“เลื่อน-ยกเลิก-ขอเงินคืน” เจอแบบนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ควรทำอย่างไร

รายได้หลักของประเทศไทยส่วนหนึ่งมาจาก “การท่องเที่ยว” แต่อย่างที่ทราบว่าปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด- 19 ในพื้นที่หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ส่งผลกระทบหลักในด้านการท่องเที่ยว และภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาด มีทั้งนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ในขณะที่บางส่วนต้องการขอยกเลิกการเดินทางและขอเงินค่าบริการนำเที่ยวคืนจากบริษัททัวร์ทันที เกิดเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าต้องใช้เวลาในการแก้ไขยาวนานพอสมควรทีเดียว

วิกฤติแค่ไหน! ธุรกิจการท่องเที่ยว ช่วง โควิด-19 ระบาดหนัก

fbnbfdkjkljkl

ภาพจาก bit.ly/2VYevZO

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยก้าวสู่ภาวะวิกฤตเต็มรูปแบบอย่างแท้จริง เนื่องจากตลาดท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ส่งออกนักท่องเที่ยวเข้าไทย จำนวน 10-11 ล้านคนต่อปี หยุดเดินทางทั้งหม ขณะที่ตลาดหลักอื่น ๆ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ได้ชะลอและหยุดเดินทางอย่างชัดเจนเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลี, สิงคโปร์, ฮ่องกง, เวียดนาม, ลาว, มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน, สิงคโปร์ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 7 แสนคนต่อปี ประเทศหลัก ๆ เหล่านี้ส่งออกนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทย รวมกันจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ราว 60% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ที่มีจำนวนประมาณ 40 ล้านคนในปีที่ผ่านมา

จากตัวเลขดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เผชิญมาหลายวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อปี 2559-2560 หรือเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ตเมื่อกลางปี 2561

เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวของคนไทยที่จะไปยังต่างประเทศ นักท่องเที่ยวคนไทยก็ได้หยุดเดินทางเข้าจีนไป 100% รวมทั้งหยุดและชะลอการเดินทางไปยังประเทศใกล้เคียงและประเทศที่มีการเตือนให้เฝ้าระวังอย่างชัดเจนเช่น ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลี, ฮ่องกง เป็นต้น

รวมถึงประเทศท่องเที่ยวปลายทางระยะไกลทั้งอเมริกา, ยุโรป, รัสเซีย ฯลฯ ก็อยู่ในภาวะชะลอการเดินทางและ จากการประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังการเดินทางไปยังประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยงของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าจำนวนมากกังวลและไม่อยากเดินทาง ทำให้เกิดการแจ้งยกเลิกการเดินทางและขอเงินคืนจำนวนมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เอเย่นต์ทัวร์ไม่มีเงินสำรองจ่ายคืนให้กับลูกค้าเพราะสายการบิน, โรงแรม ฯลฯ บางส่วนก็ยังไม่มีนโยบายคืนเงินให้ลูกค้าเช่นกัน

มาตรการภาครัฐเบื้องต้น “เยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว”

fvbvljkljkljkl

ภาพจาก bit.ly/3aHLnKt

เมื่อเกิดวิกฤติหนักขนาดนี้ในภาคธุรกิจท่องเที่ยว เกิดคำถามว่า เจอเหตุการณ์ “เลื่อน –ยกเลิก – ขอเงินคืน” แบบนี้ผู้ประกอบการจะต้องทำอย่างไร เบื้องต้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และภาคเอกชนได้หารือกันจนได้ข้อสรุปออกมาเป็น 5 มาตรการหลัก เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งภาคเอกชนและลูกจ้างพนักงานได้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในช่วงนี้

  1. มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทั้งผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นชั่วคราว และลดอัตราดอกเบี้ยลงจากสัญญาเดิม รวมถึงการออกสินเชื่อเสริมสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำ
  2. มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและพนักงานของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แยกเป็น ผ่อนปรนชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นระยะเวลา 1 ปี, ผ่อนปรนการชำระหนี้เงินต้นชั่วคราวสำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยหรือแปลงหนี้เดิมทั้งหมดเป็นสินเชื่อใหม่ ระยะเวลาผ่อนชำระ 5-8 ปี
  3. มาตรการภาษีเพื่อพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการขยายระยะเวลาชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปอีกระยะหนึ่ง และให้ผ่อนชำระภาษีได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน, ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศทั้งแพ็คเกจทัวร์ในประเทศ ค่าโรงแรมที่พัก ค่าเดินทาง และค่าบริการที่เกี่ยวข้อง
  4. มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายเพื่อจูงใจให้ธุรกิจรักษาการจ้างงาน ทั้งยืดการจ่ายค่าเช่าที่ดินของรัฐ, ลดหรือยืดหรือผ่อนชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า, ยืดการจ่ายค่าต่อทะเบียนยานพาหนะที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยว
  5. จัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท.อบรมเพิ่มพูนทักษะพร้อมเสริมรายได้แก่แรงงานที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว

สายการบินก็มีมาตรการ “ช่วยเหลือ” ในภาวะวิกฤติ

dfvfvbfv
ภาพจาก https://s.nikkei.com/39DUA6w

ระยะเร่งด่วน ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีมาตรการผ่อนผัน กรณีมีการขอเลื่อนกำหนดการบิน สามารถเลื่อนได้ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากนักท่องเที่ยวหรือบริษัททัวร์มีความจำเป็นต้องเลื่อนต่อไปอีก จะเลื่อนได้ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2563 และจะต้องพิจารณาว่า เป็นการเลื่อนในเส้นทางเดียวกันหรือไม่ หากเปลี่ยนเส้นทางอาจมีค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่ม

บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งกลุ่มบัตรโดยสารเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบัตรโดยสารแบบซีรีย์ ซึ่งบริษัททัวร์ได้วางมัดจำบัตรโดยสารเครื่องบินตลอดทั้งปี (แบบระยะยาว) ในเส้นทางญี่ปุ่น ทางสายการบินนกแอร์จะยกเลิกค่าธรรมเนียมให้ แต่ยังคงเก็บค่าส่วนต่างที่เกิดขึ้น และกลุ่มบัตรโดยสารแบบกลุ่ม สามารถนำไปใช้ในภายหลังได้ (ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) เพื่อให้บริษัททัวร์ มีระยะเวลาและ ความคล่องตัวในการจัดการธุรกิจ รวมถึงนักท่องเที่ยวจะได้มีทางเลือกในการเดินทางและได้รับเงินคืนจากบริษัททัวร์มากที่สุด

ในส่วนของกรมท่าอากาศยาน จะเสนอปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน แก่สายการบินในช่วงภาวะวิกฤตนี้ รวมถึงจะเสนอให้ปรับลดค่าเช่าของผู้ประกอบการรถเช่าที่ใช้พื้นที่ของสนามบิน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

แนวทางของการ “ขอเงินคืน” จากบริษัทท่องเที่ยว

sdvjkjkkj

ภาพจาก bit.ly/39Fe0Yu

หลายคนอาจจะวางแผนท่องเที่ยวไว้เป็นอย่างดีแต่จู่ๆ มาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็ทำให้จำเป็นต้องเลื่อน ยกเลิก นำมาสู่การ “ขอเงินคืน” จากผู้ประกอบการซึ่งอ้างอิงจาก ประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการค่นให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ.2553 ระบุว่า

  1. ขอยกเลิกก่อนเดินทางมากกว่า 30 วัน (30+)
    ค่าทัวร์ที่จ่ายไปแล้ว 100% – ค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงของบริษัททัวร์ (ถ้ามี) = เงินที่ได้คืน
  2. ขอยกเลิกก่อนเดินทาง 15-29 วัน
    ค่าทัวร์ที่จ่ายไปแล้ว 50% – ค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงของบริษัททัวร์ (ถ้ามี) = เงินที่ได้คืน
  3. ขอยกเลิกก่อนเดินทาง 0-14 วัน
    ไม่ได้เงินคืน

*** ค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริงของบริษัททัวร์ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า , ค่ามัดจำของบัตรโดยสารเครื่องบิน , ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ โดยต้องแสดงหลักฐานการจ่ายให้นักท่องเที่ยวทราบด้วย***

แต่หากค่าใช้จ่ายของบริษัททัวร์สูงกว่าเงินค่าบริการนำเที่ยวที่นักท่องเที่ยวได้ชำระไว้ บริษัททัวร์จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากนักท่องเที่ยวได้

ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ถือว่าใหญ่ระดับโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน สถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัส โควิด-19 ก็ยังไม่คลี่คลาย และแม้จะคลี่คลายการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมก็คงต้องใช้เวลา

คาดว่าในระยะเวลาครึ่งปีแรกนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะไม่เติบโตได้ตามเป้าเป็นแน่ ก็คงต้องมาดูความสามารถในการบริหารจัดการของภาครัฐว่าจะทำอย่างไร จะมีมาตรการอะไรที่ดีกว่าการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ อันนี้ต้องติดตาม

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

vbnbgvbvf

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ www.thaifranchisecenter.com/document/index.php

รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/38wT9VV , https://bit.ly/2IsY0wU , https://bit.ly/3aERTBC , https://bit.ly/2PZioK8 , https://bit.ly/2PXs8oo

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2IBrIQh

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด