หนี้ท่วมหัวจะเอาตัวรอดได้อย่างไร?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ว่ามีประมาณ14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90.5% ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี

ตามสถิติที่มีการเก็บรวบรวมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสภาพหนี้อยู่ใน 3 กลุ่มหลักคือ หนี้บ้าน หนี้ประกอบอาชีพ และหนี้เพื่อใช้จ่ายชีวิตประจำวัน ยังมีรายงานที่น่าสนใจต่อคือ ปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน ที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ หรือมีรายได้ลดลงจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระคืนหนี้

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าเรื่องการเป็นหนี้ทำให้คนตอนนี้เครียดเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งถ้าหลีกหนีการเป็นหนี้ไม่ได้เพราะมันได้ก่อตัวขึ้นแล้วสิ่งสำคัญในตอนนี้คือต้องทำอย่างไรเพื่อให้ครอบครัวเราอยู่รอดในภาวะหนี้ท่วมหัวแบบนี้ได้

5 วิธีสังเกตว่าตอนนี้เราใกล้จะ “หนี้ท่วมหัว” หรือยัง?

แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะต้องเป็นหนี้ท่วมหัว คำว่าหนี้ท่วมหัว คือการที่เป็นหนี้มาก มากจนเกินกว่าที่จะจ่ายคืนเจ้าหนี้ได้ทัน ซึ่งมี 5 วิธีสังเกตว่าเราใกล้หนี้ท่วมหัวแล้วหรือยัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ภาพจาก bit.ly/3gfPN0d

1.รายได้กว่า 45% ต้องเอาไปจ่ายหนี้

ยกตัวอย่างสามีภรรยามีรายได้รวมต่อเดือน 30,000 บาท ถ้ามียอดหนี้ต่อเดือนเกินกว่า 45% หรือ 13,500 บาท เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งจากรายได้ที่หามาต้องไปจ่ายคืนหนี้ เป็นสัญญาณเบื้องต้นที่ไม่ดีและบอกได้ว่าตอนนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะหนี้ท่วมหัวเพราะอย่าลืมว่าเราไม่ได้มีค่าใช้จ่ายแค่การใช้คืนหนี้เราต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราด้วย

2.มีเจ้าหนี้หลายแห่งจนจำไม่ได้

อันนี้ถือเป็นสัญญาณที่อันตรายมากๆ เพราะในขณะที่เราไล่ไปกู้หนี้ยืมเงินจากที่อื่นมา โดยที่เราไม่เคยจำเลยว่าไปเอาเงินจากไหนมาบ้าง เพราะในขณะที่เราเป็นลูกหนี้เราจำไม่ได้แต่เจ้าหนี้ทุกคนเขาจำได้ และในขณะที่เราลืมไปว่าเรายืมเงินเขามาซึ่งต้องมีดอกเบี้ยเกิดขึ้น หากไม่ได้ชำระดอกเบี้ยตรงนั้นก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

11

ภาพจาก https://pixabay.com/

3.ต้องใช้วิธียืมเงินมาใช้หนี้

การยืมเงินมาใช้หนี้ไม่ได้ทำให้หนี้ของเราหมดแต่จะกลายเป็นปัญหาแบบลูกโซ่ที่ไม่จบไม่สิ้นและเป็นสัญญาณอันตรายที่บอกว่าเราหมุนเงินไม่ทันและอยู่ในภาวะหนี้ท่วมหัว หากเป็นแบบนี้หลายงวดเข้า บัญชีหนี้สินของเราก็ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ไปเรื่อย ๆ เท่านั้น

4.วิตกกังวลเรื่องใบแจ้งหนี้

คนที่มีหนี้ท่วมหัวจะมีอาการร้อนรนเวลาเห็นใบแจ้งหนี้เพราะตัวเราเองจะรู้ดีที่สุดว่าหนี้สินขนาดนี้นับว่าไม่ธรรมดา และหากเราเป็นหนี้แบบที่คนในครอบครัวไม่รู้จะยิ่งทำให้เราเป็นกังวลกับเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก

10

ภาพจาก https://pixabay.com/

5.กลัวเบอร์โทรแปลกๆที่เราไม่รู้จัก

เป็นอีกอาการที่บอกว่าเรากำลังกลัวเจ้าหนี้ เนื่องจากเราไม่มีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของคำว่าหนี้ท่วมหัวที่เกิดขึ้น เราอาจจะเคยเห็นเรื่องแบบนี้ในละคร แต่ในชีวิตจริงก็สามารถเป็นเช่นนั้นได้หากเรามียอดหนี้สูงเกินความสามารถในการจ่ายชำระ

หลักคิดก่อนที่จะสร้างหนี้ควรจะต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าเมื่อเป็นหนี้แล้วจะมีเงินจ่ายหรือไม่ ซึ่งตามหลักแล้วแต่ละคนควรมีภาระหนี้ต่อเดือนรวมแล้วไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ ยกตัวอย่าง มีเงินเดือน 20,000 บาท ภาระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 6,666 บาท

หมายความว่า หลังแบ่งเงินไปจ่ายหนี้ก็ยังมีเงินเหลือใช้จ่าย รวมถึงยังมีเงินเก็บออม ตรงกันข้ามหากคำนวณแล้วมีภาระหนี้เกิน 6,666 บาท อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภาระหนี้สินต่อเดือนเริ่มสูงเกินไป

และถ้าหากยอดหนี้ที่เรามีนั้นสูงมาก จะหลีกหนีก็ไม่ได้สุดท้ายเราก็ต้องมาหาทางออกว่าจะมีวิธีไหนที่ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้างและนี่คือ 10 วิธีที่จะช่วยให้เอาตัวรอดจากภาวะหนี้ท่วมหัวได้

9

ภาพจาก bit.ly/3gfPN0d

1.ต้องรู้ยอดรายได้ตัวเองและลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด

คนเป็นหนี้จะมาใช้ชีวิตปกติธรรมดาไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการใช้หนี้ แต่ก่อนใช้หนี้ก็ต้องรู้ก่อนว่ารายได้ในครอบครัวเรามีเท่าไหร่ แล้วมีรายจ่ายอะไรที่จำเป็น และไม่จำเป็นบ้าง ให้เลือกตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมดออก เพื่อให้มีสภาพคล่องที่ดีจะได้มีเงินไปใช้หนี้ได้มากขึ้น

2.ไม่มีหนี้บ้านรถมีแต่หนี้บัตรเครดิต

ให้พยายามชำระหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดให้มากกว่าขั้นต่ำ เพื่อที่จะได้ปลดหนี้ก้อนนี้ให้เร็วที่สุด เพราะหนี้ก้อนนี้ ยิ่งปล่อยเอาไว้นาน ยิ่งสร้างภาระดอกเบี้ยเพิ่มให้คุณมาก และจะยิ่งทำให้การปลดหนี้ของคุณช้าลงไปอีก ดังนั้น ให้เน้นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดเป็นอันดับแรก

8

ภาพจาก https://pixabay.com/

3.จัดลำดับการจ่ายหนี้

ให้จดหนี้ทั้งหมดแล้วจัดลำดับหนี้ด้วยการให้หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงที่สุดอยู่เป็นลำดับแรก แล้วไล่ระดับลงมาเรื่อยๆ จากนั้นให้เคลียร์หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ให้หมดก่อน เช่น หนี้นอกระบบ หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

4.ใช้หนี้ตามทฤษฏี Snowball

ทฤษฏี Snowball จะย้อนแย้งกับทฤษฏีทั่วไปที่บอกว่าให้เลือกจ่ายหนี้ดอกเบี้ยสูงก่อนแต่ทฤษฏี Snowball แนะนำให้ปิดจากก้อนที่เล็กที่สุดก่อนเพราะว่าการปิดก้อนเล็กได้ก่อนจะทำให้ เกิด “กำลังใจ” ในการที่จะปิดหนี้ก้อนถัดๆไปได้เพราะเวลาที่เรามานั่งมองตัวเลขเยอะๆที่ไม่รู้ว่ามันจะหมดลงเมื่อไหร่ ก็จะทำให้เราท้อจนอาจเกิดความเครียดและปัญหาอื่นๆตามมาได้

7

ภาพจาก https://pixabay.com/

5.หยุดก่อหนี้ใหม่

วิธีหักดิบเพื่อทำให้ภาระหนี้ไม่สูงไปมากกว่านี้ ก็คือ หยุดก่อหนี้ใหม่ ซึ่งดูเป็นหลักการที่ง่ายแต่ในความเป็นจริงถือเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่คนมีรายได้ลดน้อยลง รายจ่ายมากขึ้น ถึงขนาดที่บางคนบอกว่าถ้าไม่ก่อหนี้ ก็คงไม่มีเงินเอาไว้ซื้อข้าวกิน ดังนั้นเราต้องมาบริหารเรื่องนี้ให้ดีจะได้ไม่ต้องเพิ่มหนี้ใหม่ให้ตัวเอง

6.ห้ามยุ่งกับการกู้หนี้นอกระบบเด็ดขาด

แม้จะอยู่ในช่วงที่กระแสเงินสดขาดมือมากขนาดไหนก็ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการกู้หนี้นอกระบบเด็ดขาด เพราะการกู้หนี้นอกระบบเราจะเจอดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก ทำให้หนี้สินที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้นเกินกว่าความสามารถในการจ่าย แถมยังเสี่ยงอันตรายกับการถูกตามทวงหนี้ด้วยวิธีนอกกฎหมายด้วย

6

ภาพจาก https://pixabay.com/

7.ตัดใจขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้

ในบางครั้งหากเรามียอดหนี้ที่สูงมากๆ การตัดใจขายสินทรัพย์บางอย่างก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพราะหากเราผิดนัดชำระหนี้จนเกิดการฟ้องร้องสินทรัพย์ที่เรามีก็จะถูกนำไปคิดเพื่อใช้หนี้เช่นเดียวกัน อย่างน้อยการตัดสินใจขายสินทรัพย์ใช้หนี้ด้วยตัวเองก็ยังพอประคับประคองสินทรัพย์อื่นๆ ที่เหลืออยู่ไว้ได้

8.ใช้เทคนิครวมหนี้

การรวมหนี้ส่วนใหญ่จะใช้ในกรณีที่เป็นหนี้ประเภทเดียวกันเช่นหนี้บัตรเครดิต 5 ใบ ยอดหนี้ต่างกัน แต่ถ้าเอามารวมกันจะได้เป็นหนี้ก้อนใหญ่ ยกตัวอย่างได้ยอดหนี้รวม 100,000 บาท จากนั้นขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน มาปิดหนี้ดอกแพงทั้งหมด แล้วมาเลือกผ่อนเป็นรายงวดคืนให้กับธนาคารด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง (ตามข้อตกลงของแต่ละสถาบันการเงิน) ทำให้เราสามารถวางแผนการเงินได้ง่ายขึ้นและมีโอกาสปลดหนี้ได้ง่ายกว่า

5

ภาพจาก https://pixabay.com/

9.เจรจากับสถาบันการเงินขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย

วิธีนี้จะให้ได้ผลก็ต่อเมื่อเรารู้ว่ากำลังจะมียอดรายรับเข้ามาในอนาคต เช่นรู้ว่าจะได้โบนัส ในอี 1-2 เดือนข้างหน้า เราอาจติดต่อประนอมนี้กับสถาบันการเงิน เพื่อต่อรองขอชำระแต่ดอกเบี้ยไปก่อน และเมื่อได้เงินก้อนมาก็ค่อยจ่ายเงินต้น ซึ่งข้อดีของวิธีนี้คือ คะแนนเครดิตของเราจะไม่เสีย รายงานในเครดิตบูโรก็จะยังคงขึ้นคำว่า “ไม่ค้างชำระ” แต่วิธีนี้จะใช้ได้ในระยะสั้นเท่านั้น และหากไม่แน่ใจว่าจะมีเงินก้อนเข้ามาไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้เด็ดขาด

10.หาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น

ปัญหาของการมีหนี้ท่วมหัวเพราะรายได้ของเราไม่พอที่จะใช้จ่าย วิธีการง่ายๆ ตรงๆ คือหารายได้เพิ่ม เช่น เรามีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท แต่มียอดหนี้ที่ต้องใช้ทุกเดือนประมาณ 12,000 บาท แสดงว่าเราจะมีเงินเหลือใช้ต่อเดือนแค่ 3,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอก็อาจทำให้เราต้องไปยืมเงินจากที่อื่นก็จะกลายเป็นสร้างหนี้เพิ่ม ดังนั้นเราควรหาอาชีพเสริมช่วยเพิ่มรายได้ให้เราอาจจะเพิ่มเดือนละ 2,000 – 3,000 บาท แม้จะเป็นตัวเลขไม่มากแต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามีสภาพคล่องที่ดีมีเงินหมุนเวียนใช้ได้มากขึ้น

ปัญหาการเป็นหนี้ คือเรื่องใหญ่ระดับชาติ คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็ล้วนแต่เป็นหนี้ ซึ่งก็มีทั้งหนี้เลว และหนี้ดี ในสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID แบบนี้ยิ่งเพิ่มโอกาสก่อหนี้ให้เราได้มากขึ้น บางครั้งการก่อหนี้ก็เป็นความจำใจ จำเป็น ดังนั้นเราควรหาทางออกฉุกเฉินและมีควรมีวิธีบริหารจัดการการเงินที่ดีในช่วงนี้ด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3iq57c8 , https://bit.ly/3lCfAn8 , https://bit.ly/3Aaw7lW , https://bit.ly/3CoMDkc , https://bit.ly/3xmtVpO , https://bit.ly/3iq6A28 , https://bit.ly/3rYGhmM , https://bit.ly/3AhAhsw

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2WlB2SJ

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด