“Toys R Us” อเมริกา ยื่นล้มละลาย จะไม่กระทบต่อ สาขา ในไทย

ถือเป็นเรื่องน่าตกใจอยู่ไม่น้อย! แต่ไม่น่าเกินความคาดหมายของใครหลายคน เมื่อ Wall St. Journal รายงานว่า ทอยส์ “อาร์” อัส (อังกฤษ Toys R Us หรือเครื่องหมายการค้าคือ Toys Я Us) บริษัทค้าปลีกขายของเล่นรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เตรียมยื่นล้มละลายเพื่อขอสิทธิการคุ้มครอง ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากก่อนหน้านี้ผู้ผลิตของเล่นตัวต่อรายใหญ่ของโลกอย่าง LEGO ก็ประกาศลดจำนวนพนักงาน 1,400 ตำแหน่ง ก่อนช่วงปลายปี 2560 เช่นกัน แล้วหากถามว่า Toys R Us ในประเทศไทย และ สาขา อื่นๆ นอกสหรัฐอเมริกา จะได้รับผลกระทบหรือไม่?

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้ลองสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านบริษัทข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะขยาย สาขา ไปต่างประเทศในรูปแบบของแฟรนไชส์และไลเซ่นส์ เพราะนักลงทุนในพื้นที่จะมีความเชี่ยวตลาดมากกว่าบริษัทแม่ทำเอง

“ไม่ได้ปิดกิจการ” ยื่นล้มเพื่อคุ้มครอง ฟื้นฟู

2

กรณีการเตรียมยื่นล้มละลายเพื่อขอสิทธิการคุ้มครองของ Toys R Us อเมริกา จากที่เคยได้ฟังผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศบรรยายในเวทีสัมมนาต่างๆ กรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อสาขาในประเทศไทย รวมถึงสาขาอื่นๆ นอกประเทศสหรัฐฯ มากเท่าใดนัก

แต่อาจจะกระทบเรื่องของเงินทุนสนับสนุนบ้างเล็กน้อย รวมถึงนโยบายการลงทุนที่อาจจะชะลอตัวลงไปเท่านั้น และการขยาย สาขา เพิ่มอาจจะมีไม่มากนัก

อีกทั้ง Toys R Us สาขาทั้งหมดในประเทศไทย อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ทอยส์ รีเทลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย โดยแยกอิสระจากบริษัทแม่ในอเมริกา ดังนั้น บริษัทสามารถอยู่รอดได้ตนเอง ที่สำคัญตลาดในเอเชีย รวมถึงจีนยังสร้างรายได้ และเติบโตได้อีกมาก ไม่เหมือนอเมริกาที่มีคู่แข่งอย่างอีคอมเมิร์ซ

ที่สำคัญกระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11 ไม่ได้หมายความว่าบริษัทปิดกิจการ แต่ Chapter 11 ให้อำนาจการบริหารการจัดการแก่ฝ่ายบริหาร ที่ยังคงควบคุมกิจการเพื่อให้องค์กรสามารถฝ่าวิกฤติได้

3

อีกทั้งกระบวนการนี้ ยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทต่างประเทศในเครือ ที่ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในคำร้อง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่ที่อยู่ภายใต้ Chapter 11 กับบริษัทลูกในต่างประเทศยังเป็นไปตามปกติ

หากลองย้อนกลับไปดู ตั้งแต่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาครั้งก่อน ทำให้บริษัทหลายแห่งของสหรัฐฯ เกิดปัญหาการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงินและบริษัทรถยนต์ในสหรัฐฯ หลายแห่ง แทบจะล้มทั้งยืน จนมีจำนวนไม่น้อยต้องยื่นร้องต่อศาล เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11

ไครสเลอร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของค่ายรถยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ หรือบิ๊กทรี ได้ยื่นเรื่องพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลายและเตรียมขายกิจการ เกือบทั้งหมดให้เฟียต ออโต พี.เอส.เอ.แห่งอิตาลี
ขณะที่เจนเนอรัลมอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม ค่ายรถใหญ่สุดของบิ๊กทรี ก็โดนรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งเร่งปรับลดหนี้สินและต้นทุนดำเนินงาน พร้อมทั้งเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ให้เสร็จภายในวันที่ศาลกำหนดไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย

Toys R Us เข้ามาเมืองไทย เมื่อไหร่?

4

ชื่อชั้นของ Toys R Us โด่งดังเพียงใดในระดับโลก นักนิยมของเล่นต่างประจักษ์แจ้งกันเป็นอย่างดี การก้าวเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ภายใต้การบริหารของ บริษัท ลีแอนด์ฟุง จากฮ่องกง หลักจากซุ่มศึกษาตลาดเมืองไทยกว่า 2 ปี โดย Toys R Us เมืองไทย อยู่ใต้การบริหารของบริษัท ทอยส์ รีเทลลิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

สาขาแรกในเมืองไทยที่เซ็นทรัล บางนา ซิตี้ เปิดบริการเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2548 ในรูปแบบ Shop-in-shop ด้วยพื้นที่ 1,978 ตารางเมตรกับของเล่น 10,000 ชนิด ด้วยงบลงทุน 50 ล้านบาท ช่วงแรกต้องไปสร้างกระแสกับเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักตามโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนนานาชาติ พร้อมๆ กับแผ่นป้าย บิลบอร์ด ประชาสัมพันธ์

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ Toys R Us ไม่ได้มีเพียงกลุ่มเด็ก 0-14 ปี ในไทย วัยรุ่น วัยทำงาน คือกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญด้วย โดยมีโอกาสทางการตลาดจากวาระต่างๆ เช่น ซื้อเป็นของขวัญให้เพื่อน ให้แฟน และสำหรับนักสะสม

ธุรกิจของ Toys R Us ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มไปได้ดี ผู้บริหารเคยให้สัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2560 ว่า หลังจากเปิดให้บริการมาครบ 10 ปี บริษัทได้ขยายสาขาลำดับที่ 12 ที่ชั้น 3 ศูนย์การค้า โชว์ ดี ซี

ขนาดพื้นที่ 850 ตารางเมตร แบ่งเป็น 7 โซน ได้แก่ เมืองซูเปอร์ฮีโร่ เมืองเครื่องยนต์ มหาสนุก เมืองเจ้าหญิง เมืองเกมหรรษา เมืองของเล่นสนุกคิด เมืองกีฬาสุดมันส์ และเบบี้ “อาร์” อัส

Toys R Us อเมริกา หวังเดินตามรอย Domino’s Pizza

5

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า CEO คนปัจจุบันของ Toys R Us คือ Dave Brandon ที่เคยเป็น CEO ของ Domino’s Pizza มาก่อน เขามีชื่อเสียงจากการพลิกฟื้นกิจการ Domino’s Pizza ให้กลับมาทำกำไร

และเข้ามารับตำแหน่ง CEO ของ Toys R Us ในปี 2015 ซึ่งสถานะการเงินของ Toys R Us ก็เริ่มกระเตื้องขึ้นในปี 2016 การยื่นขอล้มละลายครั้งนี้ จะถือเป็นการต่อเวลาให้ Brandon สามารถฟื้นฟูกิจการได้อีกระยะหนึ่ง

ความพยายามในการแก้ปัญหาหนี้ของ Toys R Us ก่อนถึงเทศกาลวันหยุดปลายปี ถือเป็นช่วงจังหวะสำคัญที่จะช่วยบริษัทผู้ผลิตของเล่นใหญ่ๆ อย่าง Mattel และ Hasbro เห็นภาพแนวโน้มระยะยาวของ Toys R Us ได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิต ในการสต๊อกสินค้าตามสาขาของห้างของเล่นแห่งนี้ ในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปี

เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา Toys R Us ได้ประกาศตัวเลขขาดทุน 164 ล้านดอลลาร์ ของไตรมาสแรกของปี ถือว่าขาดทุนสูงขึ้นจากที่ขาดทุน 126 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดขายของ สาขา เดียวกันได้ลดลง 4.1%

6
ทั้งนี้ร้านค้าปลีก Toys R Us ก่อตั้งในปี 1948 และเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 1978 ปัจจุบันมี สาขา ทั้งหมด 1,948 แห่งใน 38 ประเทศทั่วโลก (รวมแบรนด์ลูก Babies R Us สำหรับสินค้าเด็กทารก)

มี สาขา ในไทย 12 สาขา (ตัวเลขจากรายงานผลประกอบการปี 2016) บริษัทมีพนักงานทั้งหมด 64,000 คนทั่วโลก และในช่วงเทศกาลปลายปีที่มีการซื้อของเล่นกันมาก ตัวเลขพนักงานแบบ Part Time ที่จ้างเพิ่มด้วยจะรวมเป็น 107,000 คน

ต้องติดตามกันต่อไปครับว่า Toys R Us ภายใต้การบริหารของ Dave Brandon ที่เคยเป็น CEO ของ Domino’s Pizza มาก่อน จะสามารถฟื้นฟูกิจการให้กลับมารุ่งเรืองเหมือนกับ Domino’s Pizza ได้หรือไม่

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน goo.gl/9RCSne

ขอบคุณรูปภาพจาก goo.gl/P8Nw2q

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช