รู้ทันกลโกง! หลอกขายของออนไลน์! รับมือได้อย่างไร??

จากข่าวที่กำลังเป็นที่พูดถึงกรณีหลอกขายไอโฟนให้กับลูกค้า ก็ต้องยอมรับว่าเคสนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่ในความเป็นจริงมิจฉาชีพในลักษณะนี้มีเยอะมาก ยิ่งตลาดออนไลน์เติบโตมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เจอมิจฉาชีพเหล่านี้ก็มีมากขึ้น

www.ThaiSMEsCenter.com เรียกว่าคนเหล่านี้เป็นพวกโจรออนลน์ที่มีการพัฒนาตัวเองเพื่อจะเข้าหาเราได้มากขึ้น หลายครั้งที่ปรากฏเป็นข่าวดังนั้นความรู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็น

เพื่อให้เราไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของบรรดามิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่ากลโกงของ “โจรออนไลน์” ไม่ได้จำเพาะอยู่แค่เรื่องการดูดเงินในบัญชีของเราเท่านั้น แต่สมัยนี้การ “ขายของออนไลน์” ก็มีกลโกงสารพัดรูปแบบที่เราต้องทำความเข้าใจจะได้รับมือได้ถูก

1.กลโกง “ล้วงข้อมูล” ขโมยเงินในบัญชี

รู้ทันกลโกง

ภาพจาก https://bit.ly/3Daou0t

การจะขโมยเงินในบัญชีเราได้โจรต้องรู้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล, วัน-เดือน-ปีเกิด, เลขที่ประจำตัวประชาชน, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล, รหัสผ่าน, เลขบัญชี, เลขหน้าบัตร, รหัสหลังบัตร, รวมถึงรหัส OTP หากข้อมูลเหล่านี้ใครได้ไปเขาก็สามารถปลอมเป็นตัวเราได้สบายๆ

วิธีจะได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้คือการ “ขุดหลุม” ให้เหยื่อเชื่อใจและตกหลุมพราง ซึ่งการขุดหลุมในโลกออนไลน์คือการสร้างโซเชี่ยลปลอมๆ ขึ้นมา ทั้ง SMS, Email, LINE, Facebook เพื่อให้คนมาติดกับ เป้าหมายของโจรออนไลน์คือใครก็ได้ที่เข้ามาตกหลุมนี้

และสิ่งที่ใช้คู่กับโซเชี่ยลปลอมก็คือ “ข้อความลวง พร้อมลิงก์เว็บไซต์ปลอม” ที่ส่งมาด้วยชื่อผู้ส่งที่ดูน่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรใหญ่ ๆ พร้อมหัวข้อที่ดูน่าตื่นเต้นหรือชวนให้รู้สึกเดือดร้อนใจ โดยจะมีเนื้อหาโน้มน้าวให้เราคลิกลิงค์ดังกล่าว เช่น คุณคือผู้โชคดีได้รับรางวัลพิเศษ คลิกลิงค์นี้ทันที , คุณได้รางวัลพิเศษจากธนาคารกรุณาอัพเดทข้อมูลเพื่อรับรางวัลทันที เป็นต้น ถ้าใครคล้อยตามกดลิ้งค์ หรือกรอกข้อมูลลงไป ส่วนใหญ่จะสูญเงินในบัญชีจำนวนมาก

2.สินค้าไม่ตรงปก คนขายไม่รับผิดชอบ

25

ภาพจาก freepik.com

น่าจะเคยได้ยินข่าวกันบ่อยที่สุดคือ “สินค้าไม่ตรงปก” สั่งของอีกอย่างได้อีกอย่าง เช่นสั่งแท็บเล็ต แต่ได้เขียง , สั่งสเก็ตบอร์ดแต่ได้โมเดลของเล่น แบบนี้เป็นต้น แน่นอนว่าลูกค้าเมื่อได้สินค้าที่ไม่ตรงปกยอ่มต้องเสียความรู้สึก และต้องคิดว่างานนี้เราโดนโกง หลายคนที่ได้สินค้าไม่ตรงปกแบบนี้ก็มักจะติดต่อกับเจ้าของร้านที่ซื้อทันที

หากเป็นร้านที่มีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ เราอาจจะได้รับเปลี่ยนสินค้า เพราะอาจเกิดจากความผิดพลาดบางประการ แต่พ่อค้าแม่ค้าบางคนกลับติดต่อไม่ได้เลย แสดงว่าเป็นการตั้งใจโกงกันจริงๆ หลายคนที่โดนโกงแบบนี้แต่เลือกปล่อยผ่านเพราะคิดว่าเป็นบทเรียนก็ยิ่งทำให้พ่อค้าแม่ค้าขี้โกงเหล่านี้ได้ใจและไปหลอกคนอื่นในลักษณะเดียวกันอีกจำนวนมาก

3.กลโกง “เก็บเงินปลายทาง”

24

ภาพจาก freepik.com

วิธีโกงแบบเก็บเงินปลายทางคือโจรเหล่านี้จะเอาชื่อที่อยู่ของคนอื่นจากโซเชี่ยลมีเดีย จากนั้นก็จะส่งสินค้าไปให้โดยที่เราไม่ได้เป็นคนสั่ง ซึ่งสินค้าเหล่านี้ต้นทุนราคาสินค้าไม่แพง เช่น สร้อย , เคสโทรศัพท์ ฯลฯ โดยระบุว่าให้เก็บเงินปลายทางถามว่าพวกโจรได้อะไร

คำตอบคือ ส่วนต่างของราคาที่รวมๆ แล้วมูลค่าเยอะมาก เช่น ค่าส่ง 40 ค่ากล่อง 3 บาท ค่าของในกล่อง 20 บาท รวมต้นทุน 63 บาท เก็บปลายทาง 200 บาท ถ้ามีคนจ่ายกำไรทันที 137 บาทต่อกล่อง และลองคิดดูว่าถ้าใน 1 วันมีเหยื่อสัก 100 คน กำไรวันนั้นคือ 13,700 บาท มูลค่าจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเหยื่อมากเท่าไหร่ด้วย

แน่นอนว่าการกระทำนี้ถือเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์ เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ถ้าส่งไปเยอะๆ เกินสิบคนขึ้นไป เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน คนที่ถูกหลอกเอาเงินไป ต้องไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดี กับคนที่ส่งซึ่งจะต้องมีชื่อที่ระบุไว้กับบริษัทที่รับส่ง

4.โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า ติดต่อคนขายไม่ได้

23

ภาพจาก freepik.com

อีกรูปแบบหนึ่งคือโอนเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้รับสินค้า แถมพ่อค้าแม่ค้าที่น่าจะเป็นโจรก็ดันติดต่อไม่ได้ วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเก็บหลักฐานสำคัญเพื่อนำไปแจ้งความได้แก่

  • รูปถ่ายของร้านค้า หน้าโปรไฟล์ของผู้ขาย หรือลิงก์ URL ของเว็บไซต์
  • หน้าประกาศขายสินค้า
  • ชื่อ ที่อยู่ หรือเบอร์โทรของผู้ขาย
  • เลขที่บัญชีสำหรับโอนเงินค่าสินค้า
  • หลักฐานการพูดคุย ตกลงซื้อ – ขายสินค้า
  • หลักฐานการชำระเงินและเวลาโอนเงินนำบัตรประชาชน สมุดบัญชีธนาคารของตัวเอง

โดยต้องนำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความดำเนินคดีที่โรงพักที่อยู่ในเขตของผู้แจ้งความ และต้องระบุด้วยว่า “ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด”เมื่อแจ้งความเรียบร้อยแล้วให้นำเลขบัญชีของมิจฉชีพที่โกง ใบแจ้งความ และหลักฐานการโอนเงินไปยังธนาคารปลายทางของบัญชีมิจฉาชีพ จากนั้นให้ยื่นเรื่องขอคืนเงินหรืออายัดบัญชี เมื่อคนร้ายไม่สามารถใช้เงินในบัญชีได้ก็จะทำให้คุณสามารถดำเนินคดีกับคนร้ายและได้เงินคืนมา

5.มี “หน้าม้า” คอยกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ

22

ภาพจาก freepik.com

จุดอ่อนของการขายสินค้าออนไลน์คือคนต้องการสินค้าจะไม่เคยเห็นสินค้ามาก่อน ดังนั้นกลโกงนี้จะมีพวกที่เรียกว่า “หน้าม้า” เขามาซัพพอร์ท รีวิว หรือกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าสินค้านั้น ๆดูน่าเชื่อถือ ซื้อแล้วคุ้มค่า ส่วนใหญ่มักจะใช้กับสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง

วิธีนี้เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเป่าหู ให้เราอยากได้สินค้านั้นมากขึ้นเร็วขึ้น เป็นการเล่นในเชิงจิตวิทยา แน่นอนว่าโจรออนไลน์พวกนี้ทำงานเป็นทีม เมื่อเราโอนเงินไปสินค้าที่ได้อาจไม่ใช่เหมือนที่เราคิด แต่แน่นอนว่าคนพวกนี้จะหายเข้ากลีบเมฆหรือติดต่อไม่ได้

รวมวิธีถ้ารู้ว่า “ถูกโกง” ควรทำอย่างไร

21

ภาพจาก https://bit.ly/3Bbv9XD

ไม่ว่าจะเป็นการถูกโกงในรูปแบบไหน แต่ถ้าเรารู้ว่าถูกโกง สิ่งสำคัญคือ “แจ้งความ” ลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน โดยในบันทึกแจ้งความให้ทางตำรวจต้องระบุข้อความว่า “ขอให้ทางธนาคารอายัดวงเงินของบัญชีปลายทางที่เราดำเนินการโอนเงินให้ด้วย” จากนั้นให้นำใบแจ้งความไปธนาคาร เพื่อขออายัดเงินเงินในบัญชีปลายทางไว้ก่อนซึ่งจะถอนหรือโอนเงินออกไม่ได้

หรือกรณีที่ไม่สามารถอายัดได้จริงๆ หรือ ช้าไป คนโกงถอนยอดไปหมดแล้ว ก็ขอข้อมูลของธนาคารให้มากที่สุด เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และข้อมูลการถอนเงิน เวลาถอน สถานที่ เพื่อไปดำเนินคดีต่อไปหรือในกรณีไม่สามารถกระทำวิธีการข้างต้นได้ ให้นำหลักฐานทุกอย่างที่เรารวบรวมได้และจากธนาคารไปยัง “ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี” (สามารถค้นหาข้อมูลนี้ได้ในอินเตอร์เน็ต และดำเนินการตามขั้นตอนของหน่วยงานได้เลย)

ในกรณีโดนโกงแบบ เก็บเงินปลายทาง อันนี้แก้ง่ายมาก เพราะเราสามารถสั่งอายัดพนักงานเก็บเงินของไปรษณีย์นั้นได้ เพราะกว่าไปรษณีย์จะส่งซองกลับมายังต้นทาง เราก็มีเวลาพอที่จะอายัดได้หลายวันด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นส่งของมา และรู้ว่าโดนโกงให้เราแพ็คกล่องกลับเหมือนเดิมเพื่อส่งคืน เมื่อส่งคืนแล้วก็เอาหลักฐานการส่งเบิกเงินคืนจากไปรษณีย์ แต่ถ้าบางปณ.หัวแข็งไม่ยอมช่วย ก็ให้ไปแจ้งความเพื่อให้ทางตำรวจออกคำคำสั่งอายัดเงินนั้น เป็นต้น

จะป้องกันอย่างไร! ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

20

ภาพจาก https://bit.ly/3mjYokN

พวกโจรออนไลน์เหล่านี้มักมาในหลายรูปแบบ คนที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มคนสูงอายุ หรือคนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องโซเชี่ยล และก็มีหลายกรณีที่เป็นคนรุ่นใหม่นี่เองที่น่าจะมีความรู้ในเรื่องโซเชี่ยล แต่ก็ยังตกเป็นเหยื่อได้ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือ

  1. ตั้งสติ ระวัง สังเกต อย่าเชื่อง่าย ๆ
  2. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด
  3. สังเกตชื่อเว็บไซต์ ต้องขึ้นด้วย https:// เท่านั้น และมีเครื่องหมายกุญแจอยู่ด้านหน้า นอกจากนี้ยังต้องเช็คว่า ชื่อเว็บไซต์ถูกต้องไหม ตรงเว็บไซต์จริงของธนาคารหรือองค์กรหรือไม่ เราเช็กผ่าน Google ได้เลย
  4. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะในการทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์
  5. จำกัดวงเงินเบิกถอนต่อวัน ลดความเสี่ยงการสูญเงิน
  6. หากเผลอให้ข้อมูลไปแล้ว ก็รีบเปลี่ยนรหัสทันที แล้วติดต่อธนาคาร
  7. ตั้งแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อบัญชีมีการเคลื่อนไหว จะช่วยให้รู้ตัวได้เร็วขึ้น และอาจสั่งอายัดบัญชีได้ทัน

เมื่อตลาดออนไลน์มีการเติบโตมากขึ้น มิจฉาชีพพวกนี้ก็แฝงตัวเข้ามาได้มากขึ้น ยิ่งถ้าใครไม่ระวังตัวมักจะโดนหลอกจากพวกนี้ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะช่วงแรกที่คนยังไม่ค่อยรู้ทันกลโกง ไม่รู้จักวิธีการโกง จะกลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเหล่านี้ทำงานได้ง่ายขึ้น ยุคนี้แม้จะเป็นโลกออนไลน์แต่ก็ต้องระวังตัวกันให้ดีเพราะเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นหายาก ไม่ควรปล่อยให้โจรพวกนี้มาโกงเอาไปง่ายๆ


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3gi3SKV , https://bit.ly/3zfCJPS , https://bit.ly/3j0wutC , https://bit.ly/2W71dMH , https://bit.ly/3gdltn9 , https://bit.ly/3yazMz1 , https://bit.ly/3uwAjeu , https://bit.ly/3zWZ1ps , https://bit.ly/3medCrx

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3its1z9

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด