มีเหนื่อย! พนักงานโรงงาน ปี 2020

เห็นข่าวกันเป็นระยะๆ กับการเลิกจ้าง ปลดพนักงาน แต่ขอบอกก่อนเลยว่าเหล่านี้อาจจะเป็นแค่สัญญาณเริ่มต้นเท่านั้น เพราะจากทิศทางของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยก็เช่นกัน ในครึ่งแรกของปี 2562 มีอัตราการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลากยาวไปถึงปี 2563 สาเหตุหลักของการชะลอตัวคือการหดตัวอย่างรวดเร็วของสินค้าส่งออก

เรื่องนี้จึงเป็นผลพวงโดยตรงมายังบรรดาโรงงานและผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ที่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าคนที่รับผลกระทบเต็มๆอาจไม่ใช่แค่เจ้าของกิจการแม้แต่บรรดาลูกจ้างทั้งหลายก็ใจหายใจคว่ำกับภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

อุตสาหกรรมยานยนต์น่าเป็นห่วงมากที่สุด

พนักงานโรงงาน ปี 2020

ภาพจาก bit.ly/2OCm2tK

ในบรรดาโรงงานผลิตทั้งหลายคนที่อยู่ในแวดวงยานยนต์ดูน่าจะเป็นห่วงมากที่สุด อันเป็นผลจากภาพรวมยอดขายรถยนต์ทั่วโลกลดลง 5.7% ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยติดลบหนักถึง 20% ยอดขายในประเทศก็ลดลง 6.9% จึงมีรายงานจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกว่ามีอย่างน้อย 2 ค่ายใหญ่ที่ยกเลิกพนักงานสัญญาจ้าง และงดโอที ส่งผลเป็นลูกโซ่ไปยังกลุ่มซัพพลายเออร์หรือกลุ่มรับจ้างผลิตชิ้นส่วน ที่ธุรกิจบางรายมีการปรับลดเวลาทำงานของพนักงานโดยให้ทำ 4 วัน หยุด 3 วัน บางโรงงานก็ลดเงินเดือนพนักงาน ด้วยการจ่ายค่าแรงเพียง 75% เพื่อลดค่าใช้จ่าย

แม้แต่ในต่างประเทศเอง พนักงานโรงงานยานยนต์ก็น่าเป็นห่วงเช่นกันอย่างเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ฟอร์ด มอเตอร์ ได้ประกาศออกมาแล้วว่า จะมีการลดคนที่เป็นพนักงานกินเงินเดือนทั่วโลกจำนวน 10% จากที่มีอยู่ทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าจะมากถึง 7,000 อัตรา และเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียง 7 และ 5 วันตามลำดับนับ จากที่ฮอนด้าประกาศปิดโรงงานในอังกฤษ ในปี 2564 พร้อมเลิกจ้างคนงานจำนวน 3,500 คน

รวมถึงนิสสัน ที่ประกาศเตรียมปลดพนักงานกว่า 12,500 คน พร้อมทั้งมีแผนตัดการวางจำหน่ายรถยนต์บางรุ่นออกราว 10 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีงบประมาณ 2022 นี้ หรือหากตามรายงานจากรอยเตอร์ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดีย ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2019 อุตสาหกรรมยานยนต์อินเดียมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมกว่า 350,000 คน

ยังไม่หมด! โรงงานผู้ผลิตโทรศัพท์และธุรกิจเครื่องประดับ ก็วิกฤติเหมือนกัน

62

ภาพจาก bit.ly/35rIP15

ไม่ใช่แค่ในกลุ่มยานยนต์ที่ดูน่าเป็นห่วงวงการไอทีกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่าง Sony ที่มีรายงาน จาก Nikkei ระบุว่า Sony เตรียมแผนการลดแรงงานในแผนกมือถือลง 50% ภายในปี 2020 โดยคาดว่าจะมีการปลดพนักงานราวๆ 2,000 ตำแหน่ง สำหรับพนักงานในญี่ปุ่นจะถูกย้ายไปแผนกอื่นแทน สำหรับในยุโรปและจีนจะเสนอแผนเกษียณอายุก่อนดำหนดให้ อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงคือ Sony ได้ทำการปิดโรงงานผลิตมือถือในปักกิ่ง ประเทศจีนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หรือแม้แต่ Pandora แบรนด์เครื่องประดับขวัญใจสาวๆ ก็ยังประกาศเลย์ออฟพนักงานอีก 1,200 คนในประเทศไทย หลังจากที่ได้เลย์ออฟมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อตอนเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจำนวน 700 คน โดยที่ปัจจุบัน Pandora มีพนักงานรวมทั้งหมด 32,000 คนทั่วโลก และในจำนวนนั้นครึ่งหนึ่ง หรือ 14,000 คนเป็นพนักงานในประเทศไทย เพราะมีฐานการผลิตที่นี่

ดูสถานการณ์โรงงานในเมืองไทย จะเอาตัวรอดได้อย่างไร

60

ภาพจาก prachachat.net

มีรายงานระบุว่ามีพนักงานโรงงานตกงานเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ใน 8 จังหวัดแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม อย่างในมหาชัยที่มีกว่า 6,000 โรงงานอาการก็ร่อแร่ บางจังหวัดมีการขอปิดโรงงานชั่วคราว หรืออย่างที่ภูเก็ตก็มีรายงานว่ามีมาตรการให้แรงงานพักร้อนยาว 2 เดือนโดยไม่ได้รับเงินเดือน

สำนักงานสถิติเผยตัวเลขคนว่างงานจากปัญหาเหล่านี้รวมกว่า 400,000 คน คำถามที่น่าสนใจคือ ผู้ประกอบการจะก้าวข้ามวิกฤติเหล่านี้ไปอย่างไร และในฐานะของพนักงานเองจะเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้ได้อย่างไร

1. ผู้ประกอบการต้องขยับตัวและปรับกลยุทธ์ตามยุคสมัย

แม้บางโรงงานจะเคยได้ชื่อว่ามีผลประกอบการที่ดีแต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ต้นทุนของธุรกิจมีแต่จะพุ่งสูงมากขึ้น สวนทางกับรายได้ที่อาจจะลดน้อยลงตามกำลังการซื้อที่หดตัวรุนแรง เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการทุกอย่างให้มีผลกระทบต่อธุรกิจน้อยที่สุด ให้คำนึงไว้เสมอว่าการปลดพนักงานอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเพราะแรงงานบางคนทำงานมานานมีความเข้าใจในงานที่ทำ หากผ่านพ้นวิกฤติที่ว่านี้ไปได้ แรงงานเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการสร้างกำไรให้ธุรกิจอย่างมาก

2. ขยับเข้าหาหน่วยงานราชการมากขึ้น

หลายคนที่มั่นใจในตัวเองอาจจะต้องยอมเข้าหาหน่วยงานราชการมากขึ้นเพื่อช่วยกันปรึกษาหาทางออกในยามที่ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งหน่วยงานราชการอาจมีมาตรการหรือโครงการที่ดีในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้

3. พนักงานมองหาโอกาสใหม่ๆ

หากมองว่าการถูกเลิกจ้างเป็นหายนะของชีวิตแสดงว่าเรายึดติดและไม่คิดจะหาทางออกอื่นไว้ เราเชื่อว่าทุกคนมีทางออกแต่สำคัญคือต้องตั้งสติให้ดี การถูกปลด ถูกไล่ออก อาจจะเป็นจุดจบของการทำงานที่หนึ่งแต่เราสามารถไปตั้งหลักสร้างอาชีพของตัวเองได้ โดยอาศัยความรู้ความสามารถที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรยุคใหม่ การทำธุรกิจเล็กๆเป็นของตัวเอง พนักงานโรงงานต้องให้โอกาสตัวเองและอย่าจมปลักกับปัญหาการถูกเลิกจ้าง

61

ภาพจาก bit.ly/2oAjOQK

ทิศทางของเศรษฐกิจอาจจะยังดูไม่สดใสไม่ใช่แค่กลุ่มพนักงานโรงงานแต่ทุกแวดวงลงทุนต่างก็ “มีเหนื่อย” ด้วยกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือหาแผนสำรอง หาทางออกฉุกเฉินเตรียมไว้ อย่าชะล่าใจแม้ว่าจะเป็นงานที่เคยทำแล้วดีทำแล้วมีรายได้มาก

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนเก่าคนแก่คนที่ทำงานมานานแต่ในยุคนี้อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมแผนสำรอง อย่าท้อแท้ กับปัญหา บางทีสิ่งใหม่ที่เราทำอาจทำให้เรามีความสุขมากกว่าการทำงานโรงงานมาหลายสิบปีก็เป็นได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด