ศึก Deliverry ระอุ! การปรับกลยุทธ์เข้าสู่ยุค 2017

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ดูเหมือนว่า ธุรกิจ Deliverry จะเป็นการลงทุนที่เข้ากับยุคสมัยเป็นอย่างมากดูได้จากการเปิดตัวของเหล่า Startup และ SMEs ที่มีรูปแบบของการให้บริการแนวนี้

เมื่อรวมกับเจ้าเก่ารายเดิมที่เปิดตัวมาก่อนหน้าก็ทำให้ในวงการนี้มีการแข่งขันที่สูงมากเมื่อปีที่ผ่านมาก็ชัดเจนในระดับหนึ่งแต่ดูเหมือนว่าในปี 2017 นี้จะชัดเจนยิ่งกว่าและทุกค่ายก็ดูจะปรับกลยุทธ์เพื่อให้สู้ศึกในเวทีนี้ได้อย่างเข้มข้นมากขึ้นด้วย

จุดเริ่มของเรื่องนี้อาจต้องเท้าความกลับไปในปี 2557 ที่เริ่มมีกลุ่มทุนต่างชาติอย่าง Foodpanda มาเปิดตลาดบริการรับส่งอาหารผ่าน Application ในประเทศไทย

ธุรกิจ Deliverry

ภาพจาก goo.gl/35X6ze

หลังจากนั้น www.ThaiSMEsCenter.com ก็พบว่ามีอาหารแบรนด์ดังอีกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น Subway และ BonChon เริ่มเข้ามาขยายกิจการในลักษณะนี้เช่นกัน จนจำนวนสาขาของร้านอาหารเหล่านี้รวมกันแล้วมีเกินกว่า 1,000 ร้าน

และส่วนมากการจัดส่งอาหารไปตามจุดต่างๆนั้นจะเริ่มต้นที่ 40 บาท ส่วนค่าอาหารก็จ่ายตามจริงของแต่ละเมนู โดยมีพื้นที่ให้บริการอยู่ในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด เช่นภูเก็ต กับเชียงใหม่ ที่สำคัญยังมีการโปรยโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะฟรีค่าจัดส่งที่นิยมใช้กันอย่างมาก

และในปีนี้ธุรกิจ Deliverry รายอื่นก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้าระบบการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นจึงมีทั้งการจับมือเป็นพันธมิตรหรือคิดโปรโมชั่นน่าสนใจในเรื่องของราคาออกมาเป็นแนวทางการสู้ที่เราจับหลักใหญ่ใจความได้ก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ด้วยกัน 5 แบรนด์ชั้นนำของเมืองไทย

1. LINE Man ผนึกกำลังพันธมิตรสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง

hj8

ภาพจาก goo.gl/dMyIFZ

LINE Man ถือเป็นผู้บริการที่เปิดตัวขึ้นมาใหม่หลังจากกลุ่มทุนต่างชาติเริ่มเปิดบริการแนวนี้ และถึงแม้ว่าจะเปิดตัวตามหลังแต่ก็ดูว่าจะมาแรงไม่น้อย

โดยคอนเซปต์ของ LINE Man คือบริการรับส่งของทุกชนิด แต่ด้วยระดับขององค์กรที่มีขนาดใหญ่การจะโดดเข้ามาเล่นในเวทีนี้ที่ยังถือว่าประสบการณ์น้อยกว่าก็ดูจะสู้เจ้าเก่ารายเดิมได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ LINE Man จึงจับมือเป็นพันธมิตรกับLalamove เพื่อให้ทางนั้นมาดูแลเรื่องสายส่งให้ รวมถึงให้ Wongnai ที่มีฐานข้อมูลร้านอาหารกว่า 2 แสนร้าน มาช่วยเชื่อมต่อข้อมูล จนทำให้บริการ Line Man กลายเป็นรายที่แข็งแกร่งที่สุดในประเภทร้าน Street Food โดยคิดราคาเริ่มต้นที่กม. แรก 55 บาท จากนั้นเพิ่ม 9 บาท/กม. ส่วนค่าอาหารจ่ายแยกเช่นกัน

2. Uber กับบริการ UberEATS เน้นอาหารระดับกลาง

hj7

ภาพจาก goo.gl/GhnAk9

ทางฝั่งของ Uber ก็มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย เราอาจคุ้นเคยจุดเด่นของ Uber ที่เป็นบริการเรียกรถสาธารณะอย่างมอเตอร์ไซด์ หรือว่าแท็กซี่

แต่เมื่อมองว่าธุรกิจ Deliverry กำลังมาแรงและสอดคล้องกับไลน์สไตล์คนเมือง Uber ก็มาเปิดบริการเพิ่มคือ UberEATS โดยเน้นที่ร้านอาหารระดับกลางถึงบน เช่นครัวอัปสร และส้มตำคอนแวนต์ รวมถึงไม่คิดค่าบริการขนส่ง และเป็นอีกครั้งที่ Uber ให้บริการขนส่งด้วยรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งที่เข้ากับคำว่า Deliverry ได้อย่างแท้จริง

3. Grab ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เปิดบริการ Grab Delivery

hj6

ภาพจาก goo.gl/Ebt6ya

ทาง Grab ที่ได้เดินเกมการส่งอาหารแบบ Delivery มาได้สักระยะกับบริการ Grab Delivery ที่คิดค่าบริการกม.แรก 25 บาท หลังจากนั้นคิดเพิ่ม 8-14 บาท และสามารถฝากซื้ออาหารร้านไหนก็ได้ เพียงแต่ขอให้ราคารวมกันไม่เกิน 1,000 บาท ก็มองหาความร่วมมือในลักษณะการสร้างพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งเพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่าและเพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่

โดยเกมส์นี้ Grab มุ่งเป้าไปยังขาใหญ่ในวงการอาหารอย่าง Foodpanda เพื่อเป็นส่วนเติมเต็มของกันและกันที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และเพื่อให้ขอบข่ายในการบริการมีวงที่กว้างมากขึ้นด้วย

4. Send Ranger ที่ไม่ส่งแค่เอกสารแต่มีบริการส่งอาหารด้วย

hj5

ไม่ใช่เฉพาะในหมวดหมู่ของบริการอย่าง Grab , Uber หรือ LINE Man เท่านั้น แต่บริการส่งเอกสารอย่าง Send Ranger ที่มี AIS เป็นแบ็คอัพ ก็หันมาเอาดีด้านนี้เพิ่มเติมเช่นกัน โดยเน้นการรับฝากซื้ออาหาร

โดยมีทั้งรับงานเองและเซ็นสัญญารับงานให้กับผู้ให้บริการส่งอาหารรายต่างๆ จุดแข็งของ Send Ranger คือเครือข่ายของ AIS ที่มีระบบครอบคลุมและมีพนักงานส่งกว่า 1,200 คน ทำให้การันตีการรับส่งเสร็จสิ้นภายใน 60 นาที ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพ และนครราชสีมา คิดราคาเริ่มต้น 77 บาท หลังจากนั้นคิดเพิ่ม 13 บาท/กม.

ส่วนที่สนับสนุนโดย dtac ก็คือ Skootar คิดค่าบริการเริ่มต้น 70 บาท จากนั้นคิดเพิ่ม 10 บาท/กม. ขอแค่สั่งอาหารไม่เกิน 1,000 บาทเท่านั้น

5. Sendit บริการส่งสินค้าของ True ก็ร่วมเปิดบริการส่งอาหารด้วย

hj4

ภาพจาก goo.gl/Qluxjh

เมื่อทาง AIS โดดมาเล่นในแวดวงนี้ กลุ่ม True ก็ไม่ด้อยไปกว่ากันด้วยการเป็นผู้สนับสนุน Sendit ซึ่งเป็นบริการขนส่งสินค้าในเครือของ Wemall และ Weloveshoping

โดยมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือการการันตีสินค้าระหว่างส่งได้ตั้งแต่ 5,000-40,000 บาท เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้กับผู้ที่สั่งสินค้าได้มีโอกาสกับอาหารจานด่วนที่สนใจและถึงแม้คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้บริการเป็นสินค้าธรรมดามากกว่า แต่ Sendit ก็ค่อยพัฒนาประสบการณ์ด้านนี้ออกมาเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นช่องทางที่ทำรายได้มากขึ้นในอนาคต

6.กลุ่มร้านอาหารไม่รอช้า เปิดแพลตฟอร์ม Delivery เข้าสู้!

hj3

ภาพจาก goo.gl/KRXZyW

แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มร้านอาหารที่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจแนวนี้ก็ไม่ได้หยุดนิ่งโดยเฉพาะ Foodpanda ที่สร้างแพลตฟอร์มของตัวเองร่วมกับการจับมือเป็นพันธมิตรกับบางเครือข่าย

ด้วยการสร้างข้อมูลร้านอาหารและจัดส่งให้ผู้บริโภคได้เลือกตามต้องการ โดยร้านอาหารอื่นๆ ก็มีแพลตฟอร์มที่ใกล้เคียงแบบนี้เช่นกัน อย่าง Ginja (กินจ๊ะ) ที่รวบรวมร้านอาหารในย่านอโศกเช่น BonChon และ Audrey Café & Bistroเพื่อจัดส่งให้ผู้พักอาศัยตั้งแต่อโศก ถึงพระโขนง

โดยคิดราคาค่าบริการ 4.9% ของอาหารที่สั่ง รวมค่าส่งอีก 59 บาท และสามารถสั่งอาหารผ่าน Messenger ของ Facebook ได้ทันที ไม่ต้องเข้าเว็บไซต์ หรือแม้กระทั่ง Zabdelivery ที่คิดค่าบริการในรูปแบบคล้ายๆ กับ Ginja และยังมี Dr.Food Delivery ที่รวบรวมร้านอาหารในจังหวัดสงขลา และส่งให้ถึงบ้านภายใน 40 นาทีอีกด้วย

ภาพรวมของวงการ Delivery ในปี 2017

hj10

ภาพจาก goo.gl/zxRPve

ประมาณการดูแล้วธุรกิจ Delivery นี้เป็นการขับเคี่ยวของแบรนด์ต่างๆเกือบ 10 รายด้วยกัน แต่เกือบทั้งหมดเน้นบริการในเขตกรุงเทพฯ และมีแนวทางใกล้เคียงกันคือให้บริการฝากซื้ออาหารตามที่ตัวเองชอบ และสามารถจชำระเงินปลายทางได้ทั้งเงินสดและเครดิต จุดเดือดน่าจะอยู่ที่โปรโมชั่นของแต่ละค่ายว่าจะทำการตลาดอย่างไรไม่ว่าจะฟรีค่าจัดส่งหรือลดราคาในโอกาสพิเศษ

แต่ทั้งนี้มองว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือผู้บริโภคที่มีทางเลือกมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตเองจะต้องมีบางรายที่หายไปจากตลาดบ้างหรือไม่ก็ถูกควบร่วมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็คาดว่าธุรกิจนี้ยังมีอนาคตที่ดีและจะมีความแปลกใหม่ที่เติมเข้ามาอยู่เป็นระยะๆอย่างแน่นอน

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด