Retail Design แตกต่างจากงานออกแบบอื่นอย่างไร?

วันนี้ขอเล่าเรื่องการทำงานของบริษัท ES Design ของผม เป็นการแชร์ให้ฟังกันนะครับ ปัจจุบัน เรารับเฉพาะงานออกแบบอย่างเดียว และเป็นการออกแบบงาน Retail โดยเฉพาะ ถือเป็น 90เปอร์เซ็นต์ของงานในออฟฟิศครับ ครั้งที่แล้ว ผมคุยกันในเรื่องแบรนด์และการออกแบบไปแล้ว

แล้วงานออกแบบ Retail มันต่างจากอย่างอื่นอย่างไร จริงๆเราก็มีงานออกแบบบ้าน ออฟฟิศ และโรงแรม รวมถึง ผับ อยู่ด้วย

การออกแบบร้าน Mister Donut ทุกจุดคือการออกแบบ Retail Design
การออกแบบร้าน Mister Donut ทุกจุดคือการออกแบบ Retail Design

พูดถึงกรณีออกแบบบ้าน ผมเคยออกแบบบ้านอยู่งานนึงครับ ใช้เวลาออกแบบถึง สองปี ด้วยความต้องการของลูกค้าจะมีความชอบ มีการเปลี่ยนแปลงที่ปรับเปลี่ยนไป ซึ่งผมเข้าใจได้ดีครับ และค่อนข้างตามใจลูกค้าในกรณีนี้ ซึ่งงานออกแบบRetail มันต่างกันครับ เราต้องออกแบบให้มัน”ใช่” ไม่ได้เน้น “ชอบ”ครับ รวมถึง ระยะเวลาที่จำกัด ยิ่งเสร็จเร็ว ยิ่งขายเร็วยิ่งได้รายได้เร็ว ถูกหรือไม่ครับ

ผมบอกหลายๆคนอยู่เสมอครับ ว่านักออกแบบ retail ก็เหมือนหมอกระดูก หลายๆครั้งลูกค้ากระดูกหักแต่ใช้หมอสิวมารักษา มันก็ได้ครับ แต่ งานรีเทลมันมีเรื่องเฉพาะทางมากกว่านั้นครับ

56

Retail Design งานที่ใช่ ของนักออกแบบ

มันคือการผสมกันระหว่างข้อมูลการตลาด แบรนด์ งบประมาณ เทคนิคการก่อสร้าง และ การบริหารจัดการ หรือ เอาเข้าจริงมันเริ่มต้นตั้งแต่ ทำเล ครับ หลายครั้งที่ผมบริการลูกค้าในปัจจุบัน เราไปช่วยตั้งแต่ดูทำเลครับ โดยเฉพาะที่จะต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า ทำเลบางทีก็เหมาะกับเเค่บางอย่าง

ดังนั้น เราจึงต้องวิเคราะห์ก่อนว่า แบรนด์เราเป็นอย่างไร ลูกค้าเราเป็นใคร และทำไมต้องมาซื้อของที่เราด้วย เมื่อได้ดังนั้นแล้ว จึงรู้ได้ว่า ทำเลนั้นเหมาะหรือไม่อย่างไรกับบแบรนด์ของเราครับ

ป้าย หรือ สัญลักษณ์ คือภาพจำแบรนด์ของคุณ
ป้าย หรือ สัญลักษณ์ คือภาพจำแบรนด์ของคุณ

เรื่องเทคนิคการก่อสร้างเรื่องนี้หลายครั้ง ที่เราคิด เราต้องคิดเสมอด้วยว่าคนสร้าง จะสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร ในราคาเท่าไหร่
หลายครั้งที่ผมต้องถกกับฝ่ายอื่นๆในเรื่องการดำเนินการให้การออกแบบนั้นๆมันเสร็จ ซึ่งเรื่องนี้ มันมีผลไปถึงการบริหารการจัดการการก่อสร้างให้เสร็จตามเวลากำหนด และ ในงบประมาณที่ไม่เกินจากงบมากจนเกินไป

การทำความเข้าใจเรื่องแบรนด์

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆครับ แบรนด์เรามีจุดเด่นอย่างไร อะไรเป็นจุดแข็ง อะไรเป็นจุดขาย อะไรที่ทำให้ลูกค้าจำเราและเลือกเรา อะไรที่ไม่ใช่เรา และธุรกิจเราเหมาะกับการดำเนินการแบบใด ธุรกิจบางอย่างการทำร้านค้า ควรเน้นการเป็นร้านค้าปิด ร้านบางร้านเหมาะกับพื้นที่เปิด ร้านค้าพื้นที่เปิด การออกแบบให้เด่นอย่างไร เน้นให้ลูกค้าเห็นอะไร การให้โลโก้เป็นอย่างไร
สุดท้าย “ภาพจำ” ของแบรนด์เรา เป็นอย่างไร

เก้าอี้นั่ง ออกแบบให้เข้ากับ theme ของร้าน
เก้าอี้นั่ง ออกแบบให้เข้ากับ theme ของร้าน

ในเมืองไทยนั้น เราจะเห็นได้ว่า บ้านเรานั้น มีแบรนด์ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในตลาดบ้านเรามากมาย ถึงแม้หลายๆแบรนด์จะแข็งแรงมากในต่างประเทศ สังเกตหรือไม่ครับว่า มันไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นักในบ้านเรา

นั่นคือ การบริหารแบรนด์ ให้เหมาะสมกับตลาดในบ้านเราจึงมีความสำคัญมาก และบางครั้งเป็นคนละเรื่องกับตลาดในต่างประเทศ
จากบทความครั้งที่แล้ว ทั้งหมดนี้ จึงเห็นว่า Retail Design จึงเป็นฟังเฟืองเล็กๆที่เข้ามาสอดประสานกับเรื่องทั้งหมดนี้

เห็นได้หรือไม่ว่า Retail Design แตกต่างจากงานด้านอื่นๆอย่างไร และเห็นได้หรือไม่ครับว่า การออกแบบที่ “ใช่” มันถึง เป็นคนละเรื่องกับที่ “ชอบ” ครับ

 

ขอบคุณรูปภาพจาก www.facebook.com/EsDesign.RetailAndInterior