รวม 6 เทคนิค ตั้งราคาขายสินค้า ให้เหมาะสม

เชื่อว่าทุกคนที่ทำอาชีพค้าขายต่างต้องการได้กำไรมากกว่าขาดทุน ดังนั้น การที่จะได้กำไรมากหรือน้อย จุดสำคัญอยู่ที่การ ตั้งราคาขายสินค้า ให้สูงกว่าต้นทุน แต่บางครั้งการตั้งราคาขายสินค้าไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ที่ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้าต้องยึดปฏิบัติบางคนตั้งราคาขึ้นมาเองบวกกำไรไม่เกิน 5-10%

บางคนขายถูกกว่าคู่แข่งเพื่อดึงดูดลูกค้า หรือบางคนยอมขายต่ำกว่าต้นทุนเพื่อให้สินค้าหมด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นขายสินค้าของแต่ละคน

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงได้รวบรวมเทคนิคการตั้งราคาขายสินค้าที่ดูแล้วเหมาะสม ขายแล้วได้กำไร ดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ มาฝากผู้ประกอบการธุรกิจและบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ที่ยังไม่รู้ว่าจะตั้งราคาขายยังไงดี

ตั้งราคาขายสินค้า

1.ตั้งราคาขายตามต้นทุนสินค้า อยากได้กำไรมากน้อยก็บวกเพิ่ม

ถือเป็นการตั้งราคาขายสินค้าขั้นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการหรือพ่อค้าแม่ค้านิยมทำกันเป็นประจำ ยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่ไปรับซื้อมาแล้วนำมาขายต่อ วิธีการตั้งราคาขายสินค้าอิงตามต้นทุนสินค้าถือว่าทำได้ง่ายสุด เพราะทำให้พ่อค้าแม่ค้ารู้ว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ ถ้าซื้อสินค้ามาในราคาหรือจำนวนเท่านั้นเท่านี้

เช่น ถ้าซื้อสินค้ามาชิ้นละ 100 บาท อยากได้กำไร 20 บาท คุณก็ขายในราคา 120 บาท หรือซื้อสินค้าหลายชิ้นที่ไปรับซื้อแบบขายปลีก คุณก็จะได้ส่วนลดอยู่แล้ว การตั้งราคาขายของคุณอาจตั้งตามต้นทุนสินค้าแต่ละชิ้น ซึ่งจะได้กำไรพอดี ถ้าเป็นการไปรับซื้อสินค้าแบบยกแพ็ก ยกห่อ ยกลังจากห้างสรรพสินค้า เขาจะตั้งราคาขายให้คุณได้กำไรอยู่แล้ว

โดยส่วนใหญ่แล้ว ร้านค้าขายของทั่วไป รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าขายของตามตลาดนัด มักนิยมตั้งราคาขายสินค้าแล้วเพิ่มกำไรจากต้นทุนสินค้าที่ไปรับซื้อมา หรือซื้อวัตถุดิบมาผลิตเอง

oo7

2.สำรวจราคาตลาด เพื่อใช้เป็นฐานในการตั้งราคาขายสินค้า

การตั้งราคาขายสินค้าตามราคาท้องตลาด จะสามารถช่วยให้คุณขายสินค้าได้อย่างแน่นอน แต่ต้องขึ้นอยู่กับว่าสินค้าหรือบริการของคุณมีดีและมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้จะทำให้ลูกค้านำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งได้

ถ้าราคาเดียวกันแต่คุณภาพสินค้าของคุณไม่ได้เรื่อง ลูกค้าก็จะไปซื้อจากคู่แข่ง ดังนั้น หากตั้งราคาขายสินค้าตามท้องตลาด สินค้าของคุณต้องมีดีและคุณภาพดีด้วย ยิ่งถ้าสินค้าของคุณดีกว่าคู่แข่ง ก็จะทำให้สินค้าคุณขายได้ดีกว่าคู่แข่งทันที

การตั้งราคาตามท้องตลาด ส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับร้านขายอาหารทั่วๆไป ทั้งในห้างและนอกห้างสรรพสินค้า เช่น อาหารตามสั่งก็ไม่ควรขายเกินจานละ 30-40 บาท หรือร้านขายกาแฟไม่ควรขายประมาณแก้วละ 20-45 บาท เป็นต้น

oo9

3.ช่วงการแข่งขันในตลาดสูง ให้ตั้งราคาตามตลาด ควบคู่กับให้บริการอื่นๆ ที่ประทับใจลูกค้า

การตั้งราคาขายสินค้าตามราคาตลาด ในช่วงที่มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนาต่างๆ วันแห่งความรัก เทศกาลกินเจ ไหว้พระจันทร์ เป็นต้น

บางครั้งราคาขายสินค้าที่ตั้งขึ้นในช่วงเวลาเหล่านี้อาจเกิดขึ้นจากความต้องการของตลาด โดยที่คุณไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาเอง เมื่อคุณซื้อมาแพงคุณก็ต้องขายแพงตามต้นทุน เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ลูกค้ามีความต้องการสินค้าเป็นอย่างมาก ถ้าร้านอื่นหมดคุณสามารถตั้งราคาเพิ่มสูงกว่าคนอื่นได้

แต่ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามตลาดสด หรือตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น ตลาดดอกไม้ ตลาดผลไม้ ตลาดผัก ตลาดเนื้อสัตว์ ตลาดขนม การตั้งราคาขายสินค้าจะไม่แตกต่างกัน ทุกร้านราคาจะเหมือนกันหมด สินค้าก็เหมือนกัน แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณขายสินค้าได้มากกว่าคู่แข่ง คือ การให้บริการลูกค้าที่ประทับใจ ช่วยเข็นสินค้า แบก หิ้วสินค้าไปส่งถึงที่ เป็นต้น

bb2

4.ช่วงการแข่งขันในตลาดต่ำ อาจตั้งราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่ไม่ควรต่ำกว่าต้นทุน

เชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้าเกือบทุกคนต้องเจอกับปัญหาการซื้อต่ำ เป็นช่วงที่ลูกค้าไม่ค่อยเข้าไปใช้บริการ ถ้าคุณเปิดร้านเดี่ยวๆ ไม่มีคู่แข่ง คุณสามารถตั้งราคาสินค้าให้ถูกลงกว่าเดิมได้ แต่ได้กำไรน้อยลง หรือคงราคาไว้เท่าเดิมแต่ให้ของแถมลูกค้าเมื่อซื่อสินค้าชิ้นนี้ไป ตรงนี้จะช่วยดึงดูดสร้างความสนใจให้ลูกค้าได้มากพอสมควร

ถ้าเปิดร้านขายตามตลาดสินค้าที่มีคู่แข่งจำนวนมาก แน่นอนว่าราคาขายอาจไม่แตกต่างกันมาก ถ้าคุณอยากให้สินค้าขายหมด อาจตั้งราคาขายถูกกว่าคู่แข่งเล็กน้อย เพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า แต่ก็ไม่ควรขายต่ำกว่าต้นทุน ที่สำคัญสินค้าของคุณก็ต้องมีคุณภาพไม่แพ้คู่แข่งด้วย บางครั้งอาจต้องใช้ทักษะการพูดจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ชวนดึงดูดลูกค้ามาช่วย

oo10

5.ตั้งราคาขายสินค้า ตามราคาค่าเช่าและทำเลที่ตั้งขายสินค้า

แน่นอนว่าการตั้งราคาขายสินค้าแบบนี้ คุณจะตั้งราคาขายตามท้องตลาดไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าคุณต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเช่าสถานที่ในการขายสินค้า เช่น ถ้าคุณขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าทั่วไป ราคาขายสินค้าของคุณจะต้องแพงกว่าสินค้าที่ขายตามตลาดทั่วไปอย่างแน่นอน เพราะต้องบวกเพิ่มค่าเช่าด้วย

แต่ถ้าจะขายได้ถูกหรือเท่ากับราคาข้างนอก คุณต้องมีแหล่งผลิตสินค้าหรือป้อนสินค้าให้กับคุณในราคาถูก ยิ่งถ้าในห้างขายได้ถูกเท่าไหร่ ก็จะยิ่งขายได้ดีเท่านั้น

สมมุติ ถ้าคุณเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ขายอาหารตามสั่ง คุณก็จะต้องตั้งราคาขายอยู่ที่ประมาณ 35-50 บาท ราคาอาจดูไม่แตกต่างจากนอกห้าง แต่คุณสามารถลดปริมาณลงได้ แต่คุณภาพต้องดีกว่าข้างนอก

oo2

6.ตั้งราคาขายสินค้า แบบการให้ส่วนลด

ถือเป็นเทคนิคตั้งราคาขายสินค้าที่มักเห็นกันเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็แล้วแต่ พ่อค้าแม่ค้ามักนิยมขายสินค้าในราคาแบบให้ส่วนลด เมื่อซื้อเพิ่มจำนวนหรือเพิ่มอีกชิ้น เช่น ถ้าคุณติดป้ายขายเสื้อผ้าอยู่ตัวละ 150 บาท ถ้าลูกค้าซื้อ 2 ตัวขายราคา 280 หรือ 285 บาทก็ได้ หรือขายผักผลไม้ตั้งราคาขายกิโลกรัมละ 10 บาท ซื้อ 2 กิโลกรัมราคา 15 บาท เป็นต้น

เทคนิคตั้งราคาขายสินค้าแบบนี้ช่วยดึงดูดลูกค้าได้ดี เพราะลูกค้าเห็นว่าลดราคาจริง ซื้อถูกลง เหมาะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามห้างสรรพสินค้า หรือตามตลาดทั่วๆ ไป สามารถตั้งราคาขายสินค้าแบบให้ส่วนลด โดนใจลูกค้าได้แน่ครับ

ทั้งหมดเป็น 6 เทคนิคการตั้งราคาขายสินค้าให้เหมาะสม แบบโดนใจลูกค้า ขายได้ง่าย จ่ายได้คล่อง เมื่อคุณรู้แล้วว่ามีวิธีการตั้งราคาขายสินค้าในราคาแบบไหน และเหมาะกับธุรกิจหรือตลาดแบบไหนแล้ว ก็สามารถนำไปปรับใช้หรือเป็นแนวทางในการตั้งราคาขายให้เหมาะสมกับสินค้าของคุณได้นะครับ

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช