10 เรื่องที่ควรทำถ้าเรา “ตกงาน”

ไม่ใช่เรื่องแปลกในยุคนี้ที่เราจะ “ตกงาน” ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังมีต่อเนื่อง ธุรกิจมากมายได้รับผลกระทบทั้งท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การบิน โรงแรมที่พัก รวมถึงบริษัทหลายแห่งที่รายได้หดหายถึงขั้นต้องลดขนาดองค์กรและจ้างพนักงานออก

ในปีที่ผ่านมาข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมระบุว่าผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้าง มีจำนวน 242,114 คน คิดเป็นร้อยละ 838.35 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ซึ่งมีจำนวน 25,802 คน หลายคนมองว่าการตกงานคือเรื่องใหญ่และชีวิตต่อจากนี้จะทำไงดี www.ThaiSMEsCenter.com มีคำแนะนำสำหรับคนที่ต้องตกอยู่สถานการณ์นี้ จะได้มีไกด์ไลน์ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

ตกงาน

ภาพจาก freepik.com

1.ตั้งสติอย่าตกใจ

บอกว่าไม่ให้ตกใจก็คงจะยากแต่ตกใจแล้วต้องรีบทำใจให้เร็วที่สุด รวมถึงต้องรวบรวมสติให้ตัวเองใจเย็นโดยเร็วที่สุด ไม่ต้องมาเสียเวลางอนง้อหรือร้องไห้ฟูมฟาย การควบคุมตัวเองให้ได้คือคุณสมบัติข้อแรกที่ควรทำในเบื้องต้น

ใช้สติที่มีอยู่ทั้งหมดค่อยๆตั้งหลักว่าเราควรทำอะไรต่อไปหลังจากนี้ เราอาจผิดหวัง ท้อแท้ เสียใจ แต่เมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราแก้ไขอะไรไม่ได้สิ่งที่ทำได้คือพยายามยืนขึ้นใหม่และก้าวไปข้างหน้าให้รวดเร็วที่สุด ฉะนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือสติล้วนๆ

2.รักษาสิทธิที่เราจะต้องได้จากนายจ้าง

ทันทีที่เราถูกเลิกจ้างจากสาเหตุใดก็ตามสิทธิในการเป็นลูกจ้างของเรายังคงมีอยู่และควรใช้สิทธินั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการเซ็นสัญญาทำงานครั้งแรกกฎระเบียบของบริษัทมีไว้อย่างไร ในกรณีที่ถูกเลิกจ้างแบบที่ไม่บอกล่วงหน้า หรือการไล่ออกที่ไม่ใช่เหตุผลอันสมควร เราควรจะได้รับอะไรเท่าไหร่ในการเลิกจ้างดังกล่าว

เราต้องละเอียดในเรื่องนี้เพราะต่อจากนี้เงินที่ได้จากบริษัทที่ไล่เราออกจะกลายเป็นทุนสำคัญในการตั้งต้นใหม่ ยิ่งในบริษัทใหญ่ๆจะมีเงินสะสม เงินกองทุน สวัสดิการของการถูกเลิกจ้าง เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ถึงที่สุดและให้บริษัทจ่ายชดเชยในส่วนที่สมควรจ่ายกับเราโดยเร็วที่สุด

13

ภาพจาก bit.ly/3pvRCbe

3.แจ้งประกันสังคมเพื่อรับสิทธิ

โดยเราต้องแจ้งประกันสังคมเพื่อลงทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วันหลังถูกเลิกจ้าง โดยสิทธิที่เราจะได้รับคือเงินสมทบที่จ่ายมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยเราต้อไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งเพื่อรักษาสิทธิ

ในกรณีถูกเลิกจ้างเราจะได้รับเงินชดเชยไม่เกินปีละ 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ได้รับสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ในกรณีลาออกรหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนไม่เกินปีละ 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย

4.สำรวจหาจุดบกพร่องของตัวเองก่อนเริ่มต้นใหม่

ทันทีที่เรื่องสิทธิของเราได้จัดการเป็นที่เรียบร้อยก่อนจะเริ่มต้นใหม่กับอาชีพใหม่หรือบริษัใหม่ที่เราได้รับโอกาสก่อนหน้านั้นเราเองในฐานะที่เพิ่งออกจากงานมาหมาดๆก็ควรย้อนมองดูตัวเองสักนิดว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต

เรามีความบกพร่องหรือผิดพลาดในการทำงานตอนไหน และอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราโดนไล่ออก อย่ามัวไปมองและตำหนิคนอื่นที่ทำให้โดนไล่ออกเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เมื่อมองเห็นจุดที่ควรแก้ไขในตัวเองแล้วเราก็ต้องพยายามแก้ไขสิ่งบกพร่องที่เรามองเห็นนั้นเพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในการทำงานที่ใหม่ได้อีก

5.ขอบคุณเพื่อนร่วมงานดีๆที่มีอยู่ในบริษัท

ด้วยสายสัมพันธ์ของพนักงานที่บางคนอาจทำงานมานานเป็น 10 ปีหรือมากน้อยกว่านั้นก็ตามแต่เราย่อมมีเพื่อนร่วมงานที่ดีและไม่ดีในระหว่างที่เราทำงานอยู่เมื่อถึงวันที่เราต้องออกจากงาน สิ่งที่เราควรทำคือกล่าวขอบคุณเพื่อนร่วมงานทั้งหลายอาจจะกล่าวขอบคุณโดยตรง หรือส่งไลน์ ไปหา หรือว่าข้อความทางอีเมลล์ก็แล้วแต่ความถนัด

ซึ่งบางทีด้วยสายสัมพันธ์ดีๆที่เรามีมานานการกล่าวขอบคุณของเราอาจทำให้บุคคลเหล่านี้เสนอความช่วยเหลือให้กับเราเช่นช่วยหางานใหม่ๆให้ หรือการแนะนำบริษัทที่เขารู้จักเพื่อให้เราไปสมัครงาน ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น

12

ภาพจาก freepik.com

6. ถึงเวลาต้องปรับปรุง Resume กันแล้ว

หลายคนเมื่อยังทำงานอยู่ก็ไม่เคยนึกจะสนใจกับรีซูเม่ของตนเอง จนกระทั่งถึงเวลาที่จะต้องใช้อีกครั้งนี่ล่ะ ดังนั้นหากในวันหนึ่งที่เราเกิดตกงานละก็ ก่อนที่จะเริ่มหางานใหม่ ควรให้เวลากับการปรับปรุงรีซูเม่อันเดิมของเราก่อน

เพิ่มเติมข้อมูลของงานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของงาน ผลงานที่เคยทำ ถ้าคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ ก็อย่าลืมเติมความสนใจใหม่ ๆ ลงไปด้วย หรือถ้าคิดว่ารูปแบบรีซูเม่ของเราเริ่มจะล้าสมัยเกินไป ก็ทำขึ้นมาใหม่เลย เท่านี้ก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้หางานใหม่ได้ง่ายขึ้นด้วย

7.ระวังเรื่องรายรับรายจ่ายมากขึ้นเป็นพิเศษ

ในตอนที่เรายังทำงานอยู่แน่นอนว่าเรามั่นใจว่าเราจะมีรายได้เข้ามาทุกเดือน จะมากบ้างน้อยบ้าง พอใช้บ้างไม่พอใช้บ้างแต่เราก็รู้ว่าต้องมีรายได้เข้ามาแน่ๆ แต่เมื่อถูกให้ออกจากงาน เรื่องการเงินต้องระวังให้มากเพราะเราไม่รู้ว่าต่อจากนี้อีกนานเท่าไหร่ที่จะหางานใหม่ได้

ทางที่ดีควรระวังการใช้จ่ายให้มากที่สุดอะไรที่เคยทำและไม่จำเป็นตอนยังมีงานทำเว้นได้ก็เว้นไปก่อน เรียกว่าเป็นการรัดเข็มขัดให้กระชับที่สุด ยิ่งถ้าเราไม่มีเงินก้อนออกมาพร้อมกับการทำงานที่เก่าด้วยแล้วยิ่งต้องระวังให้มากเป็นพิเศษกับช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงที่สุดของคนตกงานช่วงนี้

11

ภาพจาก freepik.com

8.เปิดมุมมองและสร้างโอกาสใหม่ๆให้ตัวเอง

เรียกว่าเป็นการคิดบวกได้เหมือนกันหรือจะเรียกว่าเป็นเวลาเปลี่ยนตัวเองก็ว่าได้ หลายคนที่เคยทำงานอาจจะไม่ใช่งานที่ตัวเองถนัดหรือเป็นงานที่ตัวเองอยากจะทำเพียงแต่ตอนนั้นไม่มีทางเลือกก็เลยต้องจำใจทำๆไปก่อนเหมือนคลุมถุงชนคือทำๆไปเดี๋ยวก็รักกันเองประมาณนั้นแต่เมื่อเรามีโอกาสได้ก้าวออกมาจากจุดนั้น

เราก็ควรหันมาทบทวนตัวเองว่างานที่ผ่านมาคือสิ่งที่ใจเรารักและอยากทำหรือไม่หากคำตอบคือไม่ลองมองหาในสิ่งที่ตัวเองอยากทำและลองก้าวไปตามความฝันนั้นดู อาจจะไม่ใช่งานใหม่ในบริษัทใหม่ แต่อาจเป็นงานของตัวเอง ธุรกิจของตัวเอง แน่นอนว่าย่อมมีความยากที่ต่างไปจากเดิมแต่ถ้าเราคิดว่าใช่และใจเรารักก็ลองทุ่มเทกับมันสักครั้งอาจจะดีกว่าที่คิดก็ได้

9.พักผ่อนสักนิดก่อนคิดทำอะไรต่อไป

ยิ่งเราเป็นประเภททำงานหามรุ่งหามค่ำ ทำงานหนึ่งสัปดาห์แทบไม่มีวันหยุด พ่อแม่ลูกเมียแทบไม่เคยเจอหน้า วันๆเอาแต่ทำงานเช้าไปมืดก็กลับแถมยังหอบงานกลับมาทำที่บ้านด้วยอีก การถูกเชิญออกจากงานน่าจะเป็นหนทางสวรรค์ที่เขาประทานมาเพื่อให้เราได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น

กิจกรรมอะไรที่เราไม่เคยทำได้ตอนที่ทำงานอยู่ในช่วงนี้รีบทำให้เต็มที่ไม่ว่าจะพาครอบครัวไปเที่ยวตากอากาศ ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา เฮฮาสังสรรค์(ตามสมควร) กับเพื่อนๆ หรือเอาเวลาไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนมากขึ้น การผ่อนคลายจากกิจกรรมที่เราห่างเหินไปนานอาจช่วยให้เรามองเห็นโลกที่สดใสมากขึ้นและอาจทำให้เราคิดอะไรดีๆว่าในชีวิตนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องงานอย่างเดียวเท่านั้น

10

ภาพจาก bit.ly/37pO1p0

10.ติดต่อกรมจัดหางานเป็นตัวช่วยในการหางานอีกทางหนึ่ง

ในช่วงที่เราก็ไม่รู้ว่าจะหางานใหม่ได้จากที่ไหน หรือใบสมัครที่ส่งไปก็ยังไม่มีใครตอบรับ พอจะหาอะไรทำเป็นรายได้เสริมก็ไม่รู้จะทำอะไรดี ขอแนะนำให้ขึ้นทะเบียนตนเองกับกรมการจัดหางาน หน่วยงานนี้นอกจากเป็นตัวช่วยในการหางานใหม่ให้เราแล้ว ก็ยังมีการฝึกอบรมดี ๆ ที่สามารถไปสร้างเป็นอาชีพได้ โดยสามารถไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานได้ทั่วประเทศ บางทีเราอาจจะได้ความรู้ด้านอาชีพใหม่ ๆ หรืออาจจะได้โอกาสในการทำงานดี ๆ จากที่นี่ก็เป็นได้

หลายคนที่ตกงานและเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส บางคนไปเป็นเกษตรกร บางคนไปขายของออนไลน์ บางคนไปเปิดร้านขายอาหาร ขายเครื่องดื่ม ซึ่งธุรกิจเหล่านี้หากรู้จักทำการตลาดและบริหารจัดการดีๆ อาจสร้างรายได้ที่ดียิ่งกว่าทำงานประจำและไม่ต้องมาเป็นลูกน้อยคอยฟังคำสั่งใคร และอาจเป็นเส้นทางใหม่ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าน่าจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองแบบนี้ตั้งนานแล้ว


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3arlamf , https://bit.ly/2OLwjWA , https://bit.ly/2Ng1Xer

 

อ้างอิงข้อมูล https://bit.ly/3uuw1nd

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด