3 ไอเดียทำธุรกิจ คิดให้ต่างแล้วรายได้ที่ดีจะตามมา

เชื่อว่าเรื่องของแนวคิดการทำธุรกิจเป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่ามีอะไรแบบไหนที่น่าสนใจบ้าง การเรียนรู้แนวคิดการทำธุรกิจอาจไม่ใช่การลอกเลียนแบบและทำตามแต่คือแรงกระตุ้นและสร้างความคิดใหม่ๆที่อาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน

www.ThaiSMEsCenter.com มี3ไอเดียธุรกิจที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากมีธุรกิจที่แตกต่างลองดูไอเดียที่ว่านี้แล้วเอามาประยุกต์ใช้กับการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองก็น่าจะดีไม่น้อยเหมือนกัน

1. Khan Academy ติวเตอร์ออนไลน์ที่มีนักเรียนกว่า 50 ล้านคน

ไอเดียทำธุรกิจ

ภาพจาก goo.gl/bQ5ogK , www.facebook.com/khanacademy

Khan Academy เป็นโรงเรียนออนไลน์ที่ใหญ่มาก หลายคนสอบผ่านเพราะติวด้วยตัวเองผ่านช่องทางนี้ จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากการทำคลิปติววิชาเรียนไม่กี่คลิปที่นำเสนอผ่านยูปทูปพัฒนาไปสู่ห้องเรียนดิจิทัลขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ผู้ริเริ่มธุรกิจนี้ก็คือซัลมาน ข่าน อดีตนักวิเคราะห์การเงินชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย-บังคลาเทศที่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น The world’s teacher หรือครูของโลกทั้งที่ไม่ได้จบคุรุศาสตร์หรือมีใบอนุญาตในการเป็นครูแต่อย่างใด ปี 2006 ข่านเริ่มทำคลิปความยาว 7-14 นาที อธิบายวิชาต่าง ๆ แล้วนำลงยูทูป ไม่เพียงแค่ญาติ ๆ ของเขา แต่คนภายนอกก็เข้ามาดูด้วย

p11
ภาพจาก www.facebook.com/khanacademy

ข่านรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการปฏิวัติการศึกษาอย่างหนึ่งเพราะนักเรียนได้รับความรู้ที่เขาถ่ายทอดไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกขอเพียงมีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ปี 2009 เขาจึงลาออกจากงาน ก่อตั้ง Khan Academy องค์กรไม่แสวงกำไรขึ้นมา และทุ่มเทให้กับการทำคลิปโดยไม่มีรายได้เข้ามาแม้แต่น้อย

จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้คนทั้งโลกโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ จนกระทั่งมีเงินบริจาคก้อนแรก 10,000 เหรียญจากเศรษฐินีอเมริกันอย่างแอนน์ ดูเออร์ จากนั้นก็มีนักธุรกิจระดับโลกอีกหลายรายที่บริจาคเงินมายัง Khan Academy นี้

ไม่ว่าจะเป็นบิลเกตส์ หรือ คาร์ลอส ซาริม (มหาเศรษฐีชาวเม็กซิโก) พอมีรายได้เข้ามา ข่านก็จ้างสตาฟมาประจำและปรับปรุงห้องเรียนให้ดียิ่งขึ้น พนักงานองค์กรตอนนี้มีกว่า 100 คน ยังไม่รวมอาสาสมัครจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มาร่วมออกแบบเนื้อหาบทเรียนให้

ปัจจุบัน Khan Academy มีคลิปสอนวิชาต่าง ๆ กว่า 5,000 คอร์ส รวม 20,000 กว่าคลิป ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิศวกรรม การเงิน ครอบคลุมระดับอนุบาลจนถึงอุดมศึกษา วิดีโอที่ทำออกมามีมากกว่า 65 ภาษามีแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำ

ครูเองก็ได้ประโยชน์ สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอน ข้อมูลระบุในแต่ละวัน บทเรียนของ Khan Academy มากกว่า 1,000 ล้านบทเรียนจะผ่านสายตาผู้ชม และแต่ละเดือนมีครูราว 2 ล้านคน นักเรียนประมาณ 40 ล้านคนเข้ามาใช้งานในห้องเรียนดิจิตอลแห่งนี้

2. UberEats ธุรกิจ food home delivery จากออสเตรเลีย

p18

ภาพจาก goo.gl/u5ea9f

ในต่างประเทศการสั่งอาหารตามร้านแล้วมีบริการส่งอาหารถึงบ้านลูกค้าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ร้านอาหารจำนวนมากจะจ้างพนักงานคนหนึ่งทำหน้าที่ส่งอาหารโดยเฉพาะ เราเรียกงานนี้ว่า “ส่งโฮม”

ซึ่งย่อมาจาก home delivery Menulog เคยทำสำรวจความเห็นของผู้บริโภคในออสเตรเลียพบว่าร้อยละ 51 ของคนออสซี่นิยมสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านเพราะไม่อยากออกจากบ้าน

ขณะที่ร้อยละ 54 ขี้เกียจเก็บกวาดล้างอุปกรณ์ในครัว ธุรกิจ food home delivery จึงสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 12,000 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ซึ่งในออสเตรเลียก็มีผู้เล่นรายใหญ่มากมายเช่น Foodora และ Deliveroo

p19

ภาพจาก goo.gl/83dmRN

ด้วยเหตุนี้ UberEats ที่เข้ามาทีหลังก็ต้องเลือกโฟกัสเมืองที่เป็นจุดขายที่ดีที่สุดนั้นคือเมลเบิร์นเพราะคนในเมืองนี้มีวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์แบบชอบทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก

นอกจากนี้การสั่งอาหารผ่านผ่าน UberEats ยังสะดวกเพราะสามารถสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น และจ่ายเงินออนไลน์ได้ด้วย และในเวลาไม่ถึงปีก็ขยายบริการไปยังเมืองอื่นในออสเตรเลีย

รวมถึง ซิดนีย์ เพิร์ธ โกลด์โคสต์ บริสเบรน เป็นต้น ซึ่งเทคนิคที่ทำให้ UberEats ติดตลาดในเวลารวดเร็วคือความเร็วในการส่งสินค้าที่ใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง , การตั้งชื่อที่มีคำว่า Uber ทำให้คนติดภาพบริการแท็กซี่แบบพรีเมี่ยมที่ยอดเยี่ยม สุดท้ายคือเทคนิคการเลือกร้านอาหารมาเป็นพาร์ทเนอร์ที่ต้องเน้นความหลากหลายลูกค้าต้องการอาหารใดก็มีร้านพาร์ทเนอร์รองรับไว้ได้ทั้งหมด

3. Study room Café คาเฟ่ห้องเรียนจากประเทศญี่ปุ่น

p13

ภาพจาก goo.gl/d7KiGs

ในบ้านเราอาจจะเห็นนักเรียนนักศึกษาชอบไปนั่งตามร้านกาแฟ ตามห้างสรรพสินค้า ร้านฟาสฟู้ดส์ต่างๆเพื่อทำรายงานติวหนังสือ แน่นอนว่าในญี่ปุ่นมีคนปิ๊งไอเดียเรื่องนี้และจับมาทำเป็นธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวที่ชื่อว่า Study room Café

ซึ่งแนวคิดนั้นก็คล้ายกับการเป็น co-working space ของคนทำงานแต่การจะให้นักเรียนนักศึกษาไปเช่าพื้นที่แบบ co-working space ก็ดูจะเป็นรายจ่ายที่มากเกินไป

ซึ่งการเป็น Study room Café ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆครบถ้วนเช่นคอมพิวเตอร์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย มีล็อคเกอร์ให้เก็บทรัพย์สินหากต้องออกการเบรค

แต่สิ่งที่แตกต่างไปจาก co-working space แบบชัดเจนคือ Study room Café มีพื้นที่ใช้สอยมักแบ่งเป็น 3 แบบคือ แบบส่วนตัวที่กั้นเป็นคอก ๆ สำหรับผู้ต้องการสมาธิเวลาอ่านหนังสือ แบบห้องประชุมเล็ก ๆ สำหรับติวกันหลายคน และแบบพื้นที่ส่วนกลางเพื่อผ่อนคลายหรือพักสายตา

สำหรับใครที่สนใจอยากเข้ามาใช้บริการของธุรกิจนี้จะต้องทำการสมัครสมาชิกและจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน หลังจากนั้นจะไปใช้บริการเมื่อใดก็ได้ตามเวลาเปิด-ปิดของคาเฟ่

สำหรับสนนราคาเริ่มต้นที่ 6,000 เยนหรือราว 1,845 บาท ไปจนถึง 10,000 เยน (3,075 บาท) ต่อเดือน แล้วแต่คาเฟ่ แต่โดยรวมแล้ว ค่าบริการย่อมเยากว่า co-working space แน่นอน จึงไม่แปลกที่คาเฟ่ประเภทนี้จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในญี่ปุ่น

ตามรายงานนั้นระบุว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 โดยปัจจุบันมีประมาณ 113 แห่ง ส่วนในโอซาก้า เพิ่มจากเดิมร้อยละ 40 มาอยู่ที่ 96 แห่ง บริษัท Bookmarks Inc. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการคาเฟ่ห้องเรียนรายใหญ่ภายใต้ชื่อ Benkyo café และมีสาขากระจาย 21 แห่งและคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากขึ้นและคงเกิดผู้ลงทุนรายใหม่ๆมาแข่งขันกันมากขึ้นในอนาคตด้วย

ทั้ง 3 แนวคิดของธุรกิจในยุคใหม่นี้ในส่วนของ Khan Academy อาจไม่ใช่คำว่าธุรกิจเพราะไม่แสวงหากำไรแต่วิธีการคิดก็น่าสนใจและทำให้มีคนสนใจเข้าร่วมบริจาคได้เป็นอย่างมาก

ก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญซึ่งใครสนใจก็เอามาดัดแปลงให้เกิดรายเป็นรายได้ที่ดี ส่วนอีกสองธุรกิจที่ตามมานั้นคือการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งแม้จะมาหลังคู่แข่งกับการสร้างความแตกต่างให้มากกว่าที่ตลาดเคยมี สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำธุรกิจที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/9XWn9G , goo.gl/rRrgrW , goo.gl/d7KiGs

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด