4 วิธีพัฒนารายการทีวียุคใหม่ ยิ่งแปลกยิ่งมีกำไรเพิ่มขึ้น

ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ ทีวีดิจิตอล ขึ้นมาก็รู้สึกได้ว่าการรับชมของคนดูนั้นเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่ผูกขาดช่องโทรทัศน์เพียงไม่กี่สถานีบรรดาบริษัทผู้ผลิตรายการต่างก็ต้องเลือกหาช่องที่น่าสนใจในการลงทุนทำให้บางครั้งเกิดการผูกขาดและความน่าสนใจก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้

แต่เมื่อกลายเป็นทีวีดิจิตอลที่บริษัทผู้ผลิตรายการสามารถมีช่องทีวีของตัวเองทำให้เกิดความหลากหลายในการรับชมมากขึ้น ในด้านหนึ่งอาจเป็นผลดีของผู้บริโภคแต่ในทางกลับกันช่องทีวีเกิดใหม่เหล่านี้ก็ต้องสรรหากลยุทธ์มานำเสนอให้คนสนใจและอยากรับชมรายการมากขึ้นด้วย

www.ThaiSNEsCenter.com มองว่าการทำธุรกิจสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบันจะมุ่งเน้นแต่คอนเทนต์เดิมๆนั้นคงไม่ได้สิ่งสำคัญคือต้องหาลูกเล่นใหม่ๆมานำเสนอให้ผู้บริโภคได้เห็นความแตกต่างรวมถึงต้องรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจซึ่งน่าจะเป็นผลดีกับธุรกิจต่อจากนี้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ในแง่ของการพัฒนาสื่อทีวีต่อจากนี้ก็มี 4 ข้อน่าสนใจที่ใครทำธุรกิจแนวนี้ศึกษาเอาไว้ก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

1.เม็ดเงินโฆษณาเพิ่ม แต่ต้นทุนก็เพิ่มเช่นกัน

ทีวีดิจิตอล

แม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีจะยังโตต่อ แต่รายได้และผลกำไรของช่องทีวีกลับมีการเติบโตที่สวนทาง เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการเริ่มต้นของทีวีดิจิตอล ทำให้ทีวีทุกช่องต่างเร่งลงทุนด้านคอนเทนต์เพื่อแย่งชิงคนดูให้ได้มากที่สุด

เช่น การซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาดังและซีรีย์จากต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนเฉลี่ยในปี 2016 พุ่งขึ้นกว่า 70% จากปีก่อนหน้า ในทางกลับกัน เม็ดเงินโฆษณาที่ช่องทีวีส่วนใหญ่ได้รับกลับไม่สูงอย่างที่คาด โดยช่องทีวีรายใหม่สามารถดึงเม็ดเงินโฆษณามาได้เพียงช่องละ 0.3-7% ของงบโฆษณาทั้งหมด

เนื่องจากรายการยังไม่ได้รับความนิยมจากคนดูในวงกว้าง ในขณะที่ช่องทีวีรายเดิมก็ถูกแย่งฐานคนดูไปบางส่วน จึงไม่สามารถคว้าเม็ดเงินโฆษณาได้มากอย่างเคย ส่งผลให้ในภาพรวม ช่องทีวีกว่า 2 ใน 3 ต้องเผชิญกับภาวะขาดทุน และช่องทีวีบางรายอาจใช้เวลามากกว่า 5 ปีในการพลิกฟื้นกลับมามีกำไร

ยิ่งไปกว่านั้น ช่องทีวียังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาคอนเทนต์ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายการที่กวาดเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาได้สูงสุดมักเป็นละครฟอร์มยักษ์ที่มีพระนางแม่เหล็กยกตัวอย่าง ละครช่อง 3 เรื่องนาคีที่ทำเรตติ้งตอนจบได้สูงถึง 17.3 หรือคิดเป็นยอดคนดูมากถึง 11.5 ล้านคน

2.เมื่อสูตรสำเร็จหายไป ความแปลกใหม่ คือคำตอบ

nj22

ภาพจาก goo.gl/7NUwXA

ขณะที่ละครเริ่มซาความนิยมลง รายการเกมโชว์และมิวสิคโชว์อย่าง The Mask Singer ที่ช่องเวิร์คพอยท์นำมาออกอากาศช่วง super prime time (20.00-22.00 น.) กลับเรียกเรตติ้งได้อย่างท่วมท้นถึง 10.93 อีกทั้งยังครองใจคนดูทุกเพศทุกวัย

โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น (10-19 ปี) และวัยทำงาน (30-49 ปี) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่เหนือกลุ่มคนดูละครของช่องคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากคนดูละครส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่เฉพาะคนวัย 40 ปีขึ้นไปเท่านั้น เบื้องหลังความสำเร็จนั้นคือ ความแปลกใหม่ ที่สอดแทรกอารมณ์ขันลงไปในรายการ

อีกทั้งยังเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมได้อย่างดี จนกลายเป็นกระแสปากต่อปากบนโลกออนไลน์และเรียกความสนใจจากผู้ชมรุ่นใหม่ได้ สะท้อนจากรายการตอนแรกใน YouTube ที่มีการแชร์กันต่อมากกว่า 3 หมื่นครั้ง และมียอดเข้าชมรวมสูงถึง 15 ล้านครั้ง แม้ว่ารายการจะออกอากาศไปแล้วกว่า 5 เดือนก็ตาม

3.การสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนดู ในยุคสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตครองเมือง

nj20

ภาพจาก goo.gl/M74mc0

ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ช่องทีวีกำลังเผชิญ จากการสำรวจของ Millward Brown บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ พบว่าคนไทยกว่า 70% รับชมทีวีควบคู่ไปกับการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ สะท้อนให้เห็นว่าคนดูยุคใหม่มีแนวโน้มจดจ่อกับการดูทีวีน้อยลงกว่าในอดีต ส่งผลให้ช่องทีวีมีความจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ

เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ในการรับชมทีวี และดึงดูดให้คนดูติดตามชมรายการตลอดเวลา ในต่างประเทศ ทีวีหลายช่องเริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อต่อยอดประสบการณ์การรับชมทีวี

เช่น แอพ CNN และแอพ BCC iPlayer ที่นอกจากจะมีรายการสดและรายการย้อนหลังให้รับชมเหมือนแอปดูทีวีทั่วไปแล้ว ยังมีเกม โพล และข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการ ณ ขณะนั้น เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมให้แก่ผู้ชม และกระตุ้นให้ผู้ชมอยากดูรายการเหล่านั้นต่อ

4.ต้องรู้จักผสผสานสื่อโทรทัศน์เข้ากับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย

nj21

ภาพจาก goo.gl/LoL3N5

ช่องทีวีควรร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้กับแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อยกระดับประสบการณ์ในการรับชมทีวี ยกตัวอย่างเช่น นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่

เช่น Artificial Intelligence (AI) มาใช้กับแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อพูดคุย โต้ตอบ ให้ข้อมูล ตลอดจนแนะนำรายการอื่นๆ ระหว่างรับชมทีวี ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของรายการทีวีแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรับชมรายการอื่นๆ อีกด้วย

และเชื่อได้ว่าหลังจากนี้ในฐานะของผู้ชมแล้วเราจะได้เห็นรายการทีวีในแบบใหม่ๆที่เราไม่เคยเห็น รวมถึงอาจได้เห็นเทคโนโลยีที่รายการต่างๆจะเอามาใช้ร่วมกับการดูโทรทัศน์เพื่อให้เกิดความน่าสนใจในการรับชมมากขึ้น นั่นเท่ากับว่าเม็ดเงินในการลงทุนเองก็ต้องเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการที่ดีเพื่อไม่ให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมานี้ส่งผลเสียต่อการทำธุรกิจทีวีในอนาคตได้

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด