ทำอย่างไรเมื่อเงินขาดมือ

รายได้ ของประชากรถือเป็นปัญหาระดับชาติ แม้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2561 จะดีขึ้นแต่จากผลการสำรวจกลับพบว่าหนี้สินในภาคครัวเรือนก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน

ซึ่งหนี้สินโดยรวมภาคครัวเรือนในปี 2560 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 11.97 ล้านบาท เหตุผลที่ทำให้คนไทยมีเงินไม่พอจับจ่ายชักหน้าไม่ถึงหลังนั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งจำนวนคนว่างงาน อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน

อย่างไรก็ดีในเมื่อเกิดปัญหามาแล้วก็ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไปครั้นจะหวังไปพึ่งพารัฐบาลให้มาช่วยเหลือผ่านสวัสดิการต่างๆ ก็คงไม่ทันการณ์

www.ThaiSMEsCenter.com มี 7 วิธีในการช่วยตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยในภาวะเงินขาดมือ ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจไม่ได้ช่วยให้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้นแต่ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา รูรั่วทางการเงินไม่ใหญ่ไปกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีวินัยทางการเงินที่เข้มแข็งมาก

1.ลดรายจ่ายให้เหลือเท่าที่จำเป็น

ทำอย่างไรเมื่อเงินขาดมือ

หากเกิดปัญหาเงินขาดมือสิ่งแรกที่ต้องทำทันทีคือ “รัดเข็มขัดให้แน่น” หมายถึงเราต้องจัดสรรระเบียบการจับจ่ายใช้สอยใหม่ทั้งหมด อะไรที่เคยจ่ายโดยไม่จำเป็น จ่ายเพราะความเคยชิน จ่ายเพราะความชอบ ต้องหยุดทั้งหมด รายจ่ายที่จะออกจากกระเป๋าต่อจากนี้ต้องมีความจำเป็นเท่านั้น

ซึ่งถ้าจะให้มองเห็นภาพก็กำหนดเงินที่ควรใช้ในแต่ละวันของตัวเองว่าเท่าไหร่เช่นใช้วันละ 100 ซึ่งก็ต้องมาคำนวณดูก่อนว่าเรามีค่าใช้จ่ายหลักๆอย่างไรบ้างเช่น ค่ารถ ค่ากิน ทั้งนี้อย่าลืมจัดทำเรื่องบัญชีซึ่งอาจจะทำให้เราพบรูรั่วทางการเงินที่ชัดเจนมากขึ้นก็ได้

2.ไม่สร้างหนี้เพิ่ม

v5

ปัญหาสำคัญเมื่อเงินขาดมือส่วนใหญ่เรามักจะเลือกไปหากู้ยืมจากแหล่งการเงินโดยเฉพาะพวกบัตรกดเงินสดทั้งหลาย ที่มักจะมีการเพิ่มวงเงินให้เราในยามจำเป็น ซึ่งมันก็เป็นผลดีในช่วงแรกๆ แต่ในระยะยาวกลับกลายเป็นหนี้สินแบบดินพอกหางหมู

เพราะเป็นเรื่องยากที่เราจะหาเงินมาจ่ายชำระได้ทัน ยิ่งการจ่ายอัตราขั้นต่ำใช่ว่าจะตัดยอดเงินกู้ให้เหลือน้อยได้ดีไม่ดีจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้น จากภาระเดิมที่เงินขาดมือก็จะยิ่งมีปัญหาการเงินเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัวทีเดียว

3.หารายได้เสริม

e3

เมื่อไม่แนะนำให้ไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือหารายได้เข้ามาเสริมเป็นการด่วน เงินขาดมือจะมานั่งงอมืองอเท้าเสี่ยงโชคลุ้นดวงอยู่กับบ้านไม่ได้ ต้องหาอะไรก็ได้ที่ทำแล้วได้เงิน ไม่ว่าจะเป็นงานพิเศษ งานพาร์ทไทน์

งานฟรีแลนด์ต่าง ๆหรือแม้แต่การเลือกลงทุนขายของแบบที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมากแต่หากมองเห็นว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้มีรายได้หมุนเวียนได้บ้างก็ควรลงมือทำอย่าได้ชักช้า

4.รีไฟแนนท์

v3

สาเหตุสำคัญของการเป็นหนี้ เงินชักหน้าไม่ถึงหลังส่วนหนึ่งเกิดจากภาระทางสินทรัพย์ที่เราต้องผ่อนไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ ซึ่งรายจ่ายในส่วนนี้หากใครเคยมีประสบการณ์พบว่าแต่ละเดือนมีรายจ่ายไม่ต่ำกว่าหลัก 10,000 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงเอาเรื่อง

แต่เราก็มีวิธีการรีไฟแนนท์ที่จะช่วยลดดอกเบี้ยเหล่านี้ให้น้อยลง เราสามารถชำระได้ในวงเงินที่ถูกลง ซึ่งการรีไฟแนนท์ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงิน แต่ทุกที่มีข้อกำหนดนี้เอาไว้ซึ่งเราก็ควรใช้ช่องทางนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

5.เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน

v4

ถ้าการหารายได้เสริมยังไม่ทันการณ์หรือภาวะชักหน้าไม่ถึงหลังของเรามันรุนแรงมากวิธีการที่จะหาเงินสดมาเสริมสภาพคล่องได้ดีที่สุดก็คือเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน ซึ่งยุคนี้ไม่ว่าจะรถยนต์ บ้าน ที่ดิน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทั้งสิ้นเพียงแต่หลังจากได้เงินสดเหล่านี้มาก็เท่ากับเรามีปัญหาหนี้สินตามมาด้วยเช่นกัน

หรือเราอาจจะเลือกการจำนำทอง หรือสินทรัพย์ที่เราไม่ต้องการไถ่คืนเช่น โทรทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ภายในบ้านที่เราไม่ค่อยได้ใช้งาน ก็อาจเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์เหล่านี้มาเป็นเงินสดประทังชีวิตในยุคเงินขาดมือไปพลางๆก่อนได้

6.หาเงินจากคนใกล้ตัว (ไม่มีดอกเบี้ย)

v6

เราไม่แนะนำให้หาเงินทุนจากแหล่งที่มีดอกเบี้ย เพราะเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้ตัวเองมีปัญหามากขึ้น แต่หากเรามีคนรู้จัก ญาติสนิท เพื่อน พ่อแม่ พี่น้องที่พอจะให้ความช่วยเหลือเราได้ในเรื่องเงินทุน ก็อาจจำเป็นที่ต้องไปขอความช่วยเหลือ

ซึ่งข้อดีของการยืมเงินจากบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่มีดอกเบี้ยแต่อย่างไรก็ตามต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าเงินที่ยืมคนอื่นมาจะต้องหามาใช้ทุกบาททุกสตางค์และห้ามเบี้ยวหนี้เป็นอันขาด เนื่องจากวันหนึ่งในอนาคตหากเกิดปัญหาเงินขาดมือจะได้มีที่พึ่งพิงยามยากได้

7.บริหารการเงินให้เป็นระบบ

v2

และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเงินขาดมือกลับมาหาเราได้อีกเราควรมีระบบการบริหารการเงินที่ชัดเจน มีการจัดทำบัญชีรายรับ รายจ่ายที่มีคุณภาพ มีการแบ่งเงินออกเป็นหมวดหมู่ทั้งเงินที่ควรเก็บออม

เงินใช้ในยามฉุกเฉิน เงินที่ใช้สำหรับลงทุน เงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะดูเป็นเรื่องละเอียดที่ยุ่งยาก แต่การมีวินัยทางการเงินและจัดระเบียบการเงินได้ดีจะทำให้เรารู้เส้นทางการเงินที่เรามีอยู่ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเงินขาดมือในระยะยาวได้

ทั้งนี้ด้วยภาะค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สูงขึ้น หากเงินเดือนที่เราได้ยังไม่มากพอ ก็ควรมองหาช่องทางลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อย่าชะล่าใจว่าเงินเดือนเราเยอะ

เงินโบนัสเรามาก เพราะหากวันหนึ่งวันใด เรามีอันต้องออกจากงานหรือเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่คาดฝันเราจะได้มีช่องทางสำรองในการหารายได้ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมล่วงหน้าจะได้ไม่มีปัญหาการเงินเข้ามาในอนาคต


SMEs Tips

  1. ลดรายจ่ายให้เหลือเท่าที่จำเป็น
  2. ไม่สร้างหนี้เพิ่ม
  3. หารายได้เสริม
  4. รีไฟแนนท์
  5. เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงิน
  6. หาเงินจากคนใกล้ตัว (ไม่มีดอกเบี้ย)
  7. บริหารการเงินให้เป็นระบบ

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

ภาพจาก www.freepik.com

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด