7 เรื่องควรรู้ก่อนทำธุรกิจร้านรองเท้า

สิ่งสำคัญสำหรับใครก็ตามที่อยากมี ธุรกิจของตัวเอง ควรเริ่มจากความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจนั้นๆ ว่ากันว่าธุรกิจที่ดีควรเริ่มมาจากความรู้สึกที่ดีของผู้ลงทุน และเป็นสิ่งที่เรารัก

สิ่งที่เราสนใจก็จะช่วยให้ธุรกิจนั้นเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้นในปัจจุบันมีนักธุรกิจหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะในสินค้าพวกแฟชั่นอย่างรองเท้าที่ดูว่าจะเป็นตลาดที่ไม่มีวันตายแม้ความต้องการจะจำกัดอยู่ในกลุ่มของผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้ธุรกิจนี้น่าลงทุนและหลายคนก็มองว่าเป็นธุรกิจที่น่าจะเติบโตได้

และเพื่อให้การเริ่มต้นทำธุรกิจร้านรองเท้าของทุกคนก้าวย่างอย่างแข็งแกร่ง www.ThaiSMEsCenter.com จึงมี7เรื่องควรรู้ก่อนการทำธุรกิจรองเท้ามาฝากกันน่าจะมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นธุรกิจนี้

ธุรกิจของตัวเอง

1.รู้ขั้นตอนการผลิตรองเท้า

ก่อนจะเริ่มต้นทำธุรกิจรองเท้า สิ่งแรกเราควรรู้ก่อนว่า กว่าจะมาเป็นรองเท้าได้คู่หนึ่งต้องผ่านขั้นตอน วิธีการอะไรบ้าง ในรองเท้าหนึ่งข้าง มีส่วนประกอบหลักสำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่หุ้มห่อเท้าด้านบนที่เรียกว่า “หน้ารองเท้า” หรือ upper พื้นรองเท้าที่ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักที่ดีนอกจากนี้ก็มีส่วนประกอบหลายชั้น เรียงลำดับจากล่างขึ้นบน

ได้แก่ พื้นรองเท้า ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน เพื่อปกป้องเท้า, แผ่นรองพื้น หรือ นิยมเรียกว่า “เต้” ทำหน้าที่ยึดระหว่างหน้ารองเท้าและตัวพื้น และชั้นสุดท้าย คือ ฟองน้ำ เพื่อเพิ่มความนุ่มสบายระหว่างสวมใส่

โดยการจะทำรองเท้าออกมาได้คู่หนึ่ง ต้องผ่านการออกแบบวาดแพทเทิร์นเหมือนกับการวาดแพทเทิร์นเสื้อผ้า เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการผลิตจริงก่อน แต่ด้วยลักษณะของรองเท้าที่เป็นรูปทรงสามมิติ ไม่เหมือนเสื้อผ้าที่เป็นสองมิติ ขั้นตอนการสร้างแพทเทิร์นของรองเท้า จึงมีขั้นตอนพิเศษกว่าการออกแบบวาดรูปอยู่บนกระดาษเฉยๆ ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างแพทเทิร์นรองเท้าแต่ละแบบขึ้นมาได้ ก็คือ หุ่นรองเท้านั่นเอง

2.รู้แหล่งรวมวัสดุอุปกรณ์รองเท้า

เมื่อถึงรู้ขั้นตอนการผลิตรองเท้าแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องรู้ คือ แหล่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะนำมาประกอบขึ้นเป็นรองเท้าคู่หนึ่ง ซึ่งแหล่งขายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับรองเท้าแหล่งใหญ่นั้นอยู่ที่ย่านเจริญรัถ แถววงเวียนใหญ่ เป็นที่รู้กันดีว่าหากใครคิดอยากผลิตรองเท้า

หรือทำเครื่องหนังต่างๆ ต้องมาที่นี่ มีให้เลือกครบตั้งแต่หุ่นรองเท้า หนังแท้ หนังเทียม ผ้า อุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ที่จะนำมาใช้ทำหน้ารองเท้า ไปจนถึงพื้นรองเท้า เป็นอีกแหล่งที่ผู้เริ่มต้นทำรองเท้าควรไปเดินศึกษาดู แต่หากธุรกิจเติบโตขึ้นมาระดับหนึ่ง หรืออยากได้รูปแบบรองเท้าที่มีความเฉพาะเจาะจงในแบรนด์ของตัวเอง

นอกเหนือจากที่เจริญรัถผู้ประกอบการยังสามารถตามหาโรงงานผลิต เพื่อผลิตชิ้นส่วนต่างๆ นำมาใช้เองได้ด้วย เช่น โรงงานผลิตหุ่นรองเท้า โรงงานผลิตพื้นรองเท้า ซึ่งสามารถเสิร์ชหาได้ไม่ยากจากในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะสามารถสร้างจุดเด่นหรือเอกลักษณ์ให้กับรองเท้าได้ด้วย

jj11

3.ตัดสินใจให้ดีว่าจะลงทุนผลิตเอง หรือจ้าง OEM ดี

สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจเลือก คือ รูปแบบการผลิต ซึ่งมีให้เลือก 2 วิธี คือ การจ้างช่างฝีมือ เพื่อลงทุนผลิตเอง กับการจ้างโรงงานผลิตให้แบบครบวงจร หรือที่เรียกว่าOEM ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

การเริ่มต้นจากจ้างผลิต OEM อาจสะดวกและง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากมีผู้ชำนาญกว่ามาช่วยดูแลการผลิตให้ สามารถบริหารจัดการได้ง่ายกว่า ไม่ต้องไปตามหาแหล่งผลิตต่างๆ ด้วยตัวเอง

ไม่ต้องปวดหัวกับการดิวกับช่างโดยตรง แต่การใช้ OEM ต้องใช้เวลาผลิตนาน เนื่องจากไม่ได้มีเราเจ้าเดียวที่จ้างผลิต บางครั้งหากเผื่อสต็อกไม่ดี อาจไม่ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ยังไม่นับรวมราคาการผลิตที่สูงกว่าการลงทุนผลิตเองแน่นอน

ส่วนการจ้างช่างผลิตเอง อาจมีความยุ่งยากกว่าในการจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเลือกซื้อวัสดุ การพูดคุยกับช่างผลิต การควบคุมคุณภาพ แต่อาจทำให้ผู้ประกอบการได้รายละเอียดรองเท้าที่ตรงใจกว่า หากมีแบบอะไรใหม่ๆ ก็สามารถให้ลองขึ้นตัวอย่างได้ในทันที รวมถึงยังสามารถผลิตงาน แก้ไขงานเฉพาะหน้าได้อีกด้วย เช่น บางครั้งลูกค้าสั่งออร์เดอร์พิเศษมา ก็สามารถทำได้ในทันที

4.เริ่มต้นการจำหน่ายด้วยปริมาณสินค้าไม่ต้องมาก

การเริ่มต้นจำหน่ายก็คือการลองตลาด ดังนั้นไม่ควรมีสินค้าในปริมาณมาก เลือกผลิตหรือเลือกซื้อมาประมาณสัก 4 แบบ จำนวนสัก 200 คู่สำหรับการเริ่มต้น อย่าลืมให้แต่ละแบบนั้นคละสีกัน รวมถึงต้องมีหลากหลายไซด์ด้วย

โดยไซด์มาตรฐานประมาณ 35-41 ควรมีในปริมาณที่มากกว่าไซด์อื่น และต้องไม่ลืมพวกไซด์สำหรับกลุ่มคนหารองเท้ายาก และการทดลองขายเบื้องต้นนี้ก็ต้องเก็บข้อมูลลูกค้าความต้องการรองเท้าในแบบต่างๆ ขนาด สี ไซด์ เพื่อจะได้จ้างผลิตหรือทำการผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการได้

jj8

5.รู้จักการบริหารจัดการสต็อคสินค้า

ซึ่งการจัดทำสต็อก ถือเป็นปัญหาหนึ่งสำหรับการทำรองเท้า ต้องจัดการสต็อกดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจไม่เพียงพอหรือเกิดสต็อกจมได้ วิธีจัดสต็อคนี้มักทำได้ดีหลังจากที่เปิดขายได้สักระยะซึ่งจะทำให้เจ้าของกิจการรู้ว่าไซส์ไหนขายดี ลูกค้าชอบรองเท้าทรงไหน เป็นข้อดีที่เราได้ลองตลาดมาก่อน

6.เน้นทำการตลาดแบบไม่ต้องมีต้นทุนมาก

รองเท้าก็ถือเป็นสินค้าแฟชั่นที่จำเป็นต้องมีการโฆษณาให้คนรู้จักและเห็นถึงรูปทรง ดีไซน์ที่น่าสนใจ ในยุคนี้การทำร้านรองเท้า สื่อการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากที่สุดคือโฆษณาออนไลน์ที่เราสามารถทำได้เองทั้งเฟสบุ๊ค อินสตราแกรม

ที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก รูปแบบการโฆษณาก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคนว่าจะมีการโพสต์ขายอย่างไรให้คนสนใจได้มากที่สุด หรือถ้าเรามีพรีเซนเตอร์ที่น่าสนใจก็จะทำให้รองเท้าของเราเป็นสินค้าที่น่าติดตามมากขึ้นด้วย

jj7

7.เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเล็กไปหาใหญ่

ในช่วงเริ่มต้นเราอาจทำร้านเป็นแบบป๊อบสโตร์เพื่อเช็คลูกค้าและความต้องการของลูกค้าหลีกเลี่ยงการเปิดหน้าร้านซึ่งถ้าไม่ใช่ที่ของเราเองก็จะมีต้นทุนค่าเช่าที่เข้ามา

หากวันใดที่กิจการของเราเริ่มปล่อยสินค้าได้มากขึ้น ก็ค่อยนำมาสู่การจัดหาหน้าร้านเพื่อเป็นอีกช่องทางในการขายสินค้าทั้งนี้เราอาจหาร้านตัวแทนจำหน่ายร่วมด้วยก็จะช่วยเพิ่มช่องทางการขายในกรณีที่เราเป็นผู้ผลิตเองก็จะทำให้มียอดการผลิตเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

หลากหลายวิธีการของทำธุรกิจคือการวางแผนที่ต้องคิดให้ดีก่อนเริ่มทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาหรือแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน รวมถึงการทำธุรกิจก็ควรมั่นใจในเรื่องของเงินทุนที่ต้องมีสำรองเอาไว้อย่างเหมาะสม

ในยุคที่การแข่งขันด้านการตลาดสูงมาก เรายิ่งต้องเน้นการเริ่มต้นธุรกิจของเราให้รัดกุมเพื่อให้มั่นใจว่าจะเดินหน้าในเส้นทางนี้ได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด