบคีออสเล็กๆ ประมาณ 80,000 – 600,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,800,000 – 13,000,000 บาท ( 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ = 22.96 บาท)และถ้าเป็นร้านอาหารที่ใช้พื้นที่มากกว่านี้ ต้นทุนก็จะยิ่งสูงขึ้น

2.ต้องขอใบอนุญาตอย่างถูกต้อง

ร้านอาหารหลายแห่งของไทยในสิงคโปร์ที่ไม่ทราบความสำคัญของเรื่องนี้ ทำให้ดำเนินธุรกิจที่ขัดแย้งกับกฏหมาย ซึ่งใครที่คิดจะเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์แนะนำให้ศึกษาข้อมูลจาก EnterpriseOne (eresources.nlb.gov.sg)

ที่เป็นเว็บไซต์ของรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อดูว่าธุรกิจที่จะดำเนินการต้องขอใบอนุญาตประเภทใด ทั้งนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนกอาหารจะต้องมีการเข้าอบรม และต้องสอบให้ผ่านคอร์สสุขอนามัยด้านอาหาร (Food Hygiene Course) ก่อนที่จะไปลงทะเบียนกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป

14

ภาพจาก www.facebook.com/ThaiExpressSG/

3.ทำเลต้องอยู่ในเมืองเท่านั้น

ความที่สิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีความเติบโตอย่างรวดเร็ว สังคมเมืองจึงเป็นศูนย์รวมของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว มากกว่าตามแหล่งที่อยู่ห่างไกลออกไป แต่พื้นที่เหล่านี้ยิ่งทำเลดี ค่าเช่ายิ่งแพง เช่น บนถนนออร์ชาร์ด หรือในห้างสรรพสินค้าสำคัญ

ซึ่งการลงทุนก็ต้องคำนวณในเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่จะยอมลงทุนเพราะมองเห็นศักยภาพในการซื้อที่ขชัดเจน เช่น ร้าน Bangkok Jam ในตึก Grand Singapura มียอดขายต่อวันเฉลี่ย 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ประมาณ 229,600 บาท (1 ดอลลาร์สิงคโปร์ = 22.96 บาท) หรือตกประมาณเดือนละ 150,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 3,444,000 บาท) ซึ่งในความเป็นจริง

แม้เราจะรู้ว่าสิงคโปร์คือเมืองท่องเที่ยว แต่การจะเปิดร้านอาหารแล้วหวังดึงรายได้จากนักท่องเที่ยวเป็นแนวคิดที่ผิดสิ่งสำคัญคือต้องพยายามดึงรายได้จากคนในท้องถิ่นให้มาทานอาหารเป็นประจำจะสร้างรายได้ที่ดีกว่าพึ่งพานักท่องเที่ยว

9

ภาพจาก www.facebook.com/SiamKitchen.sg/

4.รู้วิธีการนำ “พ่อครัว” คนไทยมาทำงาน

ด้วยชื่อว่าร้านอาหารไทยพ่อครัวก็ต้องเป็นคนไทย แต่ใช่ว่าจู่ๆจะพาใครไปเป็นพ่อครัวก็ได้ ในสิงคโปร์เขามีกฎ Employment Act ที่ออกมาเมื่อปี 2555 ที่แบ่งกลุ่มลูกจ้างเป็น 3 กลุ่มตามระดับรายได้คือ

  1. กลุ่มอาชีพ Skill professionals เช่นวิศวกร แพทย์ การศึกษาจบปริญญาตรีขึ้นไป รายได้มากกว่า 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จะได้รับใบอนุญาต E Pass และไม่มีกำหนดโควตา
  2. กลุ่มSemi – Skill professionals เช่นช่างเทคนิค เชฟ ผู้จัดการ ที่จบอนุปริญญาตรีขึ้นไปและมีประสบการณ์ทำงานตามที่กำหนด รายได้มากกว่า 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์ ได้รับใบอนุญาต S Pass และมีโควตาไม่เกินร้อยละ 15 ของพนักงานทั้งหมด และต้องเสียภาษีแรงงานต่างด้าวประมาณ 500 ดอลลาร์สิงโคโปร์ต่อคน
  3. กลุ่มUnskill professionals เช่นแรงงานทั่วไปไม่กำหนดระดับการศึกษา รายได้น้อยกว่า 2,200 ดอลลาร์สิงคโปร์

ซึ่งพ่อครัวจากเมืองไทยจะทำงานในสิงคโปร์ได้มี 2 ทางเลือกคือ E Pass และ S Pass แต่ส่วนใหญ่จะเลือกพ่อครัวในระดับ S Pass ที่มีข้อดีคือราคาจ้างที่น้อยกว่า แม้จะต้องแลกกับความยุ่งยากในการต่อใบอนุญาต

หรือเรื่อโควตาที่กำหนด และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ “การสับเปลี่ยนกุ๊กไปมาในแต่ละสาขา” ที่สิงคโปร์ถือว่าเรื่องนี้เป็นการขัดต่อกฏหมายหากตรวจพบอาจมีปัญหาตามมาภายหลังได้

สรุป 6 ขั้นตอนคร่าวๆในการเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์

หลังจากทราบแนวทางเบื้องต้น ก็เชื่อว่าหลายคนมองภาพไม่ออกว่าเอาจริงๆ แล้วจะต้องไปเดินเอกสารที่ไหนอย่างไรให้เปิดร้านได้ ลองมาดูสรุปคร่าว ๆให้มองเห็นภาพดังนี้

1.เลือกว่าจะลงทุนเองหรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น

8

ภาพจาก www.facebook.com/SiamKitchen.sg/

สิ่งสำคัญคือการไปสำรวจลู่ทางด้วยตัวเอง รวมถึงการรับคำแนะนำจากบริษัทที่ปรึกษา แล้วนำมาประเมินความเป็นไปได้และตัดสินใจว่าจะลงทุนเองทั้งหมดหรือลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น

2.การยื่นเอกสาร

7

ภาพจาก www.facebook.com/balithaisingapore/

ผู้ประกอบการต้องยื่นเอกสารเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อขออนุมัติดำเนินธุรกิจและขอจดทะเบียนชื่อกิจการกับ ACRA (Accounting and Corporate Regulatory Authority) ซึ่ง ACRA ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 14-60 วัน

โดยผู้ประกอบการจะจัดตั้งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สำนักงานทนายความในสิงคโปร์เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนบริษัท และเมื่อได้รับอนุญาตจดทะเบียนชื่อกิจการแล้ว มีเวลา 2 เดือนในการยื่นขอจดทะเบียนบริษัทกับ ACRA

3.มีการส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงานและกระทรวงการสิ่งแวดล้อม

5

ภาพจาก www.facebook.com/balithaisingapore/

เมื่อ ACRA อนุมัติจดทะเบียนกิจการแล้ว จะทำการส่งแบบฟอร์มการยื่นขอจดทะเบียนไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อขออนุญาตประกอบธุรกิจ พร้อมกับส่งแบบฟอร์มไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อขออนุญาตนำแรงงานไทยเข้ามาทำงานในสิงคโปร์

ทั้งนี้หากมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า ก็จะต้องขอใบอนุญาตนำเข้าส่งออกจาก International Enterprise Singapore และภายหลังจากได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานต่างๆเหล่านี้ บริษัทจึงจะสามารถเปิดดำเนินกิจการได้

เราจะเห็นได้ว่าขั้นตอนต่างๆ ของการขออนุญาตนั้นไม่ใช่เรื่องที่ใครๆ คิดจะทำก็ทำได้ หากคิดจะเปิดร้านอาหารไทยในสิงคโปร์ เราต้องมีการศึกษาและลู่ทางหรือยิ่งมีคนรู้จักในสิงคโปร์ก็จะช่วยทำให้ธุรกิจง่ายขึ้น

หลายคนเลือกลงทุนร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่นก็เพราะการเดินเรื่องและเอกสารจะราบรื่นง่ายกว่า แม้ดูภาพรวมรายได้จะค่อนข้างน่าพอใจแต่ก็มีหลายเรื่องที่ต้องรู้และทำความเข้าใจไว้ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าสมกับที่ตั้งใจไว้ก็ได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2ZvO0u6

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3iWc96q

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด