ข้อดี-ข้อเสีย! 3 รูปแบบให้สิทธิแฟรนไชส์ ในต่างประเทศ

ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ หลายคนอาจพอรู้อยู่บ้างว่า หากต้องการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ในต่างประเทศ จะเลือกใช้รูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์แก่แฟรนไชส์ซีในต่างประเทศอย่างไรบ้าง เพราะในแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป

ธุรกิจแฟรนไชส์หลายประเภทอาจเหมาะสำหรับการผสมผสานกันของทั้ง 3 รูปแบบการให้สิทธิ หรือไม่ก็ 1 รูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับเป้าหมายและเงื่อนไขทางธุรกิจ รวมถึงสภาวะการแข่งขันในแต่ละประเทศด้วย

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์ในต่างประเทศมีอะไรบ้าง มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร มาฝากท่านผู้ประกอบการเพื่อเป็นทางเลือก ก่อนที่จะตัดสินใจขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ

1. Single or Multi-Unit Franchise

เป็นรูปแบบการขยายสาขาที่แฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่บุคคลหรือองค์กรธุรกิจ ในการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ 1 แห่ง (Single-Unit) ภายในพื้นที่ตามที่กำหนด โดยแฟรนไชส์ซอร์อาจจะให้สิทธิเพิ่มเติมในการเปิดสาขาแฟรนไชส์อีกหลายแห่งได้ในภายหลัง เมื่อแฟรนไชส์แห่งแรกประสบความสำเร็จ (Multi-Unit)

ในต่างประเทศ

ข้อดี

  • หาแฟรนไชส์ซีที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์ได้ง่าย เพราะขนาดการลงทุนสาขา 1 แห่งจะต่ำกว่าการลงทุนหลายๆ แห่ง ซึ่งจะเหมาะสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการลงทุนต่อหน่วยสูง เช่น ร้านฟาสต์ฟู้ดจากต่างประเทศ
  • เป็นรูปแบบที่ง่ายในการเริ่มต้นของแฟรนไชส์ซอร์หลายประเภท โดยเฉพาะในช่วงเริ่มขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์ อีกทั้งยังช่วยให้แฟรนไชส์ซอร์สามารถให้การสนับสนุนและเรียนรู้ข้อผิดพลาดของการทำแฟรนไชส์ได้โดยตรงจากสาขาต้นๆ
  • สามารถประเมินและวัดผลประกอบการของสาขาแรก ก่อนที่จะทำการขยายสาขาต่อไป เมื่อแฟรนไชส์ซอร์ขายสิทธิให้แฟรนไชส์ซีในทำเลที่ตั้งดำเนินการเปิดสาขา 1 แห่ง ซึ่งสาขาแห่งนี้จะเป็นสาขาต้นแบบในการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จต้องทำใหม่ แต่ถ้าประสบความสำเร็จก็สามารถขยายสาขาต่อไปได้
  • แฟรนไชส์ซอร์สามารถพัฒนาธุรกิจให้ดีแบบค่อยเป็นค่อยไป สาขาแรกประสบความสำเร็จจึงค่อยมีสาขาที่สอง หรือไม่ก็ทำการคัดเลือกแฟรนไชส์ซีไปเรื่อยๆ เพราะการหาแฟรนไชส์ซีที่จะเข้ามารับสิทธิในการเปิดสาขา 1 แห่งในแต่ละพื้นที่กำหนด จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการบริหารค่อนข้างสูง

qq56

ข้อเสีย

  • ใช้เวลานานในการขยายสาขา เพราะต้องบริหารสาขาแรกให้ประสบความสำเร็จก่อน เพราะการที่แฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่บุคคลหรือองค์กรธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ 1 สาขาในพื้นที่กำหนด กว่าที่สาขาแห่งนี้จะประสบความสำเร็จ อาจต้องใช้เวลายาวนาน เพราะจะต้องมีเวลาในการทำตลาด ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการวางระบบการบริหารจัดการเพื่อให้สาขาสำเร็จ
  • การบริหารสาขาที่อยู่ไกล ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง แน่นอนว่าถ้าแฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีในต่างประเทศ ย่อมมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและการขนส่ง ยิ่งถ้าในต่างประเทศเปิดได้เพียงแค่ 1-2 สาขา แต่อยู่ในพื้นที่ห่างกัน รับรองว่าต้องเสียค่าใช้ไม่คุ้มค่าแน่นอน
  • เมื่อมีแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้น ทำให้แต่ละสาขามีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงทำให้การสนับสนุนและบริการของแฟรนไชส์ซอร์ต่อแฟรนไชส์ซี ที่มีจำนวนมากๆ จะกระทำได้ลำบาก

2. Area Development Franchise

รูปแบบการขยายสาขาที่แฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิผู้ใดผู้หนึ่งในการพัฒนา และดำเนินการได้หลายสาขาในพื้นที่ที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งต้องกำหนดเป้าหมายการขยายสาขาในช่วงเวลาที่ตกลงไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มต้น เพราะหากแฟรนไชส์ซีระดับพัฒนาพื้นที่ไม่สามารถขยายสาขาได้ตามเวลาที่กำหนด ก็อาจถูกตัดสิทธิในระดับพื้นที่ได้

qq53

ข้อดี

  • อัตราการขยายแฟรนไชส์สูงขึ้น เพราะด้วยความชำนาญตลาดในพื้นที่ของแฟรนไชส์ซี อีกทั้งยังมีข้อตกลงในการกำหนดเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มในช่วงเวลาที่ตกลงกัน จึงทำให้แฟรนไชส์ซีมีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นขยายสาขาให้สำเร็จ
  • แฟรนไชส์ซีระดับพื้นที่มีความสามารถบริหารธุรกิจสาขามากกว่า รวมถึงรู้จักและมีความใกล้ชิดผู้บริโภคจึงสามารถทำการตลาดและใช้กลยุทธ์โดนใจคนในพื้นที่ได้ ดังนั้นความต้องการช่วยเหลือจากแฟรนไชส์ซอร์จึงลดน้อยลง
  • ปัญหาด้านการดำเนินธุรกิจในเชิงปฏิบัติน้อยลง เพราะระบบการบริหารจัดการสาขาในประเทศนั้นๆ รวมถึงการขยายสาขาเพิ่ม ได้ให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีระดับพื้นที่ไปแล้ว แฟรนไชส์ซอร์เพียงแค่เฝ้าดูและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ เท่านั้น

qq54
ข้อเสีย

  • ต้องใช้สัญญาแยกต่างหาก และมีหลายฉบับ (การให้สิทธิแฟรนไชส์พัฒนาพื้นที่นั้น ต้องเซ็นสัญญา 2 ฉบับ คือ สัญญาการให้สิทธิพัฒนาพื้นที่ (Area Development Agreement) และสัญญาแฟรนไชส์ (Individual Franchise Agreement) ซึ่งใช้สำหรับแต่ละสาขาที่เปิดภายใต้สัญญาการให้สิทธิพัฒนาพื้นที่
  • ถ้าแฟรนไชส์ซีสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางด้านการตลาดได้มากกว่า จะส่งผลเสียต่อแฟรนไชส์ซอร์ เพราะแฟรนไชส์ซีจะสามารถผลิตสินค้าและบริการที่คล้ายคลึงกันออกมาแข่งขันกับแฟรนไชส์ซอร์ได้
  • แฟรนไชส์ซอร์มีความเสี่ยงมากขึ้น หากแฟรนไชส์ซีรายใดมีผลการดำเนินงานไม่ดี อาจจะต้องสูญเสียตลาดในพื้นที่นั้นๆ ไปเลยก็ได้ ซึ่งถ้าแฟรนไชส์ซอร์จะให้สิทธิแก่คนอื่นมาทำแทนคนแรก อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้บริโภคในพื้นที่นั้นๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อแบรนด์สินค้าและบริการของคุณไปก่อนหน้านี้แล้ว

3. Master Franchise

รูปแบบการขยายสาขาที่แฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในการขยายและสนับสนุนแฟรนไชส์เสมือนเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์เอง โดยรับผิดชอบตามเขตพื้นที่ที่กำหนด Master Franchise จะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ และค่าสิทธิในการขยายสาขาแฟรนไชส์ในพื้นที่ เพื่อตอบแทนการสร้างระบบสนับสนุนและการส่งเสริมการตลาด ค่าธรรมเนียมต่างๆ ขึ้นอยู่กับปริมาณงานในการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีในพื้นที่

qq58

ข้อดี

  • สามารถขยายสาขาแฟรนไชส์ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากแฟรนไชส์ซีมีความชำนาญในตลาดในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าจะคัดเลือกแฟรนไชส์ซีเพิ่มอย่างไร อีกทั้งยังได้ส่วนแบ่งจากค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ด้วย ทำให้มีความกระตือรือร้นบริหารธุรกิจ
  • ลดภาระการขยายแฟรนไชส์ โดย Master Franchise จะเป็นผู้รับผิดชอบการขยายสาขาแฟรนไชส์เอง เพราะเมื่อแฟรนไชส์ซอร์ให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีในประเทศนั้นๆ ไปแล้ว จะไม่มีหน้าที่รับผิดชอบในการขยายสาขาและคัดเลือกแฟรนไชส์ซีเข้ามารับสิทธิเพิ่ม คือจะไม่ปวดหัวเพิ่ม ซึ่งแฟรนไชส์ซีจะทำหน้าที่ขยายสาขาแทนแฟรนไชส์ซอร์เองตามข้อตกลง
  • สามารถเจาะตลาดได้กว้างขึ้น เพราะผู้รับสิทธิในพื้นที่จะรู้จักตลาดดีกว่าแฟรนไชส์ซอร์ ซึ่งถือเป็นข้อดีของการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในรูปแบบ Master Franchise เพราะโดยส่วนใหญ่เจ้าของแฟรนไชส์หลายคนจะใช้รูปแบบนี้ เพราะตัวเองไม่มีความชำนาญในการทำตลาดในแต่ละพื้นที่ของต่างประเทศ จึงต้องให้สิทธิแฟรนไชส์ซีซึ่งเป็นคนในพื้นที่ทำแทน

qq59
ข้อเสีย

  • ต้องใช้สัญญาแฟรนไชส์ที่แตกต่างไปจากสัญญาแฟรนไชส์ปกติทั่วไป เพราะ Master Franchise เป็นรูปแบบขยายธุรกิจแฟรนไชส์ ที่นอกจากจะให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ซีในพื้นที่แล้ว ยังแบ่งค่าธรรมเนียมและค่าสิทธิในการขยายสาขาให้กับแฟรนไชส์ซีเมื่อเขาสามารถขยายสาขาหรือให้สิทธิแก่ผู้อื่นได้ จึงทำให้ต้องใช้สัญญาแตกต่างจากทั่วไป
  • แฟรนไชส์ซอร์ต้องแบ่งรายได้ให้แก่ Master Franchise ทำให้รายได้จากค่าสิทธิลดลง ถือเป็นการให้ประโยชน์แก่แฟรนไชส์ซีในประเทศนั้นๆ แลกกับการบริหารจัดการสาขาและทำหน้าที่ในการขยายสาขาธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น เสมือนว่าเขาเป็นตัวแทนของแฟรนไชส์ซอร์ในประเทศนั้นๆ
  • มีความเป็นไปได้ที่แฟรนไชส์ซอร์จะเสียการควบคุมระบบ และทำให้ระบบแฟรนไชส์เสียมาตรฐาน เพราะเมื่อแฟรนไชส์ซอร์ขายสิทธิให้แก่แฟรนไชส์ซีในพื้นที่ไปแล้ว หน้าที่บริหารจัดการสาขาในประเทศนั้นๆ จะเป็นของแฟรนไชส์ซี รวมถึงการขยายสาขาเพิ่มในแต่ละพื้นที่ด้วย เป็นธรรมดาที่อาจทำให้เสียระบบการควบคุมอยู่บ้าง

qq61

เห็นได้ว่ารูปแบบการให้สิทธิแฟรนไชส์ทั้ง 3 แบบนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวเอง การตัดสินใจของคุณว่าจะใช้รูปแบบใด จึงขึ้นอยู่กับเป้าหมายและลักษณะธุรกิจของคุณเป็นเกณฑ์

แต่แฟรนไชส์ซอร์หลายท่านก็มีการใช้รูปแบบทั้ง 3 ผสมผสานกันในกลยุทธ์ของแฟรนไชส์ ตามแต่เงื่อนไขของธุรกิจและการตลาด รวมถึงการแข่งขันในแต่ละประเทศ

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช