เลือก สมรภูมิทางธุรกิจ ให้ดี งานนี้มีแต่ได้กับได้

คำถามประการแรกของคนที่อยากทำธุรกิจคือมีวิธีการไหนที่จะสามารถเลือกตลาดที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงบ้าง ในความเป็นจริงไม่มีใครจะสามารถฟันธงได้ชัดเจนขนาดนั้น สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการประเมินเบื้องต้น เทคนิคสำคัญคือดูว่าการเข้าและออกของตลาดที่ต้องการนั้นยากง่ายอย่างไร

www.ThaiSMEsCenter.com จึงรวบรวมเอา 4 หลักเกณฑ์มาประเมินการเลือกตลาดซึ่งหลักการนี้ถ้าทำได้ดีเรียกว่าเราเลือกสมรภูมิทางธุรกิจได้ถูกต้องนั้นหมายความว่าโอกาสที่เราจะได้กับได้มีสูงมากในทางธุรกิจนั่นเอง

1.ดูจากอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดว่าเหมาะสมหรือไม่

สมรภูมิทางธุรกิจ

ภาพจาก http://goo.gl/ZI9Ia1

อุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด สามารถใช้ประเมินได้ว่าเราและคู่แข่งสามารถเริ่มธุรกิจนี้ได้ยากง่ายแค่ไหนตัวอย่างตลาดที่ยากได้แก่ ตลาดโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี โลตัส ถ้าคิดจะลงทุนในตลาดนี้ต้องใช้เงินสูงมากกับการสู้เจ้าของตลาดเดิมรวมถึงต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีส่วนใหญ่เราจึงเห็นแค่กลุ่มทุนขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะแข่งขันในตลาดประเภทนี้ได้

อีกตลาดหนึ่งที่ง่ายกว่าเรียกว่ามีอุปสรรคน้อยไป เช่นตลาดสด ทั่วไป ตรงนี้ต้นทุนไม่มีอะไรมาก แต่ที่แน่ๆคือคู่แข่งจะมีมากแน่นอน สิ่งสำคัญในตลาดนี้คือการสู้กันที่เรื่องราคาจนบางทีแทบมองไม่เห็นกำไร

ดังนั้นถ้าจะมองหาตลาดเราก็ต้องประเมินความยากง่ายเหล่านี้ให้ดี ถ้ามองว่ามีโอกาสคู่แข่งเข้ามาได้ยากหรือการแข่งขันไม่สูงมาก โอกาสสำเร็จเราก็จะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทีเดียว

2.ดูความสามารถในการต่อรองกับซัพพลายเออร์

kk16

ภาพจาก http://goo.gl/vaAhCs

อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์นี้ ส่งผลโดยตรงกับสภาพคล่องทางธุรกิจ ยิ่งมีอำนาจต่อรองมากยิ่งดีการวิเคราะห์ง่ายๆ คือ หากซัพพลายเออร์มีจำนวนน้อยแต่คู่แข่งในตลาดมีมากกว่าอำนาจต่อรองก็จะน้อยลงเช่นกัน

ส่วนใหญ่คนจะมองว่าเรื่องแบบนี้ธุรกิจยิ่งโตก็ยิ่งได้เปรียบแต่ความจริงไม่เช่นนั้นเสมอไปธุรกิจขนาดเล็กก็มีอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์ที่ดีได้เพียงแต่เราต้องสร้างจุดเด่นให้ตลาดหันมาสนใจเรามากขึ้นที่สำคัญหากทำให้ซัพพลายเออร์วิ่งหาเราได้แทนที่เราจะไปหาซัพพลายเออร์เท่านี้ก็ดูว่าความได้เปรียบอยู่ในกำมือเรา ธุรกิจของเราก็มีแต่ได้กับได้เช่นกัน

3.ดูทิศทางของสินค้าทดแทนที่อาจตีตลาดสินค้าของเราได้

kk14

ภาพจาก http://goo.gl/H2GJIz

คำว่าสินค้าทดแทนคือสินค้าที่อาจนำมาใช้แทนสินค้าที่เราวางขายได้ กรณีนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากมายยกตัวอย่างเครื่องพิมพ์ดีดที่ตอนนี้กลายเป็นตำนานเพราะโดนสินค้าที่เหนือกว่าอย่างคอมพิวเตอร์เข้ามาทดแทน หรืออย่างสมัยก่อนที่มีแพคลิ้งก็โดนแทนที่ด้วยระบบของ SMS ที่ทำให้สินค้าอย่างแพคลิ้งนั้นต้องหายไปอย่างไร้ร่องรอย

การวิเคราะห์เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์มากพอสมควรแต่ถ้าคาดการณ์ได้ดีว่าสินค้ามีโอกาสโดนทดแทนในช่วงระยะเวลาแค่สั้นๆขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งเริ่มทำธุรกิจนั้นหาโจทย์ใหม่มาทำตลาดน่าจะสร้างรายได้แบบถาวรได้ดีกว่า

4.ดูโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าคู่แข่ง

kk15

ภาพจาก http://goo.gl/Cp3t3r

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าโดยดูจากคู่แข่งถือเป็นกลยุทธ์เบื้องต้นแต่สำคัญมาก วิธีการประเมินคือดูคุณสมบัติของคู่แข่งว่าทำอย่างไร ใช้งานอย่างไร

จากนั้นต้องวิเคราะห์และหาจุดแตกต่างที่ดีกว่ายิ่งไม่มีในตลาดด้วยจะดีมาก เช่น ถ้าอยากเปิดร้านไอศรกรีมในห้าง ก็ต้องดูให้รอบด้านว่ามีร้านไหน เมนูอะไร บริการอย่างไร จุดเด่นของแต่ละร้านน่าสนใจแค่ไหน

จากนั้นก็เอามาคิดและกำหนดรูปแบบร้านที่ตัวเองต้องการซึ่งต้องแปลกและให้แตกต่างกว่า มิเช่นนั้นก็จะเป็นเพียงการแข่งขันเรื่องราคาซึ่งแน่นอนว่าโอกาสได้กำไรจะน้อยลงทันที

อย่างไรก็ดีวิธีการเบื้องต้นเหล่านี้อาจมองได้ว่าเป็นเพียงทฤษฏีซึ่งการจะให้ได้ผลจริงๆ นั้นต้องนำมาปฏิบัติอย่างมีระบบปัจจุบันก็มีหลายบริษัทที่รับให้บริการในเรื่องเหล่านี้ถ้าคิดจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและไม่อยากลงมือเองก็อาจต้องเสียเงินมากขึ้นหน่อยแต่ผลประโยชน์ที่ตามมาน่าจะทำให้ธุรกิจที่ต้องการเดินหน้าไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด