4 ต้นทุนที่ต้องรู้! ก่อนนำร้านเข้าร่วม Delivery

มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ปี 2563 อยู่ที่ 68,000 ล้านบาท ในปี 2564 คาดว่าจะมีมูลค่า74,000 ล้านบาท คาดการณ์ไปถึงปี 2567 น่าจะมีมูลค่า 99,000 ล้านบาท

แสดงให้เห็นชัดเจนว่า “ตลาดเดลิเวอรี่” นับจากนี้จะโตมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิดที่เร่งให้ตลาดเดลิเวอรี่โตเร็วมาก ทุกวันนี้ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ประกอบการจะต้องใช้ช่องทางเดลิเวอรี่เพิ่มยอดขาย

อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าตอนนี้หากร้านไหนไม่มีบริการเดลิเวอรี่จะเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างมาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เท่ากับว่า

โอกาสที่ลูกค้าของร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งเคยมาที่ร้านประจำ อาจหายไปอยู่ในตลาด Delivery ได้ ดังนั้น การนำพาร้านเข้าไปเป็นหนึ่งตัวเลือกในตลาด Delivery จึงเรียกได้ว่าเป็นทั้งการรักษาโอกาสทางการค้าและเพิ่มช่องทางการขาย

ทั้งนี้แม้การทำตลาดเดลิเวอรี่จะมีความน่าสนใจแต่ทุกอย่างต้องมีค่าใช้จ่ายในตัวเอง การทำตลาดเดลิเวอรี่ก็เช่นกันถ้ามองว่าเราอาจได้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น แต่ต้นทุนที่เราต้องใช้ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ลองไปดูว่าต้นทุนสำคัญของการนำร้านเข้าร่วมเดลิเวอรี่มีอะไรบ้าง

1. ค่า GP

ก่อนนำร้านเข้าร่วม

ภาพจาก www.freepik.com

ค่า GP (Gross Profit) คือ ค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแอพสั่งอาหาร และนับเป็นค่าดำเนินการที่ทางแพลตฟอร์มเรียกเก็บ ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะแตกต่างกันออกไป โดยจะคิดค่าบริการเป็น % จากยอดขาย ตัวอย่างเช่น

ค่าย Delivery A คิดค่าบริการ 30% หากมีลูกค้าออเดอร์อาหารผ่านค่าย Delivery A เป็นจำนวนเงิน 300 บาท ทางค่ายจะคิดค่าบริการอยู่ที่ (300 x 30)/100 = 90 บาท แสดงว่ารายได้ที่ร้านจะได้รับจากออเดอร์ 300 บาทก็คือ 300 – 90 = 210 บาทและที่ต้องวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าก็คือ ในบางผู้ให้บริการจะมีรอบเครดิตเทอม หรือรอบการจ่ายเงินให้กับร้านค้าตามรอบบัญชี ไม่ได้เคลียร์กันครั้งต่อครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องศึกษาระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ละเอียดด้วย

ทั้งนี้ถ้าถูกเก็บ GP 30% ไม่จำเป็นต้องตั้งราคาขายเผื่อGP ถึง30% ก็ได้ เพราะอาจทำให้ราคาขายสูงไปให้ใส่เข้าไปสัก 15-20% ก็พอ เพราะ 10-15% ที่ตัดออกนั้น อยากให้คิดตามความเป็นจริงว่าหากเรามีหน้าร้านในการให้บริการเราจะมีค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งโดยปกติแล้วค่าเช่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15% ของยอดขายเช่นกันก็ให้เขาไป เหลือกำไรพอสมควรแล้วทำการตลาดเพิ่ม เพื่อให้จำนวนออเดอร์มาเยอะ ๆ มาเฉลี่ยเมนูอื่น ๆ กำไรมาก กำไรน้อยแต่สุดท้ายยังมีกำไรได้

2. ค่าบรรจุภัณฑ์สำหรับจัดส่งเดลิเวอรี่

22

ภาพจาก www.freepik.com

บรรจุภัณฑ์เป็นเรื่องสำคัญในการจัดส่งเดลิเวอรี่ และเป็นต้นทุนสำคัญที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงเนื่องจากการที่เราจ้างค่ายเดลิเวอรี่เป็นผู้ส่ง จะต้องทำใจว่าการดูแลอาหารของเราที่อยู่ในกล่อง Delivery นั้นอาจไม่เหมือนกับที่ลูกค้ามาซื้อจากหน้าร้าน

ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเสียหายต่อสินค้าจึงต้องหาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการจัดส่งเดลิเวอรี่ เพื่อให้สินค้าถึงมือลูกค้าอย่างปลอดภัยและมีหน้าตาที่ใกล้เคียงกับการทานที่ร้าน จึงทำให้อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มเติมขึ้นมา โดยปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์สำหรับเดลิเวอรี่ ซึ่งเราก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสินค้าของเรา

ยกตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ ชาไข่มุก ฯลฯ ส่วนใหญ่อาจบรรจุอยู่ในแก้วแบบซีลพลาสติกปิด ซึ่งถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่แน่นหนาและเหมาะที่สุดในการเดลิเวอรี่เมนูเครื่องดื่ม แต่ถ้าไม่มีเครื่องซีลฝาแก้ว ให้ใช้พลาสติกห่ออาหาร ปิดปากแก้ว แล้วค่อยครอบอีกหนึ่งชั้นด้วยฝา ก็เป็นอีกเทคนิคที่ทำให้น้ำไม่หกระหว่างการขนส่ง

หรือ บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารจานเดียว อย่างข้าวราดผัดกะเพรา ผัดซีอิ๊ว ฯลฯ ต้องมีฝาปิดมิดชิด ควรใช้เป็นกล่องพลาสติกแบบมีฝาปิด และไม่แนะนำให้ใช้กล่องโฟม เพราะอาหารอาจรั่วซึมออกมาขณะขนส่ง นอกจากนั้น ถ้าอยากรักษารสชาติของอาหาร ควรแยกข้าว และ กับข้าว ออกจากกัน เพื่อไม่ให้ข้าวดูดน้ำจากอาหารไปทั้งหมด

3. ค่าถ่ายภาพเพื่อการโฆษณา

21

ภาพจาก www.freepik.com

ภาพถ่ายอาหาร เครื่องดื่ม ที่สวยงาม จะดึงดูดลูกค้าให้สนใจได้ เพราะเราต้องไม่ลืมว่าภาพสินค้าเหล่านี้จะปรากฏในแอพพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ ถ้าภาพสวยก็ดึงดูดลูกค้าได้ ปัจจุบันมีฟรีแลนด์ที่รับจ้างถ่ายภาพเพื่อนำไปใช้ในการโฆษณา ราคาก็ขึ้นอยู่กับความยากง่าย จำนวนภาพ ส่วนใหญ่ช่างภาพฟรีแลนด์เหล่านี้จะมีแพคเกจให้เลือกว่าต้องการถ่ายเซตไหน

หรือบางคนบอกว่าไม่ต้องจ้างฟรีแลนด์ถ่ายเองก็ได้จะได้ประหยัดเงิน แต่ที่จริงการถ่ายภาพเหล่านี้มีเทคนิคที่เราต้องเรียนรู้บางทีเราอาจไปเรียนคอร์สถ่ายภาพที่เขาเปิดสอน ซึ่งก็มีหลายที่ที่เปิดสอนคอร์สเรียนดังกล่าว หรือแม้แต่ในบางครั้งทางแอพเดลเวอรี่เอง ก็มีบริการถ่ายภาพสวยๆ ให้เจ้าของธุรกิจเช่น foodpanda เคยมีแคมเปญ “ถ่ายภาพอาหารให้ฟรี บริการดี ๆ จาก foodpanda เป็นต้น

4. ค่าโฆษณาเพื่อให้ร้านเป็นที่รู้จักในระบบเดลิเวอรี่มากขึ้น

20

ภาพจาก bit.ly/3Af8Hvm

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เรามีโอกาสการขายที่มากขึ้นกว่าร้านอื่นๆ ก็คือ การซื้อโฆษณาบนระบบเดลิเวอรี่เพื่อให้อยู่ในหน้าพิเศษต่างๆ ของค่ายนั้นๆ หรืออาจจะเป็นการร่วมทำโปรโมชั่นเพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักและใช้บริการร้านเราได้ง่ายขึ้น ซึ่งงบประมาณส่วนนี้เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน

ยกตัวอย่างการใช้ Ad Manage ซึ่งเป็นบริการของ LINE MAN Wongnai เพื่อให้เจ้าของร้านอาหารสามารถโฆษณาร้านของได้ด้วยตัวเอง เพิ่มโอกาสพบเห็นได้มาก ข้อดีคือเจ้าของร้านสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเอง เปิดและปิดโฆษณาได้ทันทีตามความต้องการ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันประมาณ 100 บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดีก่อนที่จะนำร้านเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่นอกจากต้นทุนต่างๆ ที่เราต้องยอมรับแล้ว การบริหารจัดการในร้านก็สำคัญ โดยเฉพาะการทำระบบบัญชี เพื่อให้มีรายงานยอดขายที่ตรงกัน

ซึ่งเราต้องเรียนรู้และศึกษาการทำบัญชีให้มีประสิทธิภาพรวมถึงเรื่องของคุณภาพอาหารที่ควรได้มาตรฐานเช่นเดียวกับการทานที่ร้านหรือมาซื้อที่หน้าร้าน หรือในกรณีที่ร้านเรามีลูกค้าเข้าร้านมาก ก็ต้องมีการบริหารจัดการคิวให้เหมาะสม เช่นบางร้านมีลูกค้าจำนวนมาก จึงมักเซตระบบโดยการเปิดอีกช่องทางเพื่อรับออเดอร์เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ แยกออกจากลูกค้าหน้าร้าน เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ เป็นต้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3mrP12r , https://bit.ly/3y1Po9h , https://bit.ly/3ozhkis , https://bit.ly/2WLQ0ly , https://bit.ly/3a5ex83

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2YoTxGV

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด