8 เทคนิคเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก
การซื้อแฟรนไชส์แม้จะมองว่าเป็นทางลัดในการทำธุรกิจ ไม่ต้องเสียเวลาในการสร้างแบรนด์ ทำการตลาดให้ผู้บริโภครู้จักสินค้าและบริการ ซื้อแฟรนไชส์มาแล้วเปิดร้านดำเนินธุรกิจได้ทันที แต่รู้หรือไม่ว่าการซื้อแฟรนไชส์ไม่ได้สวยหรูและประสบความสำเร็จกันทุกคน มีทั้งเจ๊ง และโดนหลอกจากแฟรนไชส์ซอร์
หากใครอยากเลือกแฟรนไชส์ไม่ให้ถูกหลอก วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะแนะนำแนวทางให้ครับ
1.หาความรู้เรื่องแฟรนไชส์
ก่อนจะซื้อแฟรนไชส์ควรศึกษาหาความรู้เรื่องของระบบแฟรนไชส์ให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นความหมายของแฟรนไชส์ ศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ เทคนิคการซื้อแฟรนไชส์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์ การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ และที่สำคัญต้องลืมว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะซื้อมาหากไม่ตั้งใจทำ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
2.เลือกแฟรนไชส์ที่มีโอกาส
เมื่อรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์แล้ว ต้องทำการประเมินและวิเคราะห์ธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตและได้รับความนิยม หากจะซื้อแฟรนไชส์แฟรนไชส์ไปทำธุรกิจ ธุรกิจต้องไม่เป็นกระแส สินค้าและบริการมีการซื้อซ้ำเป็นประจำ ธุรกิจตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคไม่เจาะจงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ธุรกิจมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่ง สามารถถ่ายทอดได้
3.สำรวจร้านสาขาแฟรนไชส์
เมื่อรู้แล้วว่าจะซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไหน มีทำเลที่ตั้งร้านแล้ว ต่อไปคุณต้องไปสำรวจร้านสาขาแฟรนไชส์ที่คนอื่นๆ ซื้อไปทำธุรกิจด้วย อาจจะไปลองซื้อกิน หรือลองใช้บริการก่อนก็ได้ หรืออาจจะสอบถามเจ้าของธุรกิจสาขานั้นๆ ดูว่า ซื้อมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ลูกค้าเยอะไหม ขายได้วันละเท่าไหร่ มีปัญหาอะไรบ้าง เจ้าของแฟรนไชส์ช่วยเหลืออะไรบ้าง เป็นต้น
4.ตรวจสอบสถานะบริษัท
หลังจากสำรวจร้านสาขาแฟรนไชส์แล้ว อาจจะต้องติดต่อเข้าไปสำรวจหรือเยี่ยมชมบริษัทแฟรนไชส์ด้วย เพราะจะได้รู้ว่าบริษัทแฟรนไชส์มีอยู่จริงหรือไม่ มีสถานที่ตั้งอยู่ไหน เวลาจะติดต่อได้ง่ายหรือสะดวกหรือไม่อย่างไร มีพนักงานมากน้อยแค่ไหน รวมถึงดูนโยบายของบริษัทแฟรนไชส์ว่าเป็นอย่างไร เพื่อเวลาที่ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว จะไม่โดนลอยแพ หรือทิ้งขว้าง
5.ดูผลประกอบการธุรกิจ
ดูจากการจดทะเบียนบริษัท จากเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อดูว่าบริษัทแฟรนไชส์ที่คุณสนใจ มีใครบ้างเป็นผู้ถือหุ้น และทุกปีบริษัทต้องมีการส่งงบดุล และงบกำไร-ขาดทุน (ยกเว้นกิจการประเภทที่ไม่ต้องจ่ายภาษี เช่น สถานศึกษา เป็นต้น) นี่เป็นหลักฐานที่ดี ที่คุณจะรู้สภาพว่า บริษัทแฟรนไชส์นั้น มีฐานะทางการเงินอย่างไร มีผลการดำเนินงานอย่างไร เพราะถ้าหากมีผลประกอบการติดลบหรือขาดทุน คุณก็สามารถหลีกเลี่ยงการซื้อได้
6.ศึกษาเงื่อนไขแฟรนไชส์
ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในการซื้อแฟรนไชส์มาทำธุรกิจ เพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าของแฟรนไชส์จะทำสัญญาหรือทำเงื่อนไขให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เสียเปรียบหรือไม่ ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ก็ต้องดูว่า เงื่อนไขของการทำแฟรนไชส์แบรนด์นั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องปฏิบัติตามเจ้าของแฟรนไชส์บอกอย่างไร ต้องซื้อวัตถุดิบหรืออะไรจากเจ้าของแฟรนไชส์บ้าง และหลังซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว เจ้าของแฟรนไชส์จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนเราอย่างไรบ้าง
7.เจรจาต่อรองแฟรนไชส์ซอร์
เมื่อรู้ว่าเงื่อนไขและข้อปฏิบัติในการซื้อแฟรนไชส์แล้ว ขั้นตอนต่อไปผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรจะนัดพูดคุยและเจรจาต่อรองเรื่องต่างๆ ในการซื้อแฟรนไชส์กับบริษัทแฟรนไชส์ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์, ค่าสิทธิ ค่าการตลาด ค่าโฆษณา, ต้นทุนการตกแต่งร้าน, ข้อตกลงสัญญาแฟรนไชส์, การอบรม การเปิดร้าน, เงินทุนหมุนเวียน ทำเลและพื้นที่ประกอบกิจการ รวมถึงเงื่อนไขการให้สิทธิขยายสาขาเพิ่มในพื้นที่หรือจังหวัดแต่เพียงผู้เดียว
8.การสนับสนุนของแฟรนไชส์ซอร์
ก่อนจะเลือกซื้อแฟรนไชส์ควรจะพิจารณาในเรื่องของการช่วยเหลือและการสนับสนุนจากบริษัทแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นบริการฝึกอบรมพนักงานจากทีมงานมืออาชีพ กิจกรรมเปิดตัวร้าน การช่วยเหลือด้านการตลาด การขาย การสั่งจัดส่งสินค้า-วัตถุดิบ การให้คำแนะนำและคำปรึกษา แก้ปัญหาการนำเนินธุรกิจตลอดอายุสัญญาของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นยอดขายให้สาขาแฟรนไชส์ และสร้างการเติบโตให้เครือข่ายธุรกิจ
นั่นคือ 8 เทคนิค เลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไร ไม่ให้ถูกหลอก
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise
ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter
Franchise Tips
- หาความรู้เรื่องแฟรนไชส์
- เลือกแฟรนไชส์ที่มีโอกาส
- สำรวจร้านสาขาแฟรนไชส์
- ตรวจสอบสถานะบริษัท
- ดูผลกระกอบการธุรกิจ
- ศึกษาเงื่อนไขแฟรนไชส์
- เจรจาต่อรองแฟรนไชส์ซอร์
- การสนับสนุนของแฟรนไชส์ซอร์
อ้างอิงจาก https://bit.ly/3EH1CIw