เทคนิคการเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์เบื้องต้น

ในปี 2562 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกสรุปตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่ทั่วประเทศ 3,038,943 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถจักรยานยนต์จำนวน 1,876,710 คัน สะท้อนให้เห็นว่า รถจักรยานยนต์ คือยานพาหนะที่อยู่คู่กับคนไทยโดยเฉพาะคนในเมืองที่นับวันการจราจรจะติดหนักขึ้นทุกที การขี่จักรยานยนต์จึงเป็นทางเลือกที่หลายคนสนใจ

เมื่อมีจำนวนจักรยานยนต์มากก็เป็นโอกาสของ “ร้านซ่อมจักรยานยนต์” ที่พร้อมจะสร้างรายได้ดี หากเป็นช่างที่มีประสบการณ์ มีหัวใจบริการที่ดี ยิ่งจะได้รับความนิยมจากลูกค้ามาก นอกจากนี้ทำเลก็เป็นสิ่งสำคัญในการเปิดร้านเช่นกัน

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าใครที่คิดจะเดินสายช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ควรทำความเข้าใจลักษณะอาชีพนี้ไม่ให้ถ่องแท้ ไม่ใช่มองเห็นแค่โอกาสในการสร้างรายได้ เหนือสิ่งอื่นใดคนเป็นช่างต้องรู้จักอาการเสียเบื้องต้นของรถจักรยานยนต์แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น เพื่อประเมินการซ่อมได้อย่างแม่นยำและทำให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจ มั่นใจที่เข้ามาใช้บริการในร้านของเรานี้

เป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์เบื้องต้นต้องรู้อะไรบ้าง

เทคนิคการเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์เบื้องต้น

ภาพจาก bit.ly/2YcbR36

1.รู้อาการเสียของรถแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น

จักรยานยนต์แต่ละรุ่นมีอาการเสียที่แตกต่างกัน อุปกรณ์ก็แตกต่างกัน วิธีการซ่อมก็แตกต่างกัน ในตำราอาจไม่ได้ระบุถึงวิธีการซ่อมไว้ทั้งหมด ช่างซ่อมนอกจากมีความรู้ต้องมีประสบการณ์ที่จะประเมินอาการของรถที่เสียได้อย่างแม่นยำ ส่วนใหญ่คนที่จะเปิดร้านแนะนำว่าถ้าเรียนหลักสูตรการซ่อมเบื้องต้นมาแล้ว ก่อนเปิดร้านของตัวเองควรไปฝึกประสบการณ์ทำงานกับร้านอื่น หรือลองเป็นลูกน้องคนอื่นดูก่อนเพื่อจะได้เรียนรู้และฝึกฝีมือให้ดีก่อนมาเปิดร้านของตัวเอง

2.รู้จักทำใจเพราะนี่คืองาน “บริการ”

การเป็นช่างซ่อมก็คืองานบริการซึ่งต้องมีทั้งคนที่พอใจและคนที่ไม่พอใจ ลูกค้าที่ไม่พอใจอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา คิดว่าเราซ่อมไม่ดี บางทีซ่อมแล้วอาการนั้นๆไม่หาย ก็มาโทษว่าเพราะช่างไม่ดี ซึ่งบางทีอาจมีสาเหตุอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องได้ คนเป็นช่างต้องรู้จักการทำใจ และปรับอารมณ์ไม่โมโหไปกับความรู้สึกของลูกค้าบางคน

44

ภาพจาก bit.ly/3gb6AyX

3.รู้จักการประเมินราคาเบื้องต้น

เป็นเรื่องของกำไร-ขาดทุน ของร้าน หากเจ้าของร้านไม่มีความรู้ในการประเมินราคา อาจทำให้ตัวเองต้องขาดทุนโดยไม่จำเป็น การบอกราคาเบื้องต้นกับลูกค้า ควรให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่รู้สึกว่าถูกร้านเอาเปรียบ การประเมินราคาที่ใกล้เคียงจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย และตัวเราเองก็ไม่เสี่ยงที่จะขาดทุนด้วย

4.รู้จักหาทำเลที่เหมาะสม

หลายคนเลือกเปิดร้านในทำเลที่ไม่เหมาะสม การเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ไม่ใช่มองว่าที่ตรงไหนมีมอเตอร์ไซด์มากแล้วจะมีโอกาสซ่อมมาก ต้องดูความต้องการของลูกค้าด้วย บางทำเลรถจักรยานยนต์มากก็จริงแต่ส่วนใหญ่เป็นรถที่คนไม่อยากซ่อม หรือมักชอบเปลี่ยนรถใหม่ เราก็ต้องมีการสำรวจทำเลเบื้องต้นว่าในย่านนั้นมีร้านซ่อมเปิดอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีเพราะอะไรถึงไม่มี ต้องรู้เหตุผลเพื่อที่เราจะได้ไม่เสียเวลาในการทำธุรกิจ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าการเปิดร้านซ่อมจักรยานยนต์คนในละแวกนั้นมักไม่ค่อยชอบเพราะทั้งเสียง ควัน และเขม่า ต่างๆ ก่อนเปิดร้านทำเลใดๆ จึงควรพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

43

ภาพจาก bit.ly/3ghwSzC

5.รู้จักต่อยอดสร้างรายได้

นอกจากการเปิดซ่อมแบบทั่วไปเราต้องเผชิญกับคู่แข่งมากมาย การสร้างรายได้เพิ่มจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเพิ่มออฟชั่นขายอะไหล่แต่งรถ (แต่ก็ต้องมีการสต็อกสินค้าเพิ่ม) , การเป็นนายหน้าขายรถจักรยานยนต์มือหนึ่ง มือสอง เป็นต้น ที่สำคัญการเป็นเจ้าของร้านต้องรู้จักการให้เครดิตลูกค้า คนเปิดร้านส่วนใหญ่จะมีเพื่อนและคนรู้จักเข้ามาตีสนิทเยอะ หากปล่อยเครดิตให้กับคนกลุ่มนี้มาก เราอาจขาดทุนเองได้


5 อาการเบื้องต้นที่ช่างซ่อมจักรยานยนต์ควรรู้

42

ภาพจาก bit.ly/324guND

1. สตาร์ทติดยาก

อาการเหมือนสตาร์ทติด แล้วก็ดับไป หรือติดอยู่สักพักก็ดับ หรือไม่ติดเลย อาจมีสาเหตุหลักๆ มาจาก ระบบเชื้อเพลิง น้ำมันอาจเหลือแค่ก้นถัง ไม่พอที่จะไหลลงระบบฉีดน้ำมัน, ไส้กรองเชื้อเพลิงอุดตันหรือสกปรก, ระบบหัวฉีดจ่ายน้ำมันอุดตัน, เครื่องมีอุณภูมิที่ต่ำไป เป็นต้น

2. กลิ่นและควัน

ลองสังเกตกลิ่นแปลกๆ ที่มาจากส่วนต่างๆ เช่น กลิ่นไหม้, กลิ่นน้ำมันเบนซิน ซึ่งอาจมีระบบไฟฟ้าลัดวงจรบางจุด หรือเกิดการรั่วซึมของทางเดินน้ำมัน ส่วนมากควันจะมาพร้อมกับกลิ่น ลองสังเกตว่ามีควันออกจากจุดไหน

3. แฮนด์หนัก ล้อแกว่ง

เป็นอาการที่ต้องออกแรงบังคับแฮนด์มากกว่าปกติ เวลาขับแล้วมีอาการเอียงไปทางซ้ายหรือขวา สาเหตุอาจมาจากรถตกหลุมบ่อย, รถล้ม, หรือบรรทุกหนักเกินไป อาการแกว่ง จะเป็นเมื่อรถมีความเร็วสูง สาเหตุมาจากวงล้อคด ทำให้เมื่อหมุนแล้วไม่สมดุล

41

ภาพจาก bit.ly/3aEGjYy

4. สะเทือนกว่าปกติ

เป็นอาการสะเทือนเกินกว่าปกติ สาเหตุเกิดมาจากระบบโช๊คอัพชำรุด หรือเสื่อมสภาพ เช่น โช๊คอัพแตก รั่ว, แกนโช๊คอัพคดงอ ซึ่งช่างต้องประเมินให้ได้ว่ามีอาการมาจากส่วนไหน

5. สะดุดเวลาเร่งเครื่อง

อาการนี้ดูจะเบากว่าอาการสตาร์ทไม่ติด แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นอาการความผิดปกติของระบบเครื่องยนต์อยู่ แม้ว่าเครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งเครื่องยนต์จะดับ หรืออาจถึงขั้นเครื่องน็อคได้

ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนอยากเปิดร้านซ่อมจักรยานยนต์

เงินลงทุน ประมาณ 30,000 บาท

อุปกรณ์เบื้องต้น

40

ภาพจาก bit.ly/3hbOSfY

ปั้มลม ตู้อ๊อก แท่นสว่าน แท่นเจีย เครื่องมือปะยาง กุญแจชุด กุญแจสามเหลี่ยม ที่ตั้งวงล้อ คีมล็อก กรรไกรตัดเหล็ก เลื่อยตัดเหล็ก ฯลฯ

งานบริการที่ควรมี

  1. ปะยาง เปลี่ยนยางนอก ยางใน
  2. เปลี่ยนลูกปืนล้อ เปลี่ยนสเตอร์
  3. ผ่าเครื่อง เปลี่ยนผ้าเบรค
  4. เปลี่ยนยางกันน้ำ เปลี่ยนซิลโช้คหน้า
  5. เปลี่ยนหลอดไฟ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง
  6. ขันซี่ลวด ฯลฯ

ข้อแนะนำ

  1. ควรจำหน่ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น หัวเทียน น้ำมันเครื่อง ออโต้ลุป ยางนอก/ในหลอดไฟ กระจกข้าง เป็นต้น
  2. ควรให้บริการอย่างรวดเร็ว ทันใจ และราคาย่อมเยา
  3. สำคัญที่สุดของการเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์คือ “ประสบการณ์” ร้านที่เปิดมานานส่วนใหญ่จะได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า ในฐานะที่เปิดร้านใหม่ เราก็ควรสะสมคะแนนนิยมของตัวเอง และหากรู้จักทำการตลาดออนไลน์ร่วมด้วยจะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/36O7rlP , https://bit.ly/36O7GNL , https://bit.ly/2TZCKVP , https://bit.ly/3cj8I5K

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3276VO1

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด