10 เหตุผลงานฟรีแลนซ์ ไม่รวยอย่างที่คิด!

ยุคนี้มีคนพูดคำว่า “อิสระทางการเงิน” “เป็นนายตัวเอง” ผสมกับโลกแห่งเทคโนโลยีทำให้ใครๆคิดว่า การเป็น “ฟรีแลนซ์” คือเรื่องง่าย นึกจะทำก็ทำได้

แค่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งแล้วลองหางานพิเศษรับจ๊อบมาทำ ไม่เสียงานประจำ แถมมีรายได้เพิ่ม ตามทฤษฏีก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงยิ่งกว่าคือ “คนทำงานฟรีแลนซ์” หลายคนไม่ได้รวยอย่างที่ใจคิด แน่นอนว่ามีคนทำได้แต่สัดส่วนคนที่ทำแล้วไม่ได้ก็มากมายเช่นกัน

www.ThaiSMEsCenter.com ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า EIC (Economic Intelligence Center) เคยทำการวิจัยและพบว่าคนทำงานฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาทมีประมาณ 18% ในขณะเดียวกันคนทำงานฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาทมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น เป็นเรื่องน่าสนใจว่าทำไมบางคนทำได้บางคนทำไม่ได้ อะไรคือปัจจัย ลองไปดูกัน

งานฟรีแลนซ์

ภาพจาก goo.gl/images/WQoY2D

1.งานฟรีแลนซ์ก็มีคู่แข่งเยอะ

จากผลสำรวจของ EIC เช่นกันพบว่าชาวออฟฟิศ 79% อยากเปลี่ยนมาทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นงานฟรีแลนซ์หรือออกมาเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง ที่น่าแปลกใจคือแม้แต่มนุษย์ออฟฟิศที่ได้เงินเดือนสูงๆ

ก็ตอบไปในทิศทางเดียวกันนี้ อย่างกลุ่มที่ได้รายรับมากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน ราว 1 ใน 3 ก็ตอบว่าอยากออกไปทำงานอิสระอย่างเต็มตัวเช่นกัน ในเมื่อมีคนหลายคนกระโดดมาในวงการฟรีแลนซ์ เท่ากับว่าเวทีนี้คู่แข่งก็มากตามไป การจ้างงานจึงมีตัวเลือกมากขึ้นด้วย

2.ตั้งเป้าตัวเลขรายได้มากเกินไป

ข้อมูลจากสำรวจพบว่าคนทำงานฟรีแลนซ์บางส่วนเรียกเงินในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของงานประจำทั่วไป และยังเรียกเพิ่มมากขึ้นทุกปี สิ่งที่คนทำงานฟรีแลนซ์ตั้งเป้าในใจคือ อยากมีรายได้เพิ่มประมาณ 50-70% ของเงินเดือนที่มีอยู่

และตัวเลขที่ตั้งเป้าสูงเกินไปนี้เองทำให้ผู้จ้าง มักมองข้ามและไม่สนใจการจ้างแบบฟรีแลนซ์ หากไม่รีบร้อนหรือเร่งรีบจริงๆ ก็จ่ายงานส่วนนี้ให้กับพนักงานของตัวเองทำดีกว่า ไม่ต้องเสียค่าจ้างแพงขึ้นในยุคที่ธุรกิจต้องประหยัดต้นทุนทุกวิถีทาง

3.ไม่กล้าจะก้าวมาทำฟรีแลนซ์เต็มตัว

คำว่า “กล้าๆ กลัวๆ” คือเหตุผลที่ทำให้รายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์ไม่งอกเงยอย่างที่ควรจะเป็น เหตุผลของคนทำงานประจำคือมั่นคงด้านรายได้ มีสวัสดิการ มีหน้ามีตาในสังคม พอจะเลือกมาทำฟรีแลนซ์ก็เหมือนเหยียบเรือสองแคม

ไม่กล้าจะรับงานมาก เพราะกลัวจะไปกระทบกับงานประจำที่ทำอยู่ หรือบางบริษัทก็มีกฎว่าห้ามรับงานจากภายนอก ก็ยิ่งเป็นการกำหนดกรอบให้คนที่อยากทำงานฟรีแลนซ์ไม่สามารถทำรายได้ตรงตามเป้าที่วางไว้

h3

ภาพจาก goo.gl/images/t9Gzcx

4.มีปัญหาในการพูดคุยกับลูกค้า

เวลาทำงานประจำเราแค่ทำหน้าที่ตามที่กำหนดมา เช่น ถ้าเป็นอย่างโปรแกรมเมอร์ กราฟฟิกดีไซน์ก็ไม่ต้องไปเสนองาน พูดคุย ต่อรองกับลูกค้า หรือถ้าต้องตัดสินใจอะไรสำคัญ ๆ ก็ให้หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจ

โดยที่เราไม่ต้องกังวลถึงความเสียหายที่อาจจะตามมาจากการตัดสินใจนั้น แต่การทำงานฟรีแลนซ์ทุกอย่างจะมาอยู่ที่เราหมด เราจะต้องทำงานคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่นำเสนองานพูดคุยกับลูกค้า

ถ้าเราคือประเภทมีปัญหาในการคุยกับลูกค้า ไม่สามารถตัดสินใจ เสนอไอเดีย หรือมีทางเลือกที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจ รายได้จากการเป็นฟรีแลนซ์เราก็ไม่ตามมา ดังนั้นก่อนจะเริ่มทำฟรีแลนซ์ที่ดีต้องมีทักษะในเรื่องนี้ด้วย

5.เป็นคนเกลียดการแก้ไขงานที่ไม่จบสิ้น

ถ้าคิดว่าการทำงานฟรีแลนซ์ดีตรงที่ “อิสระ ไม่มีหัวหน้ามาคอยคุม” ความคิดนี้คือตัวขัดขวางการสร้างรายได้จากฟรีแลนด์แบบสุดๆ เพราะทุกงานที่เราทำ จะต้องมีการแก้ไขจาก ลูกค้า เพราะฉะนั้นถ้ามาทำฟรีแลนซ์แล้วก็

อย่าลืมตกลงขอบเขตการแก้ไข / จำนวนครั้งที่แก้ไขได้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มทำงาน นับรอบการทำงานทุกครั้ง รวมไปถึงพูดคุยตกลงทำสัญญาก่อนทำงาน เพราะถ้าไม่กำหนดไว้ลูกค้าจะแก้งานแบบไม่จบสิ้น คนที่เป็นฟรีแลนซ์ก็จะเสียเวลากับงาน 1 ชิ้นมากเกินความจำเป็นด้วย

6.เก่งไม่จริง

หลายคนมั่นใจว่าความรู้ที่มีทางใดทางหนึ่งเพียงพอกับการเป็นฟรีแลนซ์ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย เช่น Web Designer ส่วนใหญ่ชอบมองแค่ใช้ Photoshop / Illustrator เป็นก็ทำงานได้แล้ว แต่ที่จริงต้องมีความรู้เรื่อง HTML / CSS

รวมไปถึงการทำเว็บไซต์ด้วยตนเองจาก WordPress ได้ การเป็นฟรีแลนซ์ที่ดีต้องมีทักษะหลายอย่างประกอบกันเพื่อจะได้งานที่มีคุณภาพและไม่จำเป็นต้องไปจ้างคนอื่นมาทำให้ในส่วนที่ทำไม่ได้ จะประหยัดต้นทุนและทำให้มีรายได้เหลือมากขึ้น

h2

ภาพจาก goo.gl/images/nrJxZy

7.ให้เวลาในการทำงานที่น้อยเกินไป

การเป็นฟรีแลนซ์ ต้องระลึกนึกถึงเสมอว่างานจะต้องหนักหนาสาหัสกว่าการทำงานประจำ ยิ่งคนที่มาเป็นฟรีแลนด์เต็มตัวยิ่งจะเจอคำนี้บ่อยขึ้น เราอาจจะต้องทำงานข้ามคืนรวมไปถึงวันหยุดพักผ่อน

เพื่อที่จะให้งานออกมาเสร็จทันตามเวลาส่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโทรศัพท์สายด่วนและอีเมล์จากลูกค้าที่จะโทรมาตามงาน การที่คิดว่าเป็นฟรีแลนด์แล้วมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้นอาจเป็นการกำหนดกรอบรายได้ให้ตัวเองน้อยลงด้วยเช่นกัน

8.ไม่ได้สร้างแรงจูงใจในการทำงาน

เป็นฟรีแลนซ์ไม่มีโบนัส ไม่มีเลื่อนตำแหน่ง ไม่มีเบิกค่ารักษาพยาบาล ดังนั้นถ้าเราทำงานฟรีแลนซ์จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจว่าในแต่ละเดือนเราจะต้องทำอะไร แค่ไหน เพื่ออะไร ไม่ใช่การทำงานไปวันๆ แบบไร้เป้าหมาย

การไม่มีแรงจูงใจทำให้เราไม่มีกรอบที่จะเดินและทำให้เราไม่มีทิศทางของการสร้างรายได้ที่แน่นอน เราควรมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาว และมีสรุปแผนการทำงานว่าเป็นไปตามเป้าหมาย หรือไม่ได้ตามเป้าหมายต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น

9.มีรายได้แต่บริหารเงินไม่เป็น

รายได้ของฟรีแลนซ์นั้นเข้ามาแบบไม่แน่ไม่นอน “ส่งงานวันนี้ ได้เงินเดือนหน้า” รายได้นั้นจึงคาดการณ์ได้ยาก จำนวนที่ได้รับในแต่ละเดือนก็ไม่เท่ากัน บางครั้งก็ได้ไม่ตรงเวลาอีก ทำให้ต้องคิดเยอะก่อนจะใช้เงิน ต้องเผื่อเงินเอาไว้สำหรับเรื่องฉุกเฉินตลอด หากบริหารเงินผิดพลาดอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

h1

ภาพจาก goo.gl/images/fk3QJE

10.ไม่พัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม

อย่าลืมว่าโลกยุคนี้ไม่ใช่เรื่องของคนเก่ง แต่เป็นเรื่องของคนที่เร็วและก้าวทันยุคสมัย ในฐานะฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่ตามเป้าส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ก้าวตามโลกให้ทัน

ยึดติดกับความรู้ที่มีอยู่แบบเดิม ๆ ไม่พัฒนาตัวเองให้ทันคู่แข่ง รวมถึงการมองหาไอเดียในการทำงานที่ต้องมีเพิ่มขึ้น เพื่อการเสนองานกับลูกค้า การย่ำอยู่กับที่ คือเหตุผลที่ทำให้รายได้ของฟรีแลนด์แบบที่เราทำมีแต่ทรงกับทรุดไปเรื่อยๆ

คำว่าฟรีแลนซ์เป็นอีกหนึ่งในทางเลือกการสร้างรายได้ จะเลือกทำเต็มตัวหรือเลือกเป็นงานเสริม ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการวางแผนชีวิตให้ตัวเอง ถ้าเราไม่ใช่ตัวคนเดียว มีครอบครัว มีพ่อแม่ลูกเมียต้องดูแล เราควรเลือกวิธีทำงานที่เหมาะสมกับความอยู่รอด และควรวางแผนอนาคตให้ชัดเจนจะได้ลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/UpshRo

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด