วิธีเก็บเงินแบบ My Style ยุค 2020

My Style คือการเก็บเงินในสไตล์ของตัวเราเองซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน เทคนิคการเก็บเงินที่เราเคยรู้ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบภาพรวมที่พูดถึงการเก็บเงินแบบกว้างๆ ไม่ได้โฟกัสที่ตัวของแต่ละบุคคล 

ซึ่ง My Style จะแตกต่าง ไอเดียนี้มาจากหนังสือน่าสนใจอย่าง”Hegarty On Creativity กฎไม่มีอยู่จริง” แต่งโดย จอห์น เฮการ์ตี ที่ www.ThaiSMEsCenter.com เห็นว่าจะช่วยให้เราคิดวิธีเอานิสัยและความคุ้นเคยส่วนตัวของเรามาสร้างเป็นนิสัยในการออมเงินได้อย่างเป็นธรรมชาติ เรียกว่าเก็บเงินได้แบบไม่ต้องฝืนใจตัวเอง

1.สร้าง Passion การเงิน

วิธีเก็บเงินแบบ

ภาพจาก pixabay.com/

ทุกคนมี Passion ของตัวเองแตกต่างกัน แต่ถ้าเรายังไม่รู้ว่าอะไรคือ Passion ก็ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าสิ่งไหนที่เราชอบ สิ่งไหนที่เราหลงใหลมากที่สุด เช่นถ้าเราสนใจการทำขนม ไม่ว่าตอนนี้ฝีมือในการทำขนมเราจะแย่สักแค่ไหน แต่เราก็จะฝึกฝนและพยายามทำต่อไปเพราะนี่คือสิ่งที่ใจต้องการ นั่นแหละคือ Passion

เราสามารถปรับ Passion นี้มาเป็นไอเดียเก็บเงินได้เริ่มจากใช้ Passion เป็นแรงผลักดันให้อยากเก็บเงิน เช่น เรียนและฝึกทำขนม ต้องใช้งบประมาณเท่าใด และถ้า Passion ในเรื่องนี้คือการอยากเปิดร้านขายขนม จะต้องมีเงินทุนเท่าใด ? การเก็บเงินไปกับสิ่งที่เรารักแบบนี้จะทำให้เราเก็บเงินได้อย่างมีความสุขแน่นอน

2.ใส่ระเบียบในความไร้ระเบียบ

4

ภาพจาก pixabay.com/

โดยทฤษฏีแล้วเราสามารถสร้างพฤติกรรมที่เป็นรูปแบบที่ชัดเจนได้จากการ “ทำซ้ำ” เช่น ตอนเด็กเราเคยฝึกขี่จักรยานส่วนใหญ่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานแต่เราก็ยังพยายามฝึกขี่ทุกวัน ซึ่งพอเราขี่จักรยานได้สักครั้งเราก็จะสามารถขี่จักรยานได้ตลอดชีวิตทำอย่างไรเราก็ไม่ล้มอีก นั่นคือการทำงานของสมองที่ช่วงแรกจะต่อต้านให้เราทำไม่ได้แต่ถ้าเราฝืนและพยายามทำต่อสมองในส่วนจิตใต้สำนึกก็จะเริ่มเรียนรู้และสั่งให้เราทำสิ่งที่ต้องการได้แบบอัตโนมัติ

เกี่ยวยังไงกับการเก็บเงิน! เกี่ยวแน่ เพราะคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรม “สุขก่อน เก็บทีหลัง” คุ้นเคยกับความไร้ระเบียบในการเก็บเงิน การใส่ความเป็นระเบียบลงไปในขั้นตอนนี้ช่วงแรกเราอาจจะไม่คุ้นเคยและทำไม่ได้เช่นเดียวกับการขี่จักรยาน แต่ขอให้ทำซ้ำๆทำไปเรื่อยๆอย่างพยายาและเราจะเริ่มทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น การเก็บเหรียญ 10 บาททุกวัน ไม่ว่าในวันนั้นเราจะได้เหรียญ 10 มากี่เหรียญ เราจะไม่ใช้เราจะเก็บทั้งหมด หรือการเก็บเงินเหรียญไม่ว่าจะเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบ ได้มาเราเก็บหมด

ไม่ว่าจะเงินทอนอะไรเราเก็บแต่เงินเหรียญ และไปใช้เงินแบงค์แทน สิ่งเหล่านี้คือการสร้างนิสัยการออมเงินให้เป็นธรรมชาติและเมื่อเราทำจนคุ้นเคยเมื่อได้เงินเหรียญมา เราจะเก็บแบบอัตโนมัติได้ทันที สำคัญคือมีการตั้งเป้าว่าจะเก็บไปถึงเท่าไหร่ และเมื่อถึงเป้าหมายก็ให้รางวัลเล็กๆกับตัวเองในความพยายามนี้บ้าง

3.ขยาย Comfort Zone ให้กว้างขึ้น

3

ภาพจาก pixabay.com/

ทุกคนมีความ “กลัว” ในตัวเอง กลัวในสิ่งที่ไม่เคยทำ กลัวในสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของมนุษย์มักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ทำประจำเมื่อคิดจะเปลี่ยนไปทำอะไรที่แตกต่างสมองจิตใต้สำนึกจะต่อต้านให้เรารู้สึกไม่สบายใจ เพื่อบีบให้เรากลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ เหมือนการที่เราไม่เคยขึ้นเวทีพูดต่อหน้าคนเลยสักครั้ง วันหนึ่งมีคนบังคับให้เราต้องขึ้นไปพูดบนเวที จิตใต้สำนึกเราจะทำการต่อต้านให้รู้สึกไม่สบายใจ กระอักกระอ่วน ไม่กล้าทำ ไม่กล้าพูด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เรียกว่าเป็นการ ขยาย Comfort Zone ให้กว้างขึ้น

นำมาสู่เทคนิคการเก็บเงินจากการ ขยาย Comfort Zone คือการขยับวิธีการเก็บเงิน จากเดิมที่เราสบายใจกับการฝากเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อย่างลงทุนผ่านกองทุนรวม เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้นไม่ต่างกับการกระโดดขึ้นเวทีครั้งแรก ที่เราต้องรู้สึกกลัวหลายอย่าง กลัวถูกหลอก กลัวขาดทุน กลัวไม่มีเงินใช้

แนวทางที่แนะนำคือต้องปรับความเข้าใจตัวเองว่าเป็นการลงทุนเก็บเงินเพื่ออนาคตในหลากหลายสินทรัพย์เป็นรูปแบบที่เป็นสากล และช่วยเพิ่มทางเลือกให้เราสามารถเก็บเงินในระยะยาวที่เข้าถึงเป้าหมายให้เร็วขึ้นได้

สิ่งสำคัญคือ การศึกษาให้เข้าใจชัดเจนก่อน และจำกัดเงินที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่คุ้นเคยจะช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น และเมื่อเริ่มทำได้จากความกลัว จะกลายเป็นความกล้า และจะขยาย Comfort Zoneให้กว้างขึ้นได้อีก

4.มองการณ์ใกล้

2

ภาพจาก pixabay.com/

ใครๆก็สอนให้มองการไกล แต่การเก็บเงินในแบบ My Style เราบอกให้มองการณ์ใกล้เพราะสมองเรามักจะคำนวณความยากง่ายก่อนทำสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ซึ่งถ้าเรื่องนั้นง่ายมาก ๆ สมองมองว่าไม่เห็นจะเลวร้ายอะไร และไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ทำ เราจึงทำเรื่องนั้นได้ง่ายขึ้น หลักคือ การตั้งเป้าหมายที่ “ใกล้และง่าย”

ยกตัวอย่างว่าเราตั้งใจเก็บเงิน 1 ล้านให้ได้ภายใน 10 ปี นี่คือมองการณ์ไกล และสมองก็จะกระตุ้นเราว่า เป็นเรื่องยากทำไม่ได้หรอก เราจึงควรตั้งเป้าหมายให้ใกล้เข้ามา เช่นตั้งเป้าเก็บเงินเดือนละ 6,000 บาท หรือถ้ายังยากเกินไป ก็มาตั้งเป้าเก็บเงินแบบรายวันแบบวันละ 100-200 บาท อันนี้สมองเราก็จะมองว่ามันง่ายและทำได้ก็จะไม่ต่อต้านและให้เราเก็บเงินได้ง่ายขึ้น

ซึ่งเป้าหมายระยะใกล้ก็สัมพันธ์กับระยะไกลเพราะหากเก็บในแต่ละวันได้ 200 บาทไปเรื่อยๆ พอถึง 10 ปีเราก็มีเงินใกล้เคียง 1 ล้านมากขึ้น หรือจะเลือกวิธีประหยัดเงินอย่างไรก็ได้ให้ได้ 200 บาทต่อวันเช่นเคยนั่งแท็กซี่ก็เปลี่ยนมานั่งรถเมล์ ก็ถือเป็นการออมเงินที่เป็นสไตล์ของตัวเองได้อีกทางหนึ่งด้วย

เป้าหมายของการออมเงินคือการสร้างระเบียบวินัยทางการเงินให้กับตัวเอง ให้เป็นคนมีแบบแผนในการใช้จ่ายอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งวิธีออมเงินก็ขึ้นอยู่กับความพอใจของตัวเองและเป้าหมายของการออมเงินของแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ควรทำเหมือนกันคือการออมเงินอย่างมีวินัยและมีคุณภาพและต้องทำเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2pDTgyP

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด