5 วิธีแก้ปัญหา! หมดยุค “ทำเลขายส่ง” พ่อค้าแม่ค้าต้องทำอย่างไร

ปี 2563 จากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตแม้จะมีเรื่องของตลาดออนไลน์เข้ามาแต่ก็ประเมินเบื้องต้นว่าพ่อค้าแม่ค้าน่าจะปรับตัวและเดินหน้าต่อไป แต่ทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID 19 ทุกอย่างหยุดชะงักและเรื่องราวกลับตาลปัตรในทันที เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวอย่างหนัก

แม้ตอนนี้จะมีการคลายล็อคให้สถานประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่ประชาชนได้เดินทางสะดวกมากขึ้นจนดูเหมือนจะเป็นปกติ แต่ที่ไม่ปกติและบ่นเป็นเสียงเดียวกันคือ “ยอดขาย” “รายได้” ที่ลดลงอย่างมาก พ่อค้าแม่ค้าบางคนถึงขนาดต้องปิดร้าน เลิกกิจการเพราะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย กับค่าเช่า เปิดร้านขายของต่อไปก็มีแต่เจ็บกับเจ็บ

ไม่ใช่แค่การค้าปลีก แม้แต่ “ทำเลขายส่ง” จากที่เคยรุ่งเรืองมียอดขายหลายแสนบาทต่อเดือนตอนนี้รายได้ลดหายกว่า 70-80% ค้าส่งหลายร้านในย่านทำเลชื่อดังหลายแห่ง ที่ทนไม่ไหวประกาศเซ้งต่อกิจการ หรือเลิกกิจการ ตอกย้ำความเป็นจริงในยุคนี้ที่ www.ThaiSMEsCenter.com สาหัสสำหรับการทำธุรกิจจริงๆ

ช่วงปี 2554-2557 ยุคเฟื่องฟูสุดๆ ของทำเลค้าส่ง

ทำเลขายส่ง

ภาพจาก bit.ly/3fNO2VO

เห็นภาพทำเลค้าส่งในตลาดนัดจตุจักร ประตูน้ำ แพลตทินั่ม โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ฯลฯ ในตอนนี้ช่างแตกต่างจากอดีตมาก ถ้ายังมองไม่เห็นภาพลองย้อนอดีตไปดูช่วงปี 2554-2557 ที่นับว่าเป็นปีทองและยุคเฟื่องฟูที่สุดของทำเลค้าส่งต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีนักลงทุนจากทั่วสารทิศหอบเงินก้อนโตมาลงทุนเปิดศูนย์ค้าส่งแห่งใหม่เป็นระยะ ๆ แต่ละแห่งจะมีร้านค้าตั้งแต่ 300-500-1,000 ยูนิต

ยกตัวอย่างกลุ่มใบหยก ที่เปิดศูนย์ค้าส่งเทรนด์ใหม่ สไตล์หรูหรา “บี แกลอรี่” ด้วยจำนวนร้านค้า 300 ยูนิต เพื่อเสริมใบหยก-1 และใบหยก-2, กลุ่มโอเวอร์ซีส์ คอนสตรัคชั่น ลงทุนเปิดวอเตอร์เกต พาวิลเลียน ศูนย์ค้าส่งครบวงจร ในย่านประตูน้้ำ, กลุ่มบำรุงเมือง พลาซ่า ลงทุนกว่า 2 พันล้าน เปิดศูนย์ค้าส่ง “โซโห” ใกล้ ๆ กับตลาดโบ๊เบ๊ (ปัจจุบันปิดแล้ว) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทุนอสังหาฯ เจ.เอส.พี.กรุ๊ป ลงทุนหลายพันล้าน เปิด “ไชน่า เซ็นเตอร์” บนถนนกัลปพฤกษ์-กาญจนาภิเษก, บี โฮม คอร์ปอเรชั่น ที่เปิดโครงการสำเพ็งท่าดินแดง เป็นต้น

ยังไม่นับรวมถึงศูนย์ค้าส่งอีก 2-3 แห่ง ที่ทยอยเปิดตัวรอบ ๆ ตลาดนัดจตุจักร อาทิ จตุจักร กรีน, ทาวน์สแควร์, อินสแควร์ รวมพื้นที่ขายไม่ต่ำกว่า 3,000-4,000 ยูนิต ไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น ความแรงของธุรกิจค้าส่งยังลามไปหัวเมืองในต่างจังหวัดด้วยอีกหลาย ๆ จังหวัด เช่น ศูนย์ค้าส่งแฟชั่น “168 แพลตินั่ม” จังหวัดอุดรธานี, ประตูน้ำขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงเรื่องของรายได้ ในช่วงเวลาดังกล่าว พ่อค้าแม่ค้าลืมต้าอ้าปากวาดฝันถึงเงินก้อนโต มีเงินเหลือกินเหลือเก็บจากการเปิดร้านค้าส่งได้เป็นอย่างดี

45

ภาพจาก bit.ly/3jkgBfO

ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบันไปดูกันทีละจุดเริ่มจากที่ “สวนจตุจักร” ตลาดนัดที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี จากการแพร่ระบาดของ COVID 19 ที่ทำให้ตลาดปิดชั่วคราวไปกว่า 2 เดือนเมื่อกลับมาค้าขายได้อีกทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม ไปจตุจักรตอนนี้เห็นป้ายประกาศปิดร้าน เซ้งร้าน ประกาศให้เช่า ภาพคนเดินก็เงียบเหงาบางตา ส่วนใหญ่มาเดินเล่นมากกว่ามาเดินซื้อของ

ผู้เช่ากว่า 8,000 – 10,000 แผง ในตอนนี้ต้องแบกรับปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่สัมพันธ์กับรายได้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ไม่แตกต่างจากทำเลค้าส่งอื่นๆ เช่นที่ประตูน้ำ แพลตทินัม โบ๊เบ๊ สำเพ็ง ฯลฯ ที่ทำให้ยอดขายของพ่อค้าแม่ค้าหายไปกว่า 70-80% แม้ทางเจ้าของพื้นที่ใช้วิธีลดค่าเช่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือแต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผล

เพราะปัญหาที่แท้จริงคือไม่มีลูกค้า ไม่มีคนซื้อสินค้าจากที่เคยขายได้วันละหลายหมื่นบาท เดือนละหลายแสน ก็กลับมียอดขายวันละไม่กี่พันบาท บางวันคำนวณแล้วไม่พอเค่าเช่า อย่างที่แพลตทินั่มที่มีร้านค้าในพื้นที่ประมาณ 2,300 ร้านค้า ตอนนี้ก็ทยอยปิดกิจการ ประกาศให้เช่าไปกว่า 30-40% เช่นเดียวกับที่โบ๊เบ๊ที่ร้านค้าประกาศปิดกิจการ เซ้งกิจการไม่ต่ำกว่า 20-30% สะท้อนให้เห็นปัญหาที่เรียกว่า “สาหัส” สำหรับธุรกิจค้าส่งอย่างมาก

ปัญหาคืออะไร? และจะแก้ไขผ่อนหนักให้เป็นเบาอย่างไรได้บ้าง?

ประเมินเบื้องต้นพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจาก 5 สาเหตุหลัก ถามว่าจะแก้ไขอย่างไรคงตอบยาก แต่ถ้าจะผ่อนหนักให้เป็นเบาก็คงพอได้แต่ก็ขึ้นอยู่กับในแต่ละทำเล ในแต่ละผู้ค้าที่จะมีวิธีการร่วมมือกันหรือมีไอเดียแบบไหนอย่างไรในการแก้ไขปัญหาร่วมด้วย

1. เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ

44

ภาพจาก bit.ly/3hjeNC4

นี่คือปัญหาหลักจากภาวะเศรษฐกิจก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ COVID 19 ก็มีปัญหาในระดับหนึ่งมาเจอวิกฤติไวรัสระบาดซ้ำตอนนี้ประชาชนขายรายได้อย่างหนักอย่าคิดถึงเรื่องการลงทุนแค่ให้พอมีใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ยากเกินพอ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพ่อค้าแม่ค้าในทำเลค้าส่งถึงมียอดขายลดลงมาก

ทางแก้ไขเบื้องต้น : พ่อค้าแม่ค้าอาจต้องยอมปรับลดราคาสินค้าหรือเลือกสินค้าที่ราคาย่อมเยาลงมา และพยายามคัดสินค้าที่ตรงกับความต้องการจริงๆมาจำหน่าย อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

2. ตลาดออนไลน์เข้ามาแทนที่

43

ภาพจาก freepik

แม้จะไม่ใช่ผลกระทบขนาดใหญ่หากไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID 19 เชื่อว่าปัญหานี้พ่อค้าแม่ค้าจะมีวิธีรับมือได้ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัสเกิดขึ้น ส่งเสริมให้ตลาดออนไลน์ยิ่งเฟื่องฟู คนส่วนใหญ่หันมาซื้อสินค้า สั่งสินค้าผ่าน Marketplace ต่างๆ มากขึ้น

ทางแก้ไขเบื้องต้น : พ่อค้าแม่ค้าหลายคนพยายามเพิ่มช่องทางออนไลน์เข้ามา แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่สร้างรายได้ที่ดีนัก หากหวังจะเพิ่มยอดขายที่ดีและไปต่อในธุรกิจค้าส่งต้องรุกตลาดออนไลน์ให้มากขึ้นและจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่

3. ไม่มีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติ

42

ภาพจาก bit.ly/2CTCcuF

ส่วนหนึ่งของรายได้มาจากชาวต่างชาติไม่ว่าจะจตุจักร แพลตทินั่ม ประตูน้ำ แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID 19 คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้น้อยลง กำลังซื้อในส่วนนี้ก็น้อยลงไปด้วย

ทางแก้ไขเบื้องต้น : เมื่อกำลังซื้อจากต่างชาติลดลงพ่อค้าแม่ค้าต้องพยายามหาช่องทางค้าขายในกลุ่มคนไทยให้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนลูกค้าที่เป็นคนไทยให้มากขึ้นหรือมองหากลุ่มลูกค้าในประเทศเพื่อนบ้านที่พอมีความเป็นไปได้ในการซื้อขาย

4. ความวิตกของคนที่มีต่อ COVID 19

41

ภาพจาก bit.ly/2Wz8xhl

การแพร่ระบาดของ COVID 19 มีผลกระทบไปถึงจิตใจของเราทุกคน แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง แม้จะรู้ว่ามาตรการป้องกันที่ภาครัฐมีนั้นเพียงพอ แต่พอมีข่าวการแพร่ระบาดทีไรคนเราก็จะหวั่นวิตกทุกครั้ง เมื่อหวั่นวิตกและหวั่นๆในใจว่า COVID 19 จะแพร่ระบาด รอบ2 เมื่อไหร่ทำให้คนเรากล้าๆ กลัวที่จะออกไปจับจ่าย ไปซื้อสินค้า

ทางแก้ไขเบื้องต้น : ร้านค้าต้องพยายามสร้างความเชื่อมั่นและทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าอยู่ในทำเลสะอาด ปลอดเชื้อมีมาตรการดูแลที่ดี สินค้าวางใจได้ เรื่องนี้ร้านค้าต้องประชาสัมพันธ์ตัวเองมากขึ้น

5. สินค้ามีรูปแบบซ้ำๆและไม่มีจุดแตกต่าง

40

ภาพจาก bit.ly/2Bg6Wpn

ในยุคที่การขายส่งมีกำลังซื้อน้อยลง และมีคู่แข่งจำนวนมาก สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าหรือว่าทำเลค้าส่งต้องพยายามปรับปรุงคือการหาจุดขายที่แตกต่าง ในอดีตเรื่องนี้อาจไม่สำคัญเพราะการมีร้านค้าขายสินค้าแบบเดียวกัน แต่ลูกค้ามีจำนวนมากก็มีกำลังซื้อที่กระจายกันไป แต่เมื่อกำลังซื้อมีขีดจำกัดหากเรายังค้าขายแบบเดิมๆ รายได้ก็ไม่มีทางเพิ่มขึ้นได้

ทางแก้ไขเบื้องต้น : อาจเป็นเรื่องยากแต่ถ้าทำได้จะเป็นผลดีกับร้านค้า สินค้าที่จำหน่ายต้องเน้นที่แปลก แตกต่าง และยิ่งใส่ไอเดียเข้าไปได้จะยิ่งทำให้น่าสนใจ เจ้าของร้านค้าส่งทั้งหลายต้องพยายามมองสินค้าที่แปลกแหวกแนวและเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปในราคาที่เอื้อมถึงได้

และไม่ใช่แค่ทำเลค้าส่งหรือธุรกิจค้าส่งเท่านั้นที่มีปัญหา ตอนนี้ภาพรวมมีปัญหาในทุกธุรกิจ รายได้ของประชาชนลดลง คนว่างงานมากขึ้น และไม่รู้ว่าจะมีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดในระลอก 2 เข้ามาหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ฉุดรั้งและทำให้หลายคนกลัวๆกล้าๆ ในการลงทุน ยิ่งส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/39dYCmQ

อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/3jmdkg2

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด