6 เคล็ดลับบริหารธุรกิจครอบครัว เพื่อความยั่งยืน

บริษัท PwC ประเทศไทย เผยผลการสำรวจธุรกิจครอบครัวจำนวน 2,802 ราย ที่มียอดขายระหว่าง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐถึงมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2559 ใน 50 ประเทศทั่วโลกว่า ธุรกิจครอบครัวทั่วโลก ยังไม่มีความตื่นตัวในการวางแผนสืบทอดกิจการ (Succession Plan) 

โดยจากผลสำรวจระบุว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเกือบครึ่ง (43%) ยังขาดการวางแผน สืบทอดกิจการ ที่รองรับการเจริญเติบโตขององค์กรในระยะยาว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการอยู่รอดของกิจการ

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อมและปรับตัว รับความท้าทายหากต้องการอยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของกติกาการค้า ทั้งในระดับโลกและภูมิภาคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีกลยุทธ์และเคล็ดลับการบริหารธุรกิจครอบครัว ท่ามกลางการแข่งทางธุรกิจสูง ในยุคดิจิตอล เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวสู่ความยั่งยืน

1.นวัตกรรม

สืบทอดกิจการ

ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้กิจการครอบครัว สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่ในกระแส และเป็นที่ต้องการของลูกค้า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการจะต้องมีวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจของตนในระยะยาว คือ ต้องกล้าที่จะลงทุนในสิ่งใหม่ๆ

โดยไม่หวังแค่ผลตอบแทนระยะสั้น และยังต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมไปพร้อมๆ กับการกำหนดเป้าหมายทางธุรกิจของตัวเองด้วย ที่สำคัญนวัตกรรมต้องสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วย

ขณะเดียวกันต้องปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้คิด พูด อ่าน เขียน และทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด รู้จักการพัฒนาต่อยอด มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่าลืมว่าเป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆ เกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะนวัตกรรมก่อให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ

2.เทคโนโลยี

63

สิ่งที่ผู้ประกอบการกิจการครอบครัวส่วนใหญ่ยังมองข้ามคือ การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยปฏิรูปการดำเนินธุรกิจ แม้กระทั่งผู้บริหารในตลาดเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าพัฒนาล้ำหน้าชาวโลก

อย่างสหรัฐอเมริกายังมองว่า ความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ จะกลายเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ของธุรกิจครอบครัวในช่วง 5 ปีข้างหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้บริหารควรหันมาให้ความสำคัญกับเทรนด์ของเทคโนโลยี

ได้แก่ สังคมออนไลน์ (Social), อิสรภาพในการทำธุรกิจจากที่ใดก็ได้ (Mobile), การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Analytics) และ ระบบคลาวน์ (Cloud) หรือสิ่งที่เราเรียกว่า SMAC

3.การสร้างกลไกในการรักษาและดึงดูดคนเก่ง

61

การที่ประกอบธุรกิจใดๆ ให้เติบโตประสบความสำเร็จต้องอาศัย “คน” ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นเรื่อง Talent War จะยิ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยามที่ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะทำให้การค้าขาย การเคลื่อนย้ายคนเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น

ท่ามกลางยุคที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจครอบครัวจะต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคน โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกบุคลากร มีการจัดทำสภาพการจ้างงานหลายรูปแบบเพื่อดึงดูดผู้สมัครงาน และเพิ่มแหล่งข้อมูลของผู้สมัครงาน เพื่อให้ได้คนที่มีความสามารถ มีทักษะ เหมาะสมกับลักษณะของงาน

นอกจากนี้ ธุรกิจครอบครัวยังควรเข้าไปมีบทบาท ในการส่งเสริมการสร้างงาน และพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำ โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัย ในการจัดโปรแกรมการฝึกงาน การรับนักศึกษาเข้าทำงาน เพื่อให้ได้คนที่มีคุณภาพ และมีทักษะตรงต่อความต้องการของตลาด

4.จ้างมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ

64

การมีทีมบริหารที่ไม่ใช่สมาชิกภายในครอบครัว ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยผลักดันให้แผนงานของธุรกิจครอบครัวมีความเป็นมืออาชีพ มีความโปร่งใส และได้มาตรฐานเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของกิจการที่ตั้งไว้

โดยผลสำรวจพบว่า 3 ใน 5 ของธุรกิจครอบครัว มีแผนที่จะจ้างบุคคลภายนอกในระดับบริหาร ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต แม้ว่าปัญหาที่พบตามมาในเรื่องของการให้อำนาจการตัดสินใจ และการควบคุมยังคงมีอยู่

สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เราเริ่มที่เห็นธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ เลือกใช้แนวทางการนำทีมพี่เลี้ยง หรือทีมบริหารมืออาชีพ เข้ามาช่วยฟูมฟักและเตรียมความพร้อม ให้กับกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ

เพราะการถ่ายโอนกิจการจากรุ่นสู่รุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่จะประสบความสำเร็จในทุกๆ กรณี โดยความผิดพลาดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากการขาดการวางแผน และการออกแบบการเปลี่ยนผ่านที่ดีและมีประสิทธิภาพ

5.การวางแผนสืบทอดกิจการ

65

ปัญหาที่พบบ่อยครั้งในประเด็นนี้ คือ ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ยังขาดการจัดการด้าน “กระบวนการ” ที่ดีหรือไม่มีเลย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว

แม้ในบางครั้งผลกระทบอาจจะมองไม่เห็นได้ในทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ กิจการครอบครัวจะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องหลักๆ ได้แก่ การสร้างภาวะผู้นำในทุกระดับ การพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่

เพื่อรองรับการวางแผนสืบทอดตำแหน่ง การบริหารจัดการคนเก่ง มีแผนสร้างคนให้เติบโตในทางเดินทางอาชีพอย่างชัดเจน และเน้นย้ำความผูกพันระหว่างคนกับองค์กร ซึ่งถือเป็นประเด็นต่อเนื่องจากการสร้างและพัฒนาคนในองค์กร

6.การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ

66

คำว่าโกอินเตอร์ดูเหมือนว่า จะกลายเป็นคำพูดติดปากของภาคธุรกิจไทยไปแล้ว โดยเฉพาะในยามที่เราได้มุ่งไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน

โดยภาคธุรกิจเริ่มที่จะเห็นสัญญาณการเคลื่อนย้ายของเงินลงทุนของบริษัทไทย ที่ต้องการต่อยอดทางธุรกิจ ขยายกำลังการผลิต หรือกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)

ซึ่งแนวโน้มการหาพันธมิตรทางธุรกิจ หรือกิจกรรมการควบรวมในภูมิภาค น่าจะยังมีมากขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวไทยกลายเป็นบริษัทข้ามชาติมากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทจากต่างประเทศก็จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ ไม่ว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องมีการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายของธุรกิจครอบครัว ควรให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการในครอบครัว ดูแลพนักงานคนเก่าคนแก่ จ้างทีมบริหารมืออาชีพ เพื่อสร้างมาตรฐาน และความโปร่งใส รวมถึงต้องมีการวางแผนสืบทอดกิจการ และขายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง เป็นบริษัทข้ามชาติ

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบ และวางแผนส่งต่อธุรกิจครอบครัวที่ดี จึงต้องประสานทั้งเรื่องการส่งต่อกิจการ การกำหนดยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ การกำหนดคุณค่าทางครอบครัว และเป้าหมายขององค์กรในลักษณะองค์รวม มากกว่าที่จะเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช