การเขียนแผนธุรกิจแฟรนไชส์

จุดเริ่มต้นของ การทำธุรกิจที่ดี จำเป็นต้องมีการทำแผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วๆ ไป หรือธุรกิจที่จะสร้างเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ควรประกอบไปด้วยการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

z2

  1. สินค้าหรือบริการที่จะขาย
  2. กลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง
  3. จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ
  4. นโยบายการตลาด
  5. วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต และ
  6. ตัวเลขทางการเงิน เกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน จำนวนเงินที่จะลงทุน และกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณไปเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจแฟรนไชส์คร่าวๆ ความสำคัญ ขั้นตอน วิธีการเขียนแผนธุรกิจที่ดี เขียนออกมาแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในด้านไหนบ้าง

z3

แผนธุรกิจที่ดี เมื่ออ่านแล้วควรจะต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ อาทิ

  • การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง
  • ธุรกิจนี้น่าลงทุนหรือไม่
  • ธุรกิจที่จะทำมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
  • ธุรกิจนี้มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด
  • สินค้าที่จะผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
  • สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
  • วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้น มีทางเลือกอื่นๆ ที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่
  • หน้าที่ต่างๆ เช่น การผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีเหมาะสมเพียงใด
  • จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่

ทำไมต้องพิถีพิถันกับการเขียนแผนธุรกิจ

as4

ผู้ที่ริเริ่มจะก่อตั้งธุรกิจใหม่ จำเป็นต้องให้เวลากับการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้ได้แผนที่ดี ทั้งนี้เพราะ

  1. แผนที่ดีเป็นตัวชี้ว่าผู้เขียนมีความสามารถ ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดความฝันเท่านั้น แผนที่ดีจะทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้แน่ใจว่า ผู้ประกอบการใหม่สามารถทำให้ความคิดและความฝันกลายเป็นความจริงได้หรือไม่
  2. แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นมืออาชีพ ความสมบูรณ์ครบถ้วนของแผนจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถและความใส่ใจเพียงใด เพราะถ้าแผนขอกู้ยังไม่มีคุณภาพ ย่อมคาดหวังไม่ได้กับคุณภาพการประกอบการในอนาคต
  3. แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวอย่างดี แผนจะบอกถึงระดับความเตรียมพร้อมในธุรกิจที่จะลงทุน ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความรู้เท่าทันในธุรกิจนั้นๆ ขนาดไหน ยิ่งถ้ามีระดับการเตรียมพร้อมและทางหนีทีไล่มากเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้รู้สึกเสี่ยงน้อยลงเท่านั้น
  4. แผนที่ดีเผยให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ คือเป็นผู้เล็งการณ์ไกล และมีวิธีจะจัดการกับสิ่งท้าทายในอนาคต แผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคตของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กร

รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงินและนักลงทุนภายนอกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการในอนาคตได้ โดยปกติแผนธุรกิจจะบอกให้เราทราบว่าปัจจุบันเราเดินอยู่ ตรงไหน อนาคตจะไปอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร

องค์ประกอบในการเขียนแผนธุรกิจแฟรนไชส์

as5

แผนธุรกิจ หรือ Business Plan เป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ แผนนี้เป็นผลสรุป กระบวนการคิดพิจารณา และการตัดสินใจ ที่เปลี่ยนความคิดของผู้ประกอบการออกมาเป็นโอกาสทางธุรกิจ

คนส่วนใหญ่มักเปรียบเทียบว่าแผนธุรกิจเปรียบเหมือนแผนที่ในการเดินทาง ที่จะชี้แนะขั้นตอนต่างๆ ทีละขั้นตอนในกระบวนการก่อตั้งกิจการ แผนจะให้รายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องของการตลาด การแข่งขันกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ การคาดคะเนทางการเงิน ที่จะชี้นำผู้ประกอบการไปสู่ความสำเร็จหรือชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนและข้อควรระวังด้วยเช่นกัน

z1

1.บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

เป็นส่วนที่จะสรุปใจความสำคัญๆ ของแผนธุรกิจทั้งหมดให้อยู่ในความยาวไม่เกิน 1-2 หน้า ส่วนนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนแรกที่ผู้ร่วมลงทุนจะอ่านและจะต้องตัดสินใจจากส่วนนี้ว่า จะอ่านรายละเอียดในตัวแผนต่อหรือไม่

บทสรุปผู้บริหารจึงต้องชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ ว่า ธุรกิจที่จะทำมีโอกาสจริงๆ ในตลาด และต้องชี้ให้เห็นว่า สินค้าหรือบริการที่จะทำนั้น จะสามารถใช้โอกาสในตลาดที่ว่านั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร

บทสรุปผู้บริหารจึงต้องเขียนให้เกิดความน่าเชื่อถือ หนักแน่น และชวนให้ติดตามรายละเอียดที่อยู่ในแผนต่อไป ผู้เขียนแผนควรระลึกไว้เสมอว่า คุณภาพของบทสรุปผู้บริหารจะสะท้อนถึงคุณภาพของแผนโดยรวม จึงควรให้เวลากับการเขียนส่วนนี้อย่างพิถีพิถัน

2.ประวัติโดยย่อของกิจการ

ส่วนนี้คือการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งกิจการ ทั้งในด้านรูปแบบการจัดตั้ง หรือจดทะเบียน ตลอดจนแนวคิดและที่มาของการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด

การคิดค้นและพัฒนาสินค้า/บริการ ที่ต้องการนำเสนอให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายระยะสั้น ที่ต้องการให้เกิดในอนาคต

z7

3.การวิเคราะห์สถานการณ์

ขั้นตอนแรกของการจัดทำแผนธุรกิจ คือ การพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขัน ความน่าสนใจโดยรวมของอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และความพร้อมในด้านต่างๆ ของกิจการ

ดังนั้น การวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นงานอันดับแรกที่สำคัญที่ผู้ประกอบการควรกระทำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ รวมถึงเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ข้อได้เปรียบกับคู่แข่ง แล้วสรุปเหตุผลว่า กิจการหรือธุรกิจของคุณดีอย่างไร ทำไมถึงต้องทำแฟรนไชส์

4.วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ

ให้ระบุผลลัพธ์ทางธุรกิจ ที่ต้องการได้รับในช่วงระยะเวลาของแผน ซึ่งโดยทั่วไปเป้าหมายทางธุรกิจอาจเป็นเป้าหมายโดยรวมของกิจการ และเป้าหมายเฉพาะด้านในแต่ละแผนกหรือลักษณะงาน เช่น เป้าหมายทางการตลาด เป้าหมายทางการจัดการ เป้าหมายทางการผลิต และเป้าหมายทางการเงิน เป็นต้น

เป้าหมายทางธุรกิจอาจแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น คือ ภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลาง ประมาณ 3-5 ปี และเป้าหมายระยะยาวที่นานกว่า 5 ปี เช่น ให้คุณระบุเป้าหมายการเติบโต จำนวนสาขาแฟรนไชส์ที่จะขยายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น ภายใน 1-5 ปี วางเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 100-200 สาขา และภายใน 10 ปี วางเป้าหมายขยายสาขาไปในต่างประเทศ

z6

5.แผนปฏิบัติการ

เป็นการเขียนระบุขั้นตอนต่างๆ ในการทำงาน ที่จะนำพาธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจ การปรับปรุง แผนการทำงาน แผนการสร้างร้านต้นแบบแฟรนไชส์ ใช้เวลากี่เดือน งบประมาณมากน้อยแค่ไหน แผนการตลาด กำหนดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด

ตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมการตลาดไว้ล่วงหน้า รวมถึงกระบวนการ และวิธีการสร้างรายได้จากค่าสิทธิและอื่นๆ รวมถึงค่าใช้จ่าย และการลงทุน งบประมาณที่ต้องใช้ และแหล่งเงินทุนต่างๆ

แผนการตลาดจึงเป็นการกำหนดกลยุทธ์และวิธีในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อให้กิจการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่มุ่งหวัง โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทางการตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการตอบรับกับความเป็นไปและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในดำเนินธุรกิจ ทั้งภายนอกและภายในกิจการ

ต้องรู้ว่าลูกค้าเป้าหมายเป็นใคร นำเสนอสินค้าหรือบริการอะไรให้กลุ่มเป้าหมาย ราคาเท่าไหร่ ขายอย่างไร มีวิธีการสร้างความพอใจให้ลูกค้าแบบไหนบ้าง รูปแบบการให้บริการเป็นอย่างไร ที่จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ทำอยู่ รวมถึงแผนการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีให้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การโฆษณาประชาสัมพันธ์

สินค้าต้องซื้อจากไหน จัดส่งให้ หรือซื้อเอง ขั้นตอนการฝึกอบรมกี่วัน รวมถึงการจัดหาบุคลากรเข้ามาสนับสนุนด้วย มีการระบุเกี่ยวกับวิธีการให้สิทธิ ค่าสิทธิต่างๆ ที่จะเรียกเก็บกับแฟรนไชส์ซี เจ้าของแฟรนไชส์ต้องทำความเข้าใจ และศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะระบุลงไปในร่างแผนธุรกิจแฟรนไชส์ (แต่เปลี่ยนแปลงภายหลังได้)

ร่างแผนธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี ย่อมจะให้รายละเอียดถนนหนทาง และทิศทางในการทำธุรกิจที่ชัดเจน ช่วยให้ผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ตัดสินใจได้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นควรจะร่วมลงทุนด้วยหรือไม่

แผนธุรกิจเมื่ออ่านแล้วต้องเข้าใจง่าย บอกขั้นตอน วิธีการทำงาน วิธีการบริหารธุรกิจ บอกว่าเขาซื้อไปจะได้อะไรจากเจ้าของแฟรนไชส์บ้าง ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเข้าใจแนวคิดและปรัชญาของธุรกิจ แผนปฏิบัติการ ปัญหาอุปสรรค และหนทางที่เตรียมการเพื่อไปสู่ความสำเร็จ

ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะใช้เงินลงทุนของตัวเอง ไม่ต้องการผู้ร่วมลงทุนหรือเงินกู้จากสถาบันการเงิน แผนธุรกิจก็ยังจำเป็นอยู่ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแผนที่ในการบอกทิศทางของการดำเนินกิจการในอนาคต

อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม
5 เหตุผล ทำไมควรเขียนแผนธุรกิจ : bit.ly/2lxqXjc

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/37UCIX2

plann01

ท่านใดสนใจอยากให้ร่างสัญญาแฟรนไชส์โดยถูกต้องตามหลักกฎหมายแจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช