รู้กันยัง! สงกรานต์ของเรา ก็มีจัดในประเทศอื่นด้วยนะ!

เทศกาลสงกรานต์ หรือที่คนยุโรปรู้จักกันดีในนามของ Water Festival ถือเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงอย่างมากจะพูดได้ว่าถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักเรามากขึ้นก็ว่าได้

ไม่พูดถึงจุดกำเนิดว่าใครเป็นผู้เริ่มต้นแต่ความจริงคือสีสันในงานสงกรานต์เมืองไทยถือว่าจัดจ้านและมีการพัฒนารูปแบบไปมากจนบางครั้งก็ดูจะเกินเลยค่านิยมดั้งเดิมไปไกลแต่นั่นก็ยังถือว่าเป็นเสน่ห์ที่ทุกคนตั้งตารอคอยซึ่ง1ปีมีครั้งเดียวและถือเป็นวันหยุดยาวที่สำคัญอีกด้วย

แต่ในแง่ของประวัติความเป็นมาแล้ว www.ThaiSMEsCenter.com ต้องการให้ทราบข้อมูลเบื้องลึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์สักเล็กน้อยว่าความจริงแล้วแม้เทศกาลนี้ใครจะยกย่องให้เมืองไทยนั้นสนุกสุดเหวี่ยงที่สุดแต่ความจริงประเพณีสงกรานต์ยังมีจัดพร้อมกันในอีกหลายประเทศในช่วงเวลาเดียวกันก็ถือเป็นอีกหนึ่งข้อมูลดีๆที่เราเอามาฝากให้อ่านกันในครั้งนี้

1.”โฮลิ” สงกรานต์สาดสีประเทศอินเดีย

Water Festival

ภาพจาก goo.gl/9XNw4p , goo.gl/ExaIJx

วัฒนธรรมของอินเดียถือว่าเป็นต้นกำเนิดของสงกรานต์ไทยโดยเป็นสงกรานต์ที่ใช้การสาดสี ไม่ใช่การสาดน้ำแบบที่เราคุ้นเคยกัน โดยประเพณีนี้ที่อินเดียมีชื่อเรียกว่า “โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา” ซึ่งจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ เดือนมีนาคม)บางตำนานได้กล่าวไว้ว่า

เทศกาลโฮลิ คือการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระกฤษณะในการปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า “โฮลิกา” ด้วยการเผาผลาญร่างกายนางจนมอดไหม้ จึงได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการเผาสิ่งสกปรกออกจากบ้าน และโฮลิ ก็ยังมีความหมายถึงการสิ้นสุดไปของปีเก่า จากนั้นพระพรหมก็จะสร้างโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันเพ็ญโฮลิปูรณิมา

ดังนั้น สิ่งที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลโฮลิก็คือการนำสิ่งของสกปรกออกไปจากบ้าน ไปรวมกันไว้ แล้วทำการเผาทิ้งไป ระหว่างนั้นก็จะมีการร้องรำทำเพลงไปเรื่อย พอวันรุ่งขึ้นก็จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเราให้หมดสิ้น

2.สงกรานต์ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

jk4

ภาพจาก goo.gl/Qzvi3X

เนื่องจากได้รับคติความเชื่อจากอินเดียมาเหมือนกัน จึงมีประเพณีสงกรานต์ที่มีความคล้ายคลึงกันมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เริ่มจาก “สงกรานต์ลาว” ที่จัดขึ้นในช่วงเดือน 5 (ประมาณเดือนเมษายน) โดยส่วนใหญ่จะจัดระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี ซึ่งจะมีการจัดงานหลักๆ ออกเป็น 3 วัน

วันแรกเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ถือเป็นวันแห่งครอบครัว เพราะญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส

และวันสุดท้ายเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่งนางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวอีกด้วย

3.สงกรานต์ประเทศเมียนม่าร์ (เหย่บะแวด่อ)

jk3

ภาพจาก goo.gl/oK5SJR

“สงกรานต์พม่า” จัดขึ้นช่วงเดือน เมษายนเช่นเดียวกับประเทศไทยไทย แต่คนพม่าถือว่าเมษายนนี้เป็นเดือนแรกของปีที่เรียกว่า “เดือนดะกู” ที่จะเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน

ในภาษาพม่า สงกรานต์มีชื่อเรียกว่า เหย่บะแวด่อ คำว่า เหย่ แปลว่า พิธีน้ำ ส่วน บะแวด่อ แปลว่า เทศกาลปัจจุบัน รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปีประชาชนชาวพม่าเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ โดยจะมีการเล่นสาดน้ำตลอดทั้ง 5 วัน

นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นช่วงมงคล จึงนิยมเจ้าวัดเข้าวา รักษาศีล สรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ มีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส และสระผมให้ผู้เฒ่าผู้แก่ด้วยน้ำส้มป่อย และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชายและจัดงานเจาะหูให้ลูกสาวด้วย

4.สงกรานต์กัมพูชา (โจลชนัมทเมย)

jk2

ภาพจาก goo.gl/Y2nLrV

โดยถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเช่นกัน โดยจะตรงกับช่วงวันสงกรานต์ของไทย เรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายนเทศกาลสงกรานต์ของชาวกัมพูชาจะมีกิจกรรมคล้ายๆ กับไทย

คือ มีการทำบุญตักบาตร ก่อพระเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน โดยจะแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน โดยมีทั้งการทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ สรงน้ำพระและพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นเดียวกับประเทศไทย

5.สงกรานต์สิบสองปันนา (พัวสุ่ยเจี๋ย)

kl1

ภาพจาก goo.gl/yS37lC

เป็นสงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใจ้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองจี่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล “พัวสุ่ยเจี๋ย” โดยจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน กิจกรรมหลักๆ ที่มีก็คือ

การแข่งขันเรือมังกร อันเป็นเอกลักษณ์ของเทศกาล การระบำนกยูง ที่มีความเชื่อว่าจะนำพาความโชคดีมาให้ มีการร้องรำทำเพลงต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกันในเหล่าชาวเมือง รวมถึงผู้ที่ผ่านไปผ่านมาด้วย เพราะเชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว

6.สงกรานต์หลังวันอีสเตอร์ (Wet Monday)

jk7

ภาพจาก goo.gl/HMMNFL

นอกจากงานสงกรานต์จะจัดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีประเทศในแถบยุโรป ที่มีประเพณีสาดน้ำคล้ายๆ กับในบ้านเราเช่นกัน ประเพณีมีชื่อเรียกว่า “Wet Monday” เป็นประเพณีเก่าแก่ทางศาสนาที่นิยมจัดขึ้นในแถบยุโรปกลาง

โดยเฉพาะในโปแลนด์ เช็ค สโลวาเกีย และยูเครน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่สองของเทศกาลอีสเตอร์ โดยจัดขึ้นตามความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อน

โดยจะใช้น้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง เดิมนั้นประเพณี Wet Monday จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิง โดยผู้หญิงที่สวยที่สุดในหมู่บ้านจะถูกรุมสาดน้ำจนเปียกปอนมากที่สุด

ในด้านการตลาดนั้นประเพณีสงกรานต์นอกจากหลายคนจะตั้งตารอคอยเทศกาลนี้ในแง่ของการทำธุรกิจก็มีความสำคัญที่ผู้ประกอบการหลายคนใช้กระแสเทศกาลเป็นตัวสร้างจุดขายให้สินค้าก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคการตลาดที่น่าสนใจซึ่งเราก็มีบทความมากมายเกี่ยวกับการกระตุ้นยอดขายในเทศกาลสงกรานต์ให้ทุกท่านได้ติดตามอ่านกันอย่างเต็มอิ่ม

ท่านใดที่สนใจในบทความเกี่ยวกับการขายสินค้าและการตลาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ goo.gl/dafOFD

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด