Inside…Jiffy

จิฟฟี่ หรือ Jiffy หนึ่งธุรกิจค้าปลีกของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม ปตท.ในอนาคต นอกจากการขายน้ำมัน จิฟฟี่เป็นร้านสะดวกซื้อขนาดใหญ่ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากกว่า 5,000 รายการ ตั้งแต่อาหารพร้อมทานจานด่วน ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม สินค้าเบ็ดเตล็ด

ไปจนถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ และสิ่งของจำเป็นในการเดินทาง บริษัทฯ ได้ปรับปรุงภาพลักษณ์ร้านค้า ด้วยการออกแบบพัฒนารูปแบบร้านจิฟฟี่ ทั้ง 150 สาขา ให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และขยายธุรกิจร้านจิฟฟี่ไปยังพื้นที่ต่างๆ นอกสถานีบริการน้ำมัน โดยจะพัฒนารูปแบบร้านจิฟฟี่ในลักษณะโมเดลที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ร้านจิฟฟี่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกันให้ได้มากที่สุดอีกด้วย

Inside

ภาพจาก bit.ly/36ryfcz

ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่เผยโฉมครั้งแรกในปี 2536 ในฐานะธุรกิจลูกของปั๊มน้ำมันเจ็ท ที่ดังเปรี้ยงปร้างในสมัยก่อน ด้วยความใหม่สด สนุกสนาน และสว่างไสว แต่อีก 14 ปีต่อมา พอเข้าสู่ปี 2550 บริษัทแม่ “คอนอโค” ก็ตัดสินใจขายธุรกิจเจ็ทและจิฟฟี่ทิ้ง ซึ่งทางกลุ่ม ปตท. ที่มีแผนจะสร้างปั๊มขนาดใหญ่ 200 แห่งพอดี

โดยกลุ่ม ปตท. เสนอตัวเข้าประมูล และชนะ 2 คู่แข่งอย่าง เชลล์ และปิโตรนาส ทำให้ดีลครั้งนั้นสร้างความพอใจให้กับกลุ่มคอนอโค ที่สามารถขายกิจการที่ไม่สามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทออกไปได้ ขณะที่ ปตท. ไม่ต้องเสียเวลาในการหาพื้นที่และสร้างปั๊มน้ำมันใหญ่ แต่ปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถกลายเป็นผู้นำตลาดเต็มตัว

18

ภาพจาก bit.ly/2NTbFn0

หลายคนอาจมองว่าจิฟฟี่เองเป็นเหมือนคอนวีเนียนสโตร์ธรรมดา มีเพียง 149 สาขาในเวลานี้ตามจำนวนปั๊ม ปตท. ที่ซื้อมาจากปั๊มเจ็ทนั่นเอง และมีอีก 6 สาขาที่อยู่นอกปั๊ม ทุกวันนี้สัดส่วนอาหารที่ขายในจิฟฟี่ยังไม่ถึง 80% แม้ตั้งเป้าหมายว่าจากนี้จะเพิ่มรวมทั้งหันมาเน้นจำหน่ายอาหารพร้อมปรุงมากขึ้นจากเดิม 30-40% เป็น 70% เรื่องอาหารจึงยังไม่โดดเด่นเท่ากับร้านเซเว่นฯ

แต่ต้องยอมรับว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของปั๊ม ปตท. ที่เป็นเจ็ทเดิมที่โดดเด่นคือ เรื่องของห้องน้ำที่มีความสะอาด หรืออาจกล่าวได้ว่าเข้าห้องน้ำเป็นหลัก มาซื้อของกินที่จิฟฟี่เป็นรอง อีกประการคือ จำนวนสาขาของเซเว่นฯ ใน ปตท.มากกว่า 1,400 สาขา หากจิฟฟี่จะเข้ามาเสียบแทน แม้ว่าจะมีพื้นที่อยู่แล้วก็ตามไม่ง่ายนัก เพราะจะต้องลงทุนแบบรวดเร็ว ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร

แม้ว่าแผนช่วง 5 ปีจากนี้ของ OR ตั้งแต่ปี 2561-2565 เดิมได้มีเตรียมงบประมาณ 11,000 ล้านบาท เพื่อขยายปั๊มน้ำมัน ปตท. ราว 70% ของงบลงทุน วางเป้าหมายขยายปั๊มน้ำมัน ปตท.-จิฟฟี่ ปีละ 6 สาขา เพื่อให้ครบ 200 สาขา ส่วนใหญ่จะเป็นปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ พื้นที่ 6-7 ไร่ เพื่อต้องการปลดล็อกขนาดพื้นที่ร้านจิฟฟี่ให้ใหญ่กว่า 279 ตารางเมตร

17

ภาพจาก bit.ly/39CcngN

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวว่า ปตท.อาจเขี่ยเซเว่นฯ ออกจากปั้ม และหากมองเกมรุกของจิฟฟี่ ก็น่าจะเข้าทางที่ ปตท.อาจจะไม่ต่อสัญญากับทางเซเว่นฯ เมื่อครบสัญญาจากนี้อีก 6 ปี โดยปตท.มีแผนการลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้า (DC) ที่วังน้อย

จากเดิมที่เช่าที่ดินทำศูนย์กระจายสินค้าที่ปทุมธานี แผนการเร่งเปิดปั๊มน้ำมัน ปตท.บนพื้นที่ 6-7 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดใหญ่จำนวน 30 สาขา และส่วนใหญ่จะเปิดเป็นร้านจิฟฟี่โฉมใหม่ เพื่อหลีกหนีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปิดได้ตามเงื่อนไขลิขสิทธิ์กับทางเซเว่นฯ เดิม เพราะมีพื้นที่ปั๊มมากกว่า 4 ไร่ และมีพื้นที่ทำคอนวีเนียนสโตร์ได้มากกว่า 279 ตารางเมตร

ทั้งนี้ การเร่งขยายสาขาจิฟฟี่นอกปั๊มน้ำมัน ปตท. เพิ่มขึ้น ก็ดำเนินการควบคู่ไปด้วย ซึ่งไม่ใช่การขยายธุรกิจในไทยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสยายปีกไปต่างประเทศด้วยโมเดลการขายแฟรนไชส์

16

ภาพจาก bit.ly/3oD6p3B

สิ่งที่สนับสนุนว่าจิฟฟี่จะเสียบแทนเซเว่นฯ คือ ทุกวันนี้ ปตท. เริ่มลงทุน บริหารจัดการ และซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์เองทั้งหมดแล้วในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟที่ตัดสัมพันธ์พันธมิตรเริ่มแรกอย่าง บ้านใร่กาแฟ เพื่อสร้างแบรนด์อเมซอนขึ้นมาเอง

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าอเมซอนเป็นเชนร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในไทย ด้วยเครือข่ายกว่า 1,000-1,500 สาขา ทั้งในปั๊ม ปตท. และนอกปั๊ม ปตท. ซึ่งมากกว่าเชนยักษ์อย่างสตาร์บัคส์อีกด้วยที่มีสาขาในไทยประมาณ 300 กว่าสาขาเท่านั้นเอง


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3reHSUc

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช