ส่อง! ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ยุค Digital Disruption ปี 2020

กูรูแฟรนไชส์ไทย คาดการณ์ ปี 2563 ตลาด ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย มีการเติบโตขึ้นแบบช้าๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท เผยแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง แต่ส่งผลดีต่อตลาดแฟรนไชส์ในประเทศ ทั้งคนตกงาน พนักงานประจำ หันมาสนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้น เพราะเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ ความเสี่ยงน้อย!!!

ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย

ขณะที่ในปี 2563 ธุรกิจแฟรนไชส์มาแรง ได้รับความนิยม ยังเป็นกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าจับตามองอย่างมาก “ธุรกิจสะดวกซัก-เวนดิ้ง แมชชีน” เพราะตอบโจทย์ผู้บริโภคสังคมเมือง สะดวก รวดเร็ว

รวมถึงเทรนด์การควบรวมหรือซื้อกิจการแฟรนไชส์จะได้รับความนิยมของนักลงทุนยักษ์ใหญ่ ขณะที่ผู้ทำแฟรนไชส์ต้องสร้างตัวตนให้ชัดเจน ออกงานต่างประเทศ สร้างแบรนด์ ทำการตลาด สร้างทีมงาน ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องศึกษาหาข้อมูลแฟรนไชสที่สนใจอย่างลึกซึ้ง ต่อไปนี้มาติดตามบทสัมภาษณ์ “กูรูแฟรนไชส์” จาก www.ThaiSMEsCenter.com พร้อมๆ กันได้เลยครับ

FLA มองปี 63 ตลาดแฟรนไชส์ไทยโต 3 แสนล้าน มุ่งสร้างไอดอลแฟรนไชส์ไทยไปต่างประเทศ

61

คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ หรือ (FLA) มองว่า ภาพโดยรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยตลอดปี 2562 ถือว่ามีการเติบโตขึ้นแต่ไม่มากนัก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่เอื้ออำนวย แต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ได้ส่งผลดีต่อตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทย เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปและพนักงานที่ทำงานประจำ อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองมากขึ้น โดยธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในการทำธุรกิจของกลุ่มคนดังกล่าว

60

เพราะหลายๆ คนมองว่า การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์นั้น จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าการสร้างธุรกิจขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนแฟรนไชส์รายเล็กๆ มากกว่ารายใหญ่ๆ เพราะสภาพเศรษฐกิจไทยที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับกำลังซื้อของภาคประชาชนลดลง จึงทำให้การลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ได้ลดขนาดลงไปด้วย

62

สำหรับในปี 2563 คาดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแฟรนไชส์กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และการศึกษา โดยธุรกิจแฟรนไชส์รายเล็กๆ ยังมีการขยายตัวและเติบโตได้เรื่อยๆ เพราะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก

ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่น่าจะมีโอกาสเปิดตลาดในต่างประทศ หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่ มวยไทย สปา นวดไทย และอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารไทยนั้น ยังนิยมออกไปในรูปแบบของการผลิตเป็นส่วนใหญ่

55

คลิ๊กเพื่อดูภาพขยาย

ธุรกิจอาหารในรูปแบบแฟรนไชส์ยังมีน้อยมาก ซึ่งในปี 2563 สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ผลักให้เกิดธุรกิจแฟรนไชส์ไอดอลในประเทศไทย เหมือนกับซัมซุงเกาหลีใต้ เพื่อก้าวออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศต่อไป โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม บริการ สปา ตามลำดับ

นอกจากนี้ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ในการตรียมความพร้อมที่จะนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดตลาดต่างประเทศกว่า 58 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้มีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยทั้งหมด 48 แบรนด์ ที่ได้ขยายธุรกิจและก้าวออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศแล้วใน 33 ประเทศ

63

ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2563 สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ยังได้เตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม จะมีมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์มาจัดคอร์สอบรมให้กับบรรดาสมาชิกและคนทั่วไป ได้มีความรู้และการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์อย่างเป็นระบบ

64

พร้อมกันนี้ยังร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ในการให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้แข็งแกร่งในประเทศ โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เตรียมจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ผ่านการอบรมในหลักสูตร Franchise B2B รุ่นที่ 23 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2563 ส่วนภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์นั้น จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องสินเชื่อ และซัพพลายเออร์มากขึ้น ทางสมาคมฯ จะพยายามทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด และช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็ง ขยายไปต่างประเทศได้มากขึ้น

www.flathailand.com/contact.html


เศรษฐกิจปี 63 ไม่เอื้ออำนวย แนะคนทำแฟรนไชส์ต้องชัดเจน ทำตลาด นำเทคโนโลยีปรับใช้

66

อ.สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ ที่ปรึกษาอาวุโส ธุรกิจ SMEs และ แฟรนไชส์ (ไทยแฟรนไชส์ อคาเดมี) มองว่า ภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยปี 2562 มีการเติบโตขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย แต่ก็พบว่ามีคนอยากทำธุรกิจแฟรนไชส์จำนวนมาก จะเห็นได้จากมีผู้ประกอบการธุรกิจติดต่อเข้ามาปรึกษากับทางไทยแฟรนไชส์ อคาเดมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งคนอยากซื้อแฟรนไชส์ไปทำธุรกิจ และผู้ประกอบการที่อยากเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ เพราะมองเห็นโอกาสแฟรนไชส์

โดยผู้ประกอบการธุรกิจที่อยากทำแฟรนไชส์ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา เฟอร์นิเจอร์ ทัวร์ เป็นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐบาล จะต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจเหล่านี้ เพราะการทำแฟรนไชส์จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ประกอบการจะได้ไม่ท้อกลางคัน ยกเลิกการทำแฟรนไชส์ไปดื้อๆ ต้องชี้แนวทางที่ถูกต้อง ชี้แนวทางให้เดินถูกต้อง

67

สำหรับธุรกิจที่จะสามารถทำแฟรนไชส์ได้นั้น ผู้ประกอบการจะต้องทำมาอย่างน้อย 2 ปี มีเครื่องหมายการค้า สาขา มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน มีคู่มือการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี รวมถึงมีรายได้ชัดเจน ที่สำคัญต้องมีเป้าหมายในการเติบโตไปสู่แฟรนไชส์

ส่วนในปี 2563 อ.สุชาติ มองว่า คนที่อยากจะทำแฟรนไชส์ รวมถึงคนที่กำลังทำแฟรนไชส์อยู่แล้ว ในปี 2563 เศรษฐกิจอาจไม่เอื้ออำนวย การทำธุรกิจลำบาก ค่าเงินแข็งค่าขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลทำให้กำลังซื้อของภาคประชาชนลดลง และจะส่งผลให้การทำธุรกิจมีความยากลำบากขึ้น การตัดสินใจทำอะไรหรือขยายธุรกิจจะพิจารณารอบคอบ

สำหรับเทรนด์แฟรนไชส์ในปี 2563 ถ้าทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก ผู้ประกอบการจะต้องนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารร้าน เพื่อให้มีความง่าย สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเรื่องของการชำระเงิน ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า เพราะต่อไปพฤติกรรมการใช้เงินสดจะน้อยลง จะเห็นพนักงานจะน้อยลง

68

อ.สุชาติ มองว่า ในปี 2563 ธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะมาแรง และได้รับความนิยมจากลูกค้าในการลงทุน ยังคงเป็นธุรกิจกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม การศึกษา สุขภาพ การออกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการแฟรนไชส์จะต้องมีการวางคอนเซ็ปต์ของธุรกิจให้ชัดเจน ว่าธุรกิจของตัวเองอยู่ในธุรกิจอะไร ลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มไหน

สำหรับคนที่จะซื้อแฟรนไชส์ ต้องชัดเจนว่าอยากทำธุรกิจอะไร และอยากอยู่ในธุรกิจประเภทไหน ชอบธุรกิจแบบไหน หลังจากนั้นก็ไปศึกษาว่า คนขายแฟรนไชส์มีแบรนด์ไหนบ้าง ศึกษาหาข้อมูลให้เข้าใจ พูดคุยกับเจ้าของธุรกิจโดยตรง เตรียมเงินลงทุน ซึ่งคาดว่าคนอยากซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เพราะลดความเสี่ยงในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เรียนรู้การทำธุรกิจจากเจ้าของแฟรนไชส์ได้

ส่วนคนขายแฟรนไชส์ ต้องไม่หยุดทำการตลาด ไม่ควรลดงบประมาณในการทำการตลาด และต้องทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์แฟรนไชส์มากขึ้น ดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อแฟรนไชส์ แต่ต้องสร้างธุรกิจให้มีคุณภาพ มีการคัดเลือกแฟรนไชส์ซีอย่างเข้มข้น มีระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซี และมีผลการดำเนินงานอย่างชัดแจ้งด้วย

ไทยแฟรนไชส์ อคาเดมี คลิก bit.ly/2sbhP7C


ปี 63 โอกาสแฟรนไชส์อาหารมื้ออิ่ม ตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบเจาะจง คุ้มค่า ฟุ่มเฟือยโดนเมิน!!!

69

อ.สุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจอาหารแฟรนไชส์ มองว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2563 จะมีการเติบโตขึ้น แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแฟรนไชส์ซอร์ที่เข็มแข็ง มีระบบมาตรฐาน จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขยายสาขาเพิ่มขึ้น มีรายได้มั่นคง สนับสนุนแฟรนไชส์ซีได้ดี ส่วนแฟรนไชส์ซอร์ที่ไม่เป็นระบบ ขายสินค้าเป็นหลัก จะอยู่ลำบาก ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ซื้อแฟรนไชส์แบรนด์เล็กๆ ไม่ค่อยมีระบบเข้มแข็ง อาจจะต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

70

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย จะทำให้แบรนด์แฟรนไชส์ตัวปลอมในตลาดหายไป ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้แบรนด์แฟรนไชส์ที่เข้มแข็ง ถ้าหากแฟรนไชส์ซอร์ที่ยืนหยัดอยู่ได้ จะต้องเร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ออกสินค้าใหม่ พัฒนาบุคคลกร สนับสนุนแฟรนไชส์ซีให้ดี ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ต้องตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ถึงจะได้รับความนิยม ส่วนแฟรนไชส์ซอร์ที่เป็นของฟุ่มเฟือย อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ผู้บริโภคจะใช้บริการน้อยลง

71

ในปี 2563 ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแฟรนไชส์ซอร์ การทำแฟรนไชส์จะต้องนึกถึงความคุ้มค่าและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ เช่น ถ้าทำธุรกิจอาหาร ก็ต้องเป็นอาหารมื้ออิ่ม หรือทำการศึกษา ก็ต้องเน้นไปเรื่องการติวให้คะแนนดีขึ้น สอบเข้าเรียนต่อ สอบชิงทุนได้ ต้องโฟกัสและเน้นไปที่ความจำเป็น ถ้าเป็นสปาก็ต้องสปาที่เน้นไปที่การรักษาโรคและอื่นๆ โดยเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

สำหรับธุรกิจแนว Street Food ในปี 2563 ถ้าจะขายอาหารฟุ่มเฟือย อย่างเช่น สแนค ขนมขบเคี้ยวต่างๆ อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอย แต่ถ้าเป็นอาหารมื้ออิ่มจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบในปี 2563 เช่น ขายข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว สเต็ก ยังพอไปได้ แต่ถ้าขายขนมหวาน กาแฟราคาแพงๆ ที่ไม่ใช่แบรนด์แข็งแกร่ง จะลำบากได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

สำหรับคนที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ Street Food ในปี 2563 อ.สุภัค มองว่า เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการมากๆ เพราะไทยมีการส่งออกแบรนด์ไปต่างประเทศต่อเนื่อง ขณะที่ต่างประเทศก็จะมีการส่งแบรนด์เข้าประเทศไทยเช่นกัน คาดว่าน่าจะมีการเติบโตประมาณ 5-7% ประมาณ 2.8 แสนล้านบาท และเทรนด์ Street Food จะหันมาให้บริการแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น

72

ภาพจาก bit.ly/2PVLtqr

ดังนั้น การปรับตัวแฟรนไชส์ในปี 2563 แฟรนไชส์ซอร์ที่เข็มแข็งจะต้องกระตือรือร้น ทำงานเกมรุกมากขึ้น เพื่อหาลูกค้ามากขึ้น คิดหาสินค้าใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์กับแฟรนไชส์ซีมากขึ้น พยามสร้างยอดขายและภาพลักษณ์ กำหนดกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าภายใต้เทรดโซนของตัวเองมากขึ้น ทำการโปรโมทางออนไลน์มากขึ้น จัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า สร้างทีมงานให้เข้มแข็ง

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะมาแรง ได้รับความนิยมในปี 2563 ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหาร การศึกษา เพราะพ่อแม่ยังคงเน้นการศึกษาแก่บุตรหลาน ขณะที่แฟรนไชส์ซอร์ที่เข็มแข็งในหมวดอื่นๆ ก็จะมีการเติบโตและได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน


ปี 63 จับตา! เทรนด์แฟรนไชส์ “สะดวกซัก-เวนดิ้ง แมชชีน” และ ซื้อกิจการแฟรนไชส์ มาแรง!!

73

คุณกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้จัดงานแฟรนไชส์ TFBO 2020 มองว่า ภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยตลอดปี 2562 มีการเติบโตขึ้นในลักษณะของการชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในนอกอย่างสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย

ในปี 2563 คาดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.5-3 แสนล้านบาท แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพมากนัก ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในระยาว คนทำงานเงินเดือน 2-4 หมื่นบาท ยังมีงานทำ ส่วนระดับพนักงานในโรงงานรายได้ลดลง

74

สำหรับเทรนด์ธุกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 คุณกวิน มองว่า ธุรกิจเครื่องซักผ้า 24 ชั่วโมง และ ธุรกิจเวนดิ้ง แมชชีน ที่เกี่ยวข้องกับการหยอดเหรียญจะมาแรง จะได้เห็นผู้ประกอบการในเมืองไทยและต่างประเทศ เข้ามาสู่ตลาดธุรกิจนี้มากขึ้น หลังจากช่วงที่ผ่านมา จะเห็นเฉพาะตู้หยอดเหรียญกดน้ำ ซึ่งในอนาคตเมืองไทยอาจจะมีตู้กาแฟเหมือนในต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การเข้าซื้อกิจการแฟรนไชส์จะได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างเช่นที่ผ่านมา กลุ่ม ZEN ซื้อกิจการของแฟรนไชส์ต่ำมั่ว รวมถึง MK ซื้อกิจการแหลมเจริญซีฟู้ด ดังนั้น ในปี 2563 จะได้เห็นเทรนด์การซื้อกิจการแฟรนไชส์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกิจการแบรนด์ไทยและแบรนด์นอก

75

คุณกวิน มองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2563 คือ สงครามการค้าสหรัฐ-จีน จะกระทบในเรื่องของกำลังซื้อลดลง การจับจ่ายใช้สอยจะชะลอตัว ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมจะได้รับผลกระทบ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนฐานรากให้กระเตื้องขึ้น

ปี 2563 จะเห็นแบรนด์แฟรนไชส์ใหม่ๆ จากต่างประเทศจะเข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะแบรนด์แฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม โดยที่ผ่านมาแฟรนไชส์เครื่องดื่มเข้ามาเยอะมาก เช่น ชานมไข่มุก เป็นกระแสมาแรงมาก เห็นได้จากมีแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาพันธมิตรและนักลงทุนชาวไทย

76

ส่วนแบรนด์แฟรนไชส์ไทยที่จะออกไปต่างประเทศ จะต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน สร้างแบรนด์แฟรนไชส์ให้แข็งแกร่ง วางระบบแฟรนไชส์ให้มีความเป็นมาตรฐานสากล ขณะที่แบรนด์แฟรนไชส์ใหญ่ๆ จะไม่มีปัญหาในการออกไปต่างประเทศ

สำหรับทำเลที่จะได้รับความนิยมเปิดแฟรนไชส์ในปี 2563 เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพ ส่วนแบรนด์เล็กๆ ใช้พื้นที่ไม่เยอะ อาจจะไปอยู่ตามปั้มน้ำมัน และตลาดทั่วไป ใกล้แหล่งชุมชน


ปี 63 แฟรนไชส์เติบโตแบบช้าๆ แนะ!! แฟรนไชส์ไทยสร้างตัวตนชัดเจน ตอบโจทย์ผู้บริโภค

77

อ.เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ (CFE) กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซีส จำกัด ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญในด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การสร้างแบบจำลองทางการเงิน การวิเคราะห์การเงิน การประเมินมูลค่ากิจการ และการสร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ มองว่า ภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2562 มีการเติบโตในลักษณะของการชะลอตัว

เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทยมีการชะลอตัวลง จึงส่งผลให้กำลังซื้อของภาคประชาชนชาวไทยลดลงด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ส่งผลให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2562 แม้จะมีข่าวการเลิกจ้างงานอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ส่งผลดีต่อตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ไทย เพราะได้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนทั่วไปรวมถึงพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง จะอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยมองไปที่ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ จึงกลายเป็นว่าธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

แต่ปัญหาของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยใน 2562 ก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์รายเล็กๆ เกิดขึ้นมากมาย เพราะผู้ประกอบการมองเห็นโอกาส ทั้งๆ ที่ธุรกิจของตัวเองยังไม่พร้อมทำแฟรนไชส์ จึงทำให้ขายแฟรนไชส์ไปแล้ว อยู่ได้ไม่นานก็เกิดปัญหา โดยเฉพาะการสนับสนุนดูแลแฟรนไชส์ซีที่ไม่ดี ตรงนี้ได้ส่งผลต่อภาพรวมของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยพอสมควร

สำหรับปี 2563 คาดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย จะมีการเติบโตขึ้น แต่เติบโตแบบช้าๆ ประมาณ 5% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งถ้าไม่นับรวมมูลค่าธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ๆ ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยน่าจะมีมูลค่าราวๆ 3 แสนล้านบาท โดยมาจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบันเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์รายใหญ่ๆ จากต่างประเทศ

78

อ.เศรษฐพงศ์ ยังมองว่าปี 2563 จะมีผู้ประกอบการแฟรนไชส์รายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายคนมองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงเทรนด์การนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีความง่าย สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของแฟรนไชส์ไทยในปี 2563 ก็ยังมี โดยเฉพาะแฟรนไชส์ขนาดเล็กจะเกิดขึ้นง่าย โตเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะไม่สามารถอยู่ได้นาน และจะมีธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแอบแฝงทำมาหากินในรูปแบบแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น แชร์ลูกโซ่ ทำให้ภาพของแฟรนไชส์ดูไม่น่าเชื่อถือ ยิ่งธุรกิจแฟรนไชส์ไทยถ้าไม่มีการสร้างตัวตนให้ชัดเจน ก็จะแพ้กระแสนิยม หรือแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคให้ความเชื่อถือมากกว่า ทั้งแบรนด์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง จะเข้าเปิดตลาดเมืองไทยมากขึ้น

สำหรับเทรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมในปี 2563 ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่สร้างความสะดวกสบาย รวดเร็ว ตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้บริโภคในสังคมเมือง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้น่าจะมีการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น

เช่น ธุรกิจร้านสะดวกซัก ซึ่งมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจบริการขนส่งจะมีเพิ่มขึ้น และจะเห็นในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งธุรกิจในรูปแบบบริการที่ใช้เทคโนโลยีจะมีการขยายตัวได้ดีมาก

79

หากเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะต้องเป็นประเภทที่ซื้อง่าย กินง่าย ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านใหญ่มากนัก ถ้าเป็น Street Food ต้องเป็นร้านที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการขาย เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ซึ่งกลุ่มอาหารเหล่านนี้จะสามารถขยายแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างดี เพราะลูกค้าจะไม่เข้าร้านใหญ่ๆ แต่จะเข้าร้านเล็กๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการขาย

สำหรับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยที่ต้องการเปิดตลาดต่างประเทศในปี 2563 อาจจะต้องลองออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศบ้าง ทั้งในรูปแบบผู้ร่วมออกบูธ หรือในฐานะผู้ซื้อก็ได้ เพราะการไปร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ จะทำให้ผู้ประกอบการได้เห็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่กำลังได้รับความนิยมในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมงาน ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยอย่ากลัวการออกไปต่างประเทศ เพราะเป็นการสร้างเครือข่าย ได้เห็นเทรนด์ใหม่ๆ ทางด้านธุรกิจ เทรนด์ผู้บริโภคในต่างประเทศ

ส่วนคนอยากขายฟรนไชส์ต้องสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง บริหารสาขาตัวเองให้ได้ก่อน ที่จะขยายสาขาในรูปแฟรนไชส์ สำหรับคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ อย่าเชื่อคนบอกว่าธุรกิจนี้น่าสนใจ ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียดในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ตัวเองสนใจ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะจะมีข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ


สรุปภาพรวมและสถิติข้อมูลแฟรนไชส์ไทย ปี 2562 โดยไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์

54

อ้างอิงจาก www.ThaiFranchiseCenter.com

เมื่อธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมลงทุนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ หันมาพัฒนาธุรกิจของตัวเองเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์กันอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ในแต่ละเดือน มีธุรกิจแฟรนไชส์หน้าใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

วันนี้จะสรุปภาพรวมและสถิติข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ประจำปี 2562 ทั้งจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ไทย อัตราการเติบโตเฉลี่ยของธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดเก็บและรวบรวมโดยไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์

จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทย Number of Franchise Business in Thailand

53

อ้างอิงจาก www.ThaiFranchiseCenter.com

สถิติจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย ปี 2562 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากการรวบรวมพบว่า ในปี 2562 จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 553 กิจการ แบ่งออกเป็นกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องดื่มและไอศกรีม 131 กิจการ, อาหาร 127 กิจการ, การศึกษา 101 กิจการ, เบเกอรี่ 43 กิจการ, บริการ 39 กิจการ, ค้าปลีก 36 กิจการ, โอกาสทางธุรกิจ 30 กิจการ, ความงาม 23 กิจการ, งานพิมพ์ 14 กิจการ, อสังหาริมทรัพย์ 7 กิจการ และ หนังสือ วิดีโอ 2 กิจการ

52

อ้างอิงจาก www.ThaiFranchiseCenter.com

ส่วนสถิติจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในช่วงปี 2561 นั้น พบว่า จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 484 กิจการ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 คิดเป็น 19% แบ่งออกเป็น อาหาร 114 กิจการ, เครื่องดื่มและไอศกรีม 106 กิจการ, การศึกษา 89 กิจการ, บริการ 37 กิจการ, เบเกอรี่ 37 กิจการ, ค้าปลีก 29 กิจการ, โอกาสทางธุรกิจ 28 กิจการ, ความงาม 13 กิจการ, งานพิมพ์ 13 กิจการ, อสังหาริมทรัพย์ 6 กิจการ และ หนังสือ วิดีโอ 2 กิจการ

แต่หากย้อนกลับไปดูสถิติจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในช่วงปี 2560 จะพบว่า จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 427 กิจการ โดยกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีจำนวนมากที่สุด ได้แก่ แฟรนไชส์เครื่องดื่มและไอศกรีม และ อาหาร มีธุรกิจกลุ่มละ 98 กิจการเท่ากัน ตามมาด้วย การศึกษา 80 กิจการ, เบเกอรี่ 31 กิจการ, บริการ 28 กิจการ, ค้าปลีก 26 กิจการ, โอกาสทางธุรกิจ 25 กิจการ, ความงาม 21 กิจการ, งานพิมพ์ 13 กิจการ, อสังหาริมทรัพย์ 5 กิจการ และ หนังสือ วีดีโอ 2 กิจการ

51

อ้างอิงจาก www.ThaiFranchiseCenter.com

สรุปภาพรวม สถิติจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ 19% โดยนับตั้งแต่ปี 2548 มีธุรกิจแฟรนไชส์จำนวน 56 กิจการ, ปี 2549 จำนวน 65 กิจการ, ปี 2550 จำนวน 73 กิจการ, ปี 2551 จำนวน 92 กิจการ, ปี 2552 จำนวน 115 กิจการ, ปี 2553 จำนวน 147 กิจการ, ปี 2554 จำนวน 170 กิจการ, ปี 2555 จำนวน 206 กิจการ, ปี 2556 จำนวน 236 กิจการ, ปี 2557 จำนวน 283 กิจการ, ปี 2558 จำนวน 323 กิจการ, ปี 2559 จำนวน 362 กิจการ, ปี 2560 จำนวน 427 กิจการ, ปี 2561 จำนวน 484 กิจการ และ ปี 2562 จำนวน 553 กิจการ

50

อ้างอิงจาก www.ThaiFranchiseCenter.com

จะเห็นได้ว่า จากสถิติข้อมูลธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ตั้งแต่ปี 2548-2562 มีจำนวนกิจการแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นทุกปี นั่นสะท้อนให้เห็นว่า แม้สภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทยจะเติบโต หรือถดถอย ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจแฟรนไชส์มากนัก ซึ่งสอดคล้องกับกูรูแฟรนไชส์ไทยมองว่า สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ยิ่งส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมจากคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

โดยธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มและไอศกรีม การศึกษา เบเกอรี่ และบริการ ยังเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า… โอกาสของแฟรนไชส์ในไทยยังสดใสในปี 2563

จำนวนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทย : Number of Franchise Business in Thailand – https://bit.ly/2SpXkOZ

จะเห็นได้ว่า ในปี 2563 ถือเป็นปีที่ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ไทย จะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบแฟรนไชส์ของตัวเอง สร้างแบรนด์ สร้างสินค้าใหม่ๆ ทำการตลาดต่อเนื่อง สร้างกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน ขณะที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ละเอียด


คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

อ่านจดหมายข่าวอื่นๆ https://bit.ly/2QmjX4d
แหล่งที่มาจาก https://bit.ly/2Sxpl7o

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/36etEdM

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช