9 เทคนิคสรรหาทำเลทอง ยุคนี้ต้องมองให้ละเอียด

การตลาดที่เราเรียนรู้มาบอกเหมือนกันทุกตำราว่า “ทำเล” คือปัจจัยสำคัญที่สุด ทั้งนี้มีการแนะนำมากมายว่าหากไม่ได้ทำเลหลัก ก็ขอให้เป็นทำเลรอง หรือถ้าเลือกทำเลไม่ได้จริง ๆก็มีสารพัดวิธีในการแก้ไขเพื่อให้ที่ตั้งร้านสะดุดตาคนทั่วไปได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าการจะวิเคราะห์ว่าทำเลไหนดีหรือไม่ดี ไม่ใช่มองแค่ผิวเผินทั่วไป เช่นมีคนเยอะ ใกล้แหล่งออฟฟิศ การจราจรคับคั่ง สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสัญญาณที่ดีแบบผิวเผิน แต่ถ้าจะให้ดีกว่าต้องมองให้ละเอียดถึง 9 ข้อนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นทำเลทองของแท้

1.เป็นแหล่งที่มีกลุ่มเป้าหมายของสินค้า

9 เทคนิคสรรหาทำเลทอง

ทำเลทองของแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกันเพราะเป้าหมายทางธุรกิจไม่เหมือนกันเช่นธุรกิจขนม ของเล่น ทำเลทองคือบริเวณที่มีเด็ก ชุมชน โรงเรียน แต่เป็นธุรกิจความสวยความงามต้องพยายามเลือกทำเลที่เป็นมหาวิทยาลัย หรือแหล่งออฟฟิศที่มีพนักงานสาวๆ หรือถ้าเป็นธุรกิจเสื้อผ้า ก็ต้องเป็นแหล่งที่มีวัยรุ่น ซึ่งผู้ลงทุนต้องวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละทำเล และถ้าจะให้ดีควรมีการรวบรวมเป็นข้อมูลจะทำให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น

2.อยู่ใกล้ที่จอดรถ

อยู่ใกล้ที่จอดรถ

ยิ่งเป็นธุรกิจใหญ่ยิ่งต้องมองเรื่องนี้ ปัจจุบันรถยนต์เป็นปัจจัยที่ 5 ของคนเมืองแต่ร้านค้าส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเรื่องที่จอดรถ ทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงของลูกค้า ดังนั้นหากคิดจะมีธุรกิจตัวเองต้องเลือกทำเลที่แก้ปัญหาสถานที่จอดรถได้ ซึ่งหากร้านเรามีที่จอดรถของตัวเองจะใช้เป็นจุดเด่นดึงดูดลูกค้าได้อีกมาก

3.สังเกตจุดติดป้ายร้านที่ได้เปรียบ

614

อย่าคิดว่าแค่เปิดร้านแล้วเรื่องป้ายไม่สำคัญ บางทำเลมีป้ายร้านค้าติดกันจำนวนมาก ปัญหาคือลูกค้าจะรู้ได้อย่างไรร้านไหนเป็นร้านไหน ยิ่งเป็นร้านเปิดใหม่ เรื่องจุดติดป้ายสำคัญเพราะนี่คือด่านแรกที่จะทำให้คนรู้ว่ามีร้านเราอยู่ในบริเวณนั้น ดังนั้นหากทำเลดังกล่าวติดป้ายประกาศไม่ได้หรือมีพื้นที่ติดป้ายจำกัด ก็เป็นความเสี่ยงเล็กๆสำหรับการเปิดร้านเช่นกัน

4.พื้นที่ต้องสัมพันธ์กับขนาดร้าน

อย่ามองข้ามเรื่องนี้อันขาด ร้านค้าที่ดีต้องมีการจัดสรรพื้นที่อย่างเป็นระบบเช่นจุดนั่งรอของลูกค้า บริเวณห้องครัว พื้นที่ขายสินค้า ในบางทำเลมีปัจจัยที่ดีมากมายแต่พื้นที่มีขนาดเล็กมา ไม่สามารถบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยได้อย่างที่ต้องการทำให้รูปแบบร้านดูอึดอัดและไม่ครบถ้วน ก็มีผลต่อความรู้สึกของลูกค้าที่จะไม่ประทับใจได้เช่นกัน

5.ข้อมูลร้านค้าในพื้นที่

ข้อมูลร้านค้าในพื้นที่

รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังใช้ได้กับการทำธุรกิจ ทำเลที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องปัจจัยสภาพพื้นที่แต่ผู้ที่อยู่โดยรอบของทำเลก็ต้องศึกษาเราต้องรู้ว่าในย่านนี้มีธุรกิจอะไรที่เป็นจุดเด่น และร้านค้าส่วนใหญ่เขาเน้นทำตลาดแบบไหนอย่างไร เพื่อให้เรามีข้อมูลในการเริ่มต้นเปิดร้านแบบไม่เสียเปรียบมากนัก

6.แคบก็ไม่ดีกว้างไปก็ไม่ดี

จากข้างต้นเรากล่าวไว้ว่าร้านค้าที่ดีต้องมีพื้นที่เป็นสัดส่วนนั้นคือพื้นที่แคบไปก็ไม่แนะนำเพราะจะทำให้ลูกค้าอึดอัด แต่การมีทำเลที่กว้างเกินไปก็ใช่จะเป็นเรื่องดี เหตุผลคือทำเลพื้นที่กว้างมักอยู่ในโซนที่คนไม่นิยม ค่าเช่าอาจถูกกว่าแต่จำนวนลูกค้าก็น้อย รวมถึงพื้นที่กว้างก็ต้องมีการลงทุนที่มากขึ้นเพื่อให้สมกับพื้นที่ ซึ่งบางทีก็ไม่คุ้มค่านัก

7.ศึกษารายละเอียดสัญญาเช่า

ศึกษารายละเอียดสัญญาเช่า

เคยมีประเด็นปัญหาเรื่องนี้มากมายกับรายจ่ายที่งอกตามมาและบางรายจ่ายผู้เช่าไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องเป็นผู้จ่าย ดังนี้นสัญญาเช่าต้องมีความรัดกุมระบุชัดเจน และต้องสอบถามผู้ให้เช่าแบบเด็ดขาดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่าย หรือส่วนไหนที่เกินไปขอแนะนำให้ต่อรองราคาเพื่อประหยัดรายจ่ายให้มากที่สุด

8.คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ

อีกหนึ่งปัญหาของการหาทำเลคือผู้ให้เช่าอยากปล่อยเช่าก็มักจะกดดันให้ผู้ต้องการเช่ารีบตัดสินใจ ซึ่งมีวิธีการพูดเร่งเร้ามากมายเช่น รีบตัดสินใจเถอะครับ ผมให้สิทธิ์คุณก่อนแต่ถ้าคุณไม่โอเค ก็มีคนรอต่อคิวเซ็นสัญญาอยู่อีกเยอะเป็นต้น ซึ่งการพูดในลักษณะนี้ทำให้คนส่วนใหญ่รีบเร่งเซ็นสัญญาซึ่งบางทีก็นำมาซึ่งความผิดพลาดในภายหลังได้

9.มีแผนสำรองหากทำเลทองไม่เวิร์ค

มีแผนสำรอง

แน่นอนว่าเราหวังให้ทำเลที่เราเช่านี้กลายเป็นทำเลทองของธุรกิจเราแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างที่ใจคิดได้ทุกครั้ง ซึ่งบางทีอาจมีปัญหาบางประการที่ทำให้ธุรกิจไม่เวิร์ค ทางที่ดีเราต้องมีแผนสำรองว่าเราจะสามารถทำกำไรจากพื้นที่นี้ได้อย่างไรบ้างหากธุรกิจหลักทำกำไรไม่ได้ ถือว่าเป็นการเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้า หากไม่เป็นดังใจคิดจะได้มีทางออกไว้ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

ซึ่งโดยรวมแล้วการเลือกทำเลแบบพิจารณาให้ได้ทั้ง 9 ข้อคงเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก ส่วนใหญ่คนเราก็จะเลือกมองแต่จุดหลักๆ เป็นสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องรอบคอบและมีการวางแผนหลัก แผนสำรองไว้เป็นอย่างดี เพราะขึ้นชื่อว่าธุรกิจมักจะมีการพลิกผันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือในทุกด้านร่วมด้วย

SMEs Tips

  1. เป็นแหล่งที่มีกลุ่มเป้าหมายของสินค้า
  2. อยู่ใกล้ที่จอดรถ
  3. สังเกตจุดติดป้ายร้านที่ได้เปรียบ
  4. พื้นที่ต้องสัมพันธ์กับขนาดร้าน
  5. ข้อมูลร้านค้าในพื้นที่
  6. แคบก็ไม่ดีกว้างไปก็ไม่ดี
  7. ศึกษารายละเอียดสัญญาเช่า
  8. คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
  9. มีแผนสำรองหากทำเลทองไม่เวิร์ค

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด