5 ข้อควรรู้ ก่อนออกไปช็อปช่วยชาติ

เป็นประจำของทุกปีที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วงปลายปีเพื่อส่งเสริมให้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนโดยเฉพาะในปีนี้ที่ประเทศไทยมีปัญหาในหลายๆด้านทำให้ประชาชนไม่อยากจับจ่ายใช้สอยแบบไม่จำเป็น

จึงเป็นแคมเปญช็อปช่วยชาติที่รัฐบาลจะลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ออกมาซื้อสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการ โดยจำกัดวงเงินลดหย่อนภาษีไม่เกิน 15,000 บาท/คน แคมเปญนี้มีผลไปจนถึง 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งก็ถือว่าได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก

ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าแม้จะเป็นมาตรการที่ดีแต่คนที่จะออกไปช็อปช่วยชาติก็ควรรู้กฏเกณฑ์ข้อจำกัดที่มี เพราะงานนี้ถ้าเข้าใจผิดๆ นอกจากเสียเงินซื้อของไปแล้วอาจไม่ได้ส่วนลดตามที่ต้องการจะกลายเป็นหมดสนุกกันตั้งแต่ต้นปีไปเปล่าๆ

1.ต้องรู้ไว้ก่อนว่าช็อปมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลดมาก

กระตุ้นเศรษฐกิจ

ภาพจาก goo.gl/ZXbRNe

เรื่องนี้สำคัญมากต้องปูพื้นฐานและสร้างความเข้าใจให้ตัวเองอย่างชัดเจนว่า มาตรการนี้สามารถลดหย่อยภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าซื้อสินค้าไปเท่าไหร่ก็เอาราคาสินค้าไปลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น การลดหย่อนในที่นี้หมายถึงรายจ่ายที่เราจ่ายไปนั้น

ไม่ว่าจะจ่ายไปเท่าไหร่ ก็ต้องนำไปคำนวนการลดหย่อนตามฐานลดหย่อนภาษีที่เรามี เริ่มตั้งแต่ 5% – 35% เช่นหากเรามีรายได้ 300,001 – 500,000 บาทต่อปี ฐานภาษีที่สามารถลดหย่อนได้คือ 10% นั่นหมายถึงหากเราซื้อสินค้าไปในจำนวน 15,000 บาท

ภาษีที่ลดหย่อนได้จากสินค้าที่ซื้อไปคือ 1,500 บาท ดังนั้นการจะซื้อสินค้าอะไรก็ดูความคุ้มค่าก่อนว่าสมควรลงทุนหรือไม่จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจหรือบ่นดังๆกันในภายหลังให้เสียสุขภาพจิตตัวเองด้วย

2.ต้องไม่ลืมขอใบกำกับภาษีเท่านั้น

ss1

ภาพจาก goo.gl/ZXbRNe

และหากเราแน่ใจว่าต้องการช็อปในมาตรการช่วยชาตินี้ โดยไม่สนใจจะได้ส่วนลดเท่าไหร่ บางคนแค่ขอให้ได้เป็นส่วนลดแค่ไหนเท่าไหร่ก็โอเคทั้งนั้น

ถ้าตัดสินใจเช่นนั้นสิ่งสำคัญอีกอย่างคืออย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งสามารถขอได้จากทุกร้านที่เราซื้อสินค้า แน่นอนว่าเราไม่สามารถนำใบเสร็จธรรมดาไปยื่นให้สรรพากรเพื่อขอลดหย่อนภาษี

ทั้งนี้ถ้าใครพลาดเรื่องนี้ไปแต่ยังกำใบเสร็จไว้ในกำมือก็สามารถกลับไปขอใบกำกับภาษีย้อนหลังได้ จะได้ใช้สิทธินี้ได้อย่างเต็มที่แบบที่ไม่ต้องมีปัญหากับราชการในภายหลัง

3.คนที่มีสิทธิ์คือคนที่มีรายได้ต้องเสียภาษีเท่านั้น

ss3

ภาพจาก goo.gl/riibvM

ขอแสดงความยินดีกับคนที่มีสิทธิในการใช้สิทธิที่ว่านี้ สำหรับประชาชนที่เข้ากฏเกณฑ์ได้รับสิทธิ์คือ บุคคลคทั่วไปที่มีรายได้จำเป็นต้องเสียภาษีตามฐานรายได้ที่กำหนด

ส่วนคนที่รายได้ไม่ถึงรวมถึงคนที่ไม่มีเกณฑ์เสียภาษีงานนี้ไม่ต้องเสียใจเพราะเราจะไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น รวมถึงกลุ่มห้างร้าน บริษัท ที่ซื้อของเข้าออฟฟิศก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากมาตรการที่ว่านี้เช่นกัน เพราะเขากำหนดให้เป็นการซื้อส่วนบุคคลไม่ใช่ระดับองค์กร

แต่ถึงคนที่รายได้ไม่ถึงหรือคนที่ไม่เข้าข่ายใช้สิทธิ์ก็อาจจะมองหาสินค้าลดราคาธรรมดาๆ ที่มาคิดอีกทีส่วนลดจากมาตรการนี้ก็เท่าๆกับสินค้าลด 10 % ที่ส่วนใหญ่จะมีทุกห้างที่สำคัญใช้ได้ทุกคนแบบไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นด้วย

4.ต้องรู้ไว้ก่อนว่าสินค้าประเภทไหนที่มีข้อยกเว้น

ss6

ภาพจาก goo.gl/ZXUP2l

ใครที่ใช้สิทธิ์ได้ก็อย่าไปนึกว่าอยากซื้ออะไรก็จะกลายเป็นลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด เพราะสินค้าและบริการที่เข้าข่ายลดหย่อนได้แก่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋า รองเท้า (อะไรที่อยากได้จัดเลยตอนนี้), ค่าอาหารเครื่องดื่มในร้านอาหาร หรือโรงแรม (ยกเว้นเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์), ค่าซ่อมรถ หรืออะไหล่รถ, ค่านวดหน้า ทำสปา, อุปกรณ์ไอทีต่างๆ, ยารักษาโรค, ทองรูปพรรณ หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ(ตามร้านสะดวกซื้อ)

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่เข้าข่ายลดหย่อนได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รถยนต์ ยานพาหนะ บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเม้นต์ เชื้อเพลิง ศัลยกรรม ท่องเที่ยว ตั๋วต่างๆประกันชีวิต – ประกันรถ, บัตรของขวัญ, ค่าโรงแรม ฯลฯ ดังนั้นใครที่คิดจะช็อปช่วยชาติก็ดูรายละเอียดเรื่องนี้ให้ดีๆ จะได้เข้าใจตรงกันทุกคน

5.ต้องซื้อสินค้ากับร้านที่จะทะเบียน Vat เท่านั้น

ss4

ภาพจาก goo.gl/pQHgSw

งานนี้แม้สินค้าของเราจะเข้าข่ายสินค้าและบริการที่เข้าร่วมโครงการแต่ก็ใช่ว่าจะซื้อได้ทุกร้าน นั้นคือเราต้องซื้อสินค้าและบริการกับร้านที่จะทะเบียน vat ไว้เท่านั้น ร้านไหนที่ไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้

แต่ถ้าต้องการความชัวร์ก็ให้ซื้อสินค้าจากร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า หรือตามร้านใหญ่ๆที่ไว้ใจได้ งานนี้ก็เช็คข้อมูลกันสักนิดเผื่อบางทีเจอเจ้าของร้านเหลี่ยมจัดซื้อสินค้าไปหลายหมื่นแต่สุดท้าไม่ได้ส่วนลดหย่อนภาษีใดๆคืนมา แทนที่จะสุขใจกลับต้องมานั่งเสียอารมณ์กันตั้งแต่ต้นปีซะเปล่าๆ

และแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการนี้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการซื้อขาย แต่สำหรับประชาชนที่รายได้ไม่ดีนักการจะจับจ่ายก็ใช้สติให้มากขึ้นคำนวณความคุ้มค่าว่าภาษีที่ได้คืนกับสิ่งที่เราเสียไปว่าจะสมเหตุสมผลกันหรือไม่

หรือหากเงินไม่พร้อมก็เสนอว่าให้หยุดไว้ก่อนยังไม่ต้องรีบร้อนซื้อ ดูรายรับที่มี กับรายจ่ายที่จำเป็นๆ แต่ถ้ามั่นใจว่าไม่มีปัญหาทางการเงินงานนี้ก็จัดเต็มจัดหนักซื้อกันให้เต็มที่ งานนี้ใช้วิจารณญาณในการซื้อกันตามความเหมาะสมได้เลย

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด