เทคนิคการเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศเบื้องต้น

เมืองไทยอากาศร้อน สิ่งที่จะดับร้อนได้ดีคงหนีไม่พ้น “ เครื่องปรับอากาศ ” อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกปีทำให้ปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ในปี 2560 ตลาดเครื่องปรับอากาศมีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านและคาดว่าจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าแม้ความต้องการใช้งานเครื่องปรับอากาศจะมากขึ้นแต่แรงงานมีฝีมือในการซ่อมบำรุง ติดตั้ง เครื่องปรับอากาศกลับมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศระบุว่าประเทศไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือในกลุ่มช่างเครื่องปรับอากาศที่มีมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออก จึงได้มีการตั้งโครงการร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในการฝึกฝีมือให้คนสนใจได้เข้ามาสู่เส้นทางการเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศมากขึ้น

แนวทางการศึกษาสำหรับผู้สนใจเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ

13

ภาพจาก bit.ly/3jgWZJ8

ผู้ที่สนใจและต้องการเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศนอกจากจะเลือกเรียนได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังสามารถเลือกเรียนคอร์สต่างๆที่มีการเปิดสอน โดยส่วนใหญ่จะเน้นทั้งภาคทฤษฏีและลงมือปฏิบัติ เนื้อหาสาระที่จะได้เรียนรู้ในภาคทฤษฏี เช่น ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศ ,โอกาสทางธุรกิจ , ประเภทของเครื่องปรับอากาศ , การคำนวณBTU , การใช้เครื่องมือวัด Multi meter ,

Clamp meter หรือคลิปแอมป์ , หลักการทำงานภาพรวมระบบเครื่องปรับอากาศและระบบการทำความเย็น , ส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องปรับอากาศ ได้แก่คอมเพลสเซอร์ , คอยล์ร้อน , คอยล์เย็น , มอเตอร์ตัวในและตัวนอก , แผงวงจรควบคุมหลัก , แมกเนติกส์ , โอเวอร์โหลด , ดรายเออร์ และอื่นๆ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาในเรื่องของน้ำยาทำความเย็นประเภทต่างๆ อีกด้วย

ในส่วนของภาคปฏิบัติจะเน้นที่งานทองแดง ตัด บาน ขยาย เชื่อม การตรวจเช็คและซ่อมระบบไฟฟ้าของแอร์ , การตรวจเช็คและซ่อมระบบน้ำยาแอร์ , การติดตั้ง การล้างเครื่องปรับอากาศ ,การวิเคราะห์อาการเสียต่าง ๆ เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับใครที่ไม่อยากเรียนหลักสูตรช่างแอร์โดยตรง ก็สามารถเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่สอนเกี่ยวกับเครื่องกล ระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานช่างแอร์ได้เช่นกัน

ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีหลักสูตรให้เลือกเรียนมากมาย ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนเลย ยิ่งใครที่ทำงานช่างแอร์ไปสักพักแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของตัวเอง หากเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์มา ก็จะมีโอกาสย้ายสายงานไปด้านอื่นได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เครื่องมือเบื้องต้นสำหรับการเป็นช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ

12

ภาพจาก bit.ly/2GlBTL0

  1. เกจวัดน้ำยา(Manifold Gauge) ใช้สำหรับวัดค่าความดันภายในระบบเครื่องปรับอากาศเพื่อการตรวจซ่อมและใช้ในการเติมน้ำยาแอร์หรือสารทำความเย็น
  2. แวคคั่มปั๊ม (Vacuum pump) ทำหน้าที่ดูดอากาศออกจากระบบ เพื่อทำให้ความดันต่ำลงจนเป็นสุญญากาศ ความชื้นและน้ำจะระเหยออกจากระบบ หรือเรียกว่าการทำแวคคั่ม
  3. คัตเตอร์ตัดท่อ (Tube Cutter) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดท่อทองแดงได้หลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน
  4. รีมเมอร์ (reamer) หรือเครื่องลบคมท่อ ใช้สำหรับลบคมหรือเสี้ยนออกจากท่อทองแดง
  5. เครื่องบานแฟร์ท่อ (Flaring Tool) เป็นเครื่องมือสำหรับบานท่อทองแดงเพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อทองแดงและแฟร์นัทเข้ากับช่องเซอร์วิส
  6. เซฟตี้วาล์ว (Safety Valve) คือวาล์วที่ทำหน้าที่กดไส้ศรของเซอร์วิสวาล์ว เพื่อไม่ให้น้ำยาแอร์หรือสารทำความเย็น ถูกปล่อยออกมามากเกินไป
  7. ดิจิตอลไมครอนเกจหรือ เกจวัดสุญญากาศ (Digital Micron Gauge) คือ อุปกรณ์เครื่องมือวัดที่สามารถแสดงถึงระดับสุญญกาศแบบสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างที่ต้องศึกษาและใช้งานให้ถูกต้องเช่น เครื่องตรวจรั่วน้ำยาแอร์ , แคลมป์วัดไฟฟ้า , ปากกาวัดไฟ ,ชุดเบ่งขยายท่อทองแดง เป็นต้น

คุณสมบัติที่ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ต้องมี!

11

ภาพจาก bit.ly/3482G5W

1.ใจรักในงานบริการ

เพราะนี่คืออาชีพบริการอย่างแท้จริงลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ตามบ้าน อพาร์ทเม้น คอนโด หากบริการไม่ดีหรือทำส่งๆแล้ว ย่อมเกิดผลเสียเป็นลูกโซ่ ทั้งโดนด่าในอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงปากต่อปากอีกด้วย และที่ร้ายแรงต่อจากนั้นคือ ลูกค้าที่ไม่พอใจช่างแอร์เหล่านั้น จะไม่เรียกใช้บริการจากร้านแอร์นั้นๆอีกเลย

2.มีความรู้ใหม่ๆในเรื่อง “เครื่องปรับอากาศ”

ปัจจุบันนอกจากการสะสมประสบการณ์เพิ่มพูนความรู้ไปเรื่อยๆ ยังสามารถหาความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้จากอินเทอร์เนตเพื่อให้พูดคุยและตอบคำถามลูกค้าได้

3.ซื่อสัตย์กับลูกค้า

เป็นพื้นฐานสำคัญบางคนคิดว่าลูกค้าไม่รู้เรื่องอะไร พูดอะไรไปเขาก็เชื่อ แต่ถ้าไปเจอบางคนที่เขารู้จริง หรือมารู้อีกทีว่าเราไม่ซื่อสัตย์เช่นคิดราคาแพงเกินไป ซ่อมได้ก็บอกว่าซ่อมไม่ได้ อาจกลายเป็นภาพลักษณ์ติดลบที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ

รายได้ของการเป็น “ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ”

10

ภาพจาก bit.ly/36kQ3qW

อาชีพช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศถือว่าเป็นอาชีพที่รายได้ดี การทำงานสามารถเลือกได้ตามต้องการว่าจะเลือกทำธุรกิจส่วนตัวหรือเป็นพนักงานประจำ แต่โดยส่วนใหญ่คนที่จบมาทางด้านนี้จะเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานตามบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ ที่จำหน่ายแอร์ ติดตั้งแอร์ ซ่อมแอร์ โดยเงินเดือนเบื้องต้นก็ประมาณ 15,000 บาท หรือขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่สวัสดิการก็แล้วแต่โครงสร้างของบริษัท

ทั้งนี้หากมีความรู้ มีประสบการณ์มากพอ ส่วนใหญ่จะออกมาสร้างธุรกิจตัวเอง ในการรับติดตั้ง ล้างแอร์ เติมน้ำยา ซ่อมเครื่องปรับอากาศ ราคาของงานแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยส่วนใหญ่หากเป็นช่างที่มีฝีมือดี เป็นที่ยอมรับคนมักจะบอกต่อกันไปทำให้เรามีงานเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ รายได้ต่อวันหักลบต้นทุนต่างๆ อาจได้เกินกว่าวันละ 1,000 -2,000 บาท ขึ้นอยู่กับฝีมือและประสบการณ์เป็นสำคัญ

ภาพรวมของอาชีพช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศแม้จะดูสดใสแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพและบริการที่ดีเป็นสำคัญ ปัจจุบันเราอยู่ในยุคโซเชี่ยลมาแรง อะไรที่ดีก็จะแพร่กระจายได้เร็ว เช่นเดียวกับบริการที่ไม่ดีก็จะถูกพูดถึงได้ในชั่วข้ามคืน ดังนั้นเรื่องการตลาดออนไลน์ก็นับว่าสำคัญหากใช้ให้ดีก็จะเกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจได้อย่างมาก


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/32Cim1r , https://bit.ly/2RyAgMj , https://bit.ly/3c4Ibue , https://bit.ly/3iHsc7Z , https://bit.ly/32I4kM9

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/30ED2Vx

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด