รวม 15 สารพัดกลโกงลูกน้องในร้านอาหาร! เจ้าของร้านต้องรู้!

ขึ้นชื่อว่า “มนุษย์” ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดที่ยากจะคาดเดา โดยเฉพาะในการทำงาน เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนนี้คิดอะไร และจะทำอะไร ในขณะที่เขาดูเหมือนทำงานให้เราเต็มที่ แต่บางทีก็อาจจะมี “ทริค” เล็กๆ น้อยๆ ที่บ่อนทำลายธุรกิจของเราได้ไม่รู้ตัว

www.ThaiSMEsCenter.com ได้เห็นข่าวสารเกี่ยวกับลูกน้องที่โกงเจ้าของธุรกิจ โดยเฉพาะบรรดาร้านอาหารที่ต้องมีลูกน้องจำนวนมาก เป็นสถานที่เสี่ยงที่จะถูกโกงได้มากที่สุด หากเจ้าของกิจการขาดการดูและเอาใจใส่ วิธีการที่พนักงานของร้านจะทุจริตนั้นมีหลายวิธี แต่เราลองรวบรวมมาให้ดู 15 วิธีที่เราต้องรู้ว่ามีอะไรบ้าง

เจ้าของร้านต้องรู้

ภาพจาก Freepik

1. บันทึกยอดขายไม่ตรงกับความเป็นจริง

จะเรียกว่าเป็นกลโกงพื้นฐานก็ได้เพราะไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก โดยเฉพาะร้านอาหารที่ยังไม่ได้ติดตั้งระบบ POS การจะปั้นยอดขายเท่าไหร่เสนอนายจ้างจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ในอดีตนี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เจ้าของร้านอาหารต้องสูญเสียรายได้ แม้ในปัจจุบันจะมีระบบ POS ทำให้ปัญหาในส่วนนี้ลดน้อยลง แต่ก็ยังมีอีกหลายร้านอาหารไม่ลงทุนกับระบบนี้และมีความเสี่ยงที่จะถูกโกงได้

2. พนักงานได้คอมมิชชั่นจากซัพพลายเออร์

โดยเฉพาะการสั่งซื้อวัตถุดิบที่เจ้าของร้านไม่ได้ดำเนินการเองแต่มีพนักงานดำเนินการให้ เจอคนดีก็ดีไป เจอซัพพลายเออร์ดีก็ดีไป บางซัพพลายเออร์ติดต่อพนักงานขอผูกขาดส่งสินค้าเข้าร้านอาหาร ทั้งที่ความจริงอาจจะมีซัพพลายเออร์อื่นที่ให้ราคาถูกกว่า แต่ด้วยค่าคอมมิชชั่นที่ซัพพลายเออร์จ่ายให้กับพนักงานทำให้เจ้าของร้านต้องเสียเงินซื้อวัตถุดิบในราคาที่แพงโดยไม่จำเป็น

17

ภาพจาก Freepik

3. แอบทานสินค้าในร้าน (ของกิน)

ไม่ใช่แต่ร้านอาหารหรือแม้แต่ร้านของชำก็มักจะเกิดปัญหานี้ ถ้าเป็นร้านอาหารปัญหาที่เจอคือพวกวัตถุดิบที่ทานได้เลย อย่างไส้กรอก หรือขนมปังเหล่านี้ ความจริงคือวัตถุดิบเอาไว้ในสต็อค แต่หากเจอลูกน้องที่แอบทานสินค้าเหล่านี้ ดีไม่ดีบางทีเอากลับบ้านไปอีก ยิ่งทำให้ต้นทุนเจ้าของร้านมากขึ้น แต่รายได้ไม่ได้มากตาม

4. ได้ส่วนต่างราคาจากซัพพลายเออร์

เป็นวิธีการทุจริตที่ร้านมักจับไม่ได้เพราะตรวจสอบได้ยากเพราะบางครั้งราคาอาจแตกต่างจากราคาตลาดเพียง 3-5% เท่านั้น ทำให้ยากต่อการสังเกต เช่น สมมุติว่าปลาราคาปกติอยู่ที่กิโลกรัมละ 350 บาท พนักงานจัดซื้อของอาจคุยกับซัพพลายเออร์ขอเพิ่มราคาอีก 10 บาทต่อกิโล ในทุกครั้งที่สั่งซื้อ กลายเป็นว่าร้านเราต้องซื้อปลาในราคาโลละ 360 บาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นพนักงานก็เก็บเข้ากระเป๋าไปเรื่อยๆ

23

ภาพจาก Freepik

5. นำสินค้าในร้านออกไปขาย

ไม่ใช่แค่พนักงานแคชเชียร์หรือการเงินเท่านั้นที่จะมีโอกาสโกงเจ้าของร้านได้ แม้แต่พนักงานครัวก็โกงได้เช่นกัน โดยเฉพาะบรรดาวัตถุดิบต่างๆ ง่ายที่สุดคือการเอาวัตถุดิบเหล่านี้ใส่ถุงดำ ทำทีเหมือนจะไปทิ้ง แล้วค่อยแกะออกหลังจากที่ออกพ้นนอกร้านไปแล้ว ซึ่งบางคนก็นำไปกินเองทำอาหารที่บ้าน หรือที่แย่กว่าคือเอาไปขายต่อ เป็นปัญหาของเจ้าของร้านอาหารที่ต้องระวังให้ดี

6. ขอยกเลิกบิลเพื่อเก็บส่วนต่าง

ในกรณีที่ร้านมีระบบ POS ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดการทุจริต โดยมากเจ้าของร้านจะมอบหมายให้ผู้จัดการร้าน หรือแคชเชียร์เป็นคนที่สามารถคิดเงิน และใน POS นั้นจะมีฟังก์ชั่นให้สามารถ Void หรือยกเลิกบิลได้ เช่น ลูกค้าย้ายโต๊ะ คิดเงินลูกค้าผิด สั่งเมนูผิด ฯลฯ แต่นั่นก็เท่ากับเราเปิดโอกาสให้พนักงานทุจริตด้วยเช่นกัน

หากระบบ POS นั้นไม่สามารถจำกัดสิทธิ์การ Void หรือรายงานการ Void ทุกครั้งได้ เช่น พนักงานคิดเงินลูกค้าปกติ 6 เมนูเป็นเงิน 900 บาท แต่พอถึงเวลาเก็บเงินพนักงานอาจจะทำการ Void ออกไป 1 เมนู แล้วใส่เงินลงในเก๊ะเพียงแค่ 700 บาท โดยเราก็ไม่มีทางรู้ว่าที่ยกเลิกไปนั้นเพราะ คิดเงินลูกค้าผิดอาหารมาไม่ครบ หรือลูกค้ายกเลิกเมนูนั้นได้เลย

16

ภาพจาก bit.ly/3pGTleR

7. ขโมยเงินสดย่อย

ทุกร้านอาหารที่เจ้าของร้านไม่ได้อยู่เฝ้าร้านเองตลอดเวลา จะมีการทิ้งเงินสดย่อยหรือเงินไว้ให้พนักงาน เผื่อใช้จ่ายในค่าใช้จ่ายจิปาถะที่ไม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายปกติ ซึ่งในหลายๆครั้งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มักจะไม่มีบิลหรือมีบิลออกมาในรูปแบบของบิลเงินสด ซึ่งพนักงานสามารถเมคขึ้นมาได้เอง ทำให้เป็นอีกช่องทางที่จะง่ายต่อการทุจริต ร้านอาหารใหญ่ๆจึงพยายามลดเงินสดย่อยให้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริตลง

8.ยักยอกเงินค่าวัตถุดิบในร้าน

ร้านอาหารหลายแห่งใช้วิธีเอาเงินสดให้พนักงานไปซื้อของที่ตลาด ช่องโหว่ขนาดใหญ่คือเราจะมั่นใจได้ยังไงว่าราคาที่พนักงานซื้อจะใช่ราคาขายของร้านนั้นจริงๆ หรือค่ารถที่พนักงานบอกคุณจะตรงกับความเป็นจริง ยิ่งราคาผักที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆวันด้วยแล้ว หากพนักงานทุจริตเงินไป 200 บาท เราแทบจะไม่สามารถรู้ได้เลยอาจจะดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่มันก็คือรูรั่วที่เจ้าของร้านอาหารต้องระวังให้ดี

19

ภาพจาก Freepik

9. โกงเป็นขบวนการ

การทุจริตโดยมีการร่วมมือกันระหว่างพนักงานในร้านเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด ยิ่งถ้ามีการรู้เห็นระหว่างพนักงานหน้าร้านและหลังร้านแล้ว จะเป็นเรื่องยากที่ร้านอาหารจะสามารถตรวจพบเจอการทุจริต ยิ่งร้านอาหารหลายแห่งไม่ได้มแผนกตรวจสอบหรือเก็บข้อมูลการขายหรือตรวจเช็ควัตถุดิบอย่างต่อเนื่องแล้ว กว่าจะรู้ว่าร้านถูกทุจริตบางครั้งก็อาจจะสายเกินไปที่จะจับคนผิดหรือได้เงินคืน

10. เบิกสินค้าเกินจริง

เป็นปัญหาสำคัญของร้านเครื่องดื่มที่จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างด้วย โดยเฉพาะ “แก้วน้ำสำหรับขาย” หลายครั้งที่เจ้าของร้านซื้อแก้วน้ำมาสต็อคให้ลูกน้องขาย โดยเฉพาะตอนไหนที่ขายดียิ่งมีโอกาสโกงแบบนี้ได้มาก วิธีการคือเขาจะเดินไปหยิบของในสต๊อกเอง แล้วบอกกับพนักงานอีกคนว่า มาเอาไปเท่านี้นะ สมมติแก้วมีอยู่ 6 แถว เขาจะบอกกับเพื่อนพนักงานอีกคนว่าเอาไป 4 แถวนะ แต่จริงๆ คือหยิบไป 5 แถว นั่นเท่ากับเขาจะได้แก้วเกินไป 1 แถว” ซึ่งแก้ว 1 แถว มีปริมาณแก้ว 50 ใบ เมื่อคิดในราคาขายน้ำหวานแก้วละ 20 บาท แปลว่า พนักงานที่โกง จะได้เงินถึง 50*20 = 1,000 บาท

20

ภาพจาก Freepik

11. นำแก้วลูกค้ากลับมาใช้

ยังอยู่ที่ร้านเครื่องดื่ม กับอีกวิธีที่แยบยลในการโกง คือการนำแก้วลูกค้ากลับมาใช้ใหม่ วิธีการคือค่อยๆ หยิบแก้วมาล้างยังที่ถังน้ำสะอาด ซึ่งวางไว้ที่พื้น แล้วค่อยๆ เลื้อยแก้วมาเสียบไว้ที่ในกลุ่มที่ยักยอกไว้ เพราะฉะนั้นจะทำให้แก้วมี 2 แถว แถวหนึ่งเป็นของร้าน อีกแถวเป็นของที่ยักยอก เมื่อมีลูกค้ามาสั่งน้ำ ก็แค่เอาแก้วของตัวเองที่ไม่ได้อยู่ในสต็อคของร้านมาขายให้กับลูกค้า ถ้าขายแก้วละ 20 บาท เท่ากับว่าร้านค้าเหมือนไม่ได้ขายแต่เขาเอากำไรเข้าตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว

12. ใช้ทรัพยากรในร้านเพื่อตัวเอง

เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ถ้าทำต่อเนื่องก็เป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยสำหรับเจ้าของร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นใช้แก๊สหุงต้ม ทำกับข้าวกินเองส่วนตัว หรือหยิบจับเอา เครื่องครัว ซอส น้ำปลา ไข่ น้ำตาล ซีอิ๊ว หรือทรัพยากรใดๆในร้านไปเพื่อการส่วนตัว มองผิวเผินก็ไม่เสียหายเท่าไหร่แต่หากทำประจำทำทุกวัน และทำทีละเยอะๆมากๆ ก็เป็นต้นทุนที่เจ้าของร้านอาหารต้องแบกรับโดยไม่จำเป็น

21

ภาพจาก Freepik

13. โปรโมชั่นไปไม่ถึงลูกค้า

กรณีนี้อธิบายง่ายๆ เช่น ร้านค้ามีโปรโมชั่นซื้ออาหารครบ 500 รับส่วนลด 100 แต่ปัญหาคือลูกค้าไม่รู้ว่ามีโปรโมชั่นนี้ พอลูกค้าสั่งครบ 500 คนคิดเงินก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้พูดถึงโปรโมชั่นตัวนี้ให้ลูกค้าทราบ เท่ากับลูกค้าจ่ายเต็มๆ 500 ขณะเดียวกันคนที่คิดเงินก็ได้เงิน 100 บาท จากโปรโมชั่นไปแทน

14. การรับส่วนลดเทียม

วิธีนี้พนักงานในร้าน เมื่อเก็บเงินลูกค้าส่งแคชเชียร์หรือแคชเชียร์ที่เก็บเงินลูกค้าเอง จะบันทึกรายการเป็นการให้ส่วนลดกับลูกค้า เช่น ระบุว่าลูกค้ามีบัตรสมาชิกหรือคูปองส่วนลด ทั้ง ๆ ที่ลูกค้าไม่ได้สิทธิ โดยจะเก็บเงินลูกค้ามาเต็ม โดยพนักงานเอาบัตรลด คูปองหรือบัตรสมาชิกที่ตัวเองเก็บไว้มาประกอบเพื่อใช้สิทธิแทนลูกค้า ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่รับใบเสร็จ หรือถ้าแคชเชียร์ออกใบเสร็จพนักงานก็ไม่นำมาให้ลูกค้า ถ้าแคชเชียร์ทำเองก็ต้องเลือกทำกับลูกค้าที่ไม่รอใบเสร็จ เช่น จ่ายเงินพอดีไม่รอเงินทอน หรืออาจทำการแก้ไขรายการ โดยยกเลิกรายการเดิม แล้วทำรายการใหม่แบบมีบัตรลดหลังลูกค้าออกจากร้านไปแล้ว พนักงานจะได้ส่วนต่างเก็บไว้เอง

22

ภาพจาก Freepik

15. เอาเงินในร้านไปหมุนก่อน

อันนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่และน่าจะเป็นปัญหาที่เจ้าของร้านหลายคนเคยเจอกับการที่ลูกน้องบางคนที่มีอำนาจในการเข้าถึงรายได้ของกิจการ โดยเฉพาะตำแหน่งแคชเชียร์ บัญชี บางคนมีหน้าที่ต้องสรุปยอดการขายในแต่ละวัน นำเงินเข้าบัญชี แต่หากเจอคนโกงเข้าไป การสรุปยอดนอกจากจะไม่ตรงกับที่ขาย รายได้ที่แท้จริงส่วนหนึ่งลูกน้องยักยอกเอาไปใช้ก่อน หรือบางทีก็เอาเงินก้อนดังกล่าวไปใช้ล่วงหน้า ด้วยหวังว่าเดี๋ยวจะหามาคืนภายในกำหนด แต่หลายครั้งที่ถึงกำหนดก็เอาเงินมาคืนไม่ได้ก็กลายเป็นความเสียหายของร้านอาหารนั้นๆ

ในความเป็นจริงเราคงไม่สามารถห้ามไม่ให้พนักงานทุจริตได้ แต่การสร้างระบบการจัดการ ตรวจสอบที่ดี รวมถึงการเข้าไปสุ่มเช็คการทำงานในแต่ละส่วนอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการทุจริต หรือต่อให้เกิดการทุจริตเราก็จะมีระบบในการตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งการทำธุรกิจใดๆ เรื่องของน้ำใจที่เจ้านายมีให้ลูกน้องก็ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่การปล่อยให้ลูกน้องทำตามอำเภอใจจนความใจดีที่ไม่จำเป็นนั้น ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้ในภายหลัง


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/39zVtzc , https://bit.ly/2MIG4ne , https://bit.ly/3owLaQZ , https://bit.ly/3tgQ5J4 , https://bit.ly/3pAWCfv

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2YDewSW

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด