3 แนวคิดเพื่อพัฒนาตัวเองจากคำสอนของพ่อหลวง

หลักปรัชญา ในโลกนี้จะเป็นเพียงแค่ความคิดและเป็นเพียงแค่ทฤษฏีหากคำพูดคำสอนเหล่านั้นไม่ได้นำมาต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มาก เราอาจจะเคลิ้มกับแนวคิดระดับโลก

อาจเคยยึดมั่นกับคำสอนของบุคคลสำคัญแต่เชื่อเถอะว่าไม่มีแนวคิดใหญ่จะดีและยิ่งใหญ่ไปกว่าคำสอนของพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยทุกคน

ในฐานะที่ www.ThaiSMEsCenter.com ก็เป็นพสกนิกรที่พร้อมจะน้อมนำเอาแนวคิดและพระราชดำริมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากการพัฒนาตัวเองนั้นถือเป็นกุญแจดอกแรกจะปลดล็อคความสำเร็จในทุกๆ ด้าน ของมนุษย์

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเอง คือ การมีหลักคิดที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่พวกเราชาวไทยได้ใช้ชีวิตบนแผ่นดินไทย คงปฏิเสธไม่ได้ พ่อหลวง คือผู้ที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาตนเองและพัฒนาสังคมให้มีความเจริญและความสุขแบบยั่งยืนที่สุด

จากโครงการพระราชดำริที่มีจำนวนมากทำให้เราสรุปได้ถึง 3 แนวทางที่พระองค์ทรงทำให้เป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและส่วนร่วมมากขึ้น

1.ให้เป็นคนที่ลงมือทำอย่างแท้จริง

หลักปรัชญา

ภาพจาก goo.gl/luvbjA

เราจะเห็นว่าตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์ไม่ว่าจะมีเหตุภัยพิบัติหรือความเดือดร้อนของประชาชนจะเกิดขึ้นที่ใด พระองค์ท่านจะลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ท่านเสมอที่เห็นเด่นชัดคือการที่พระองค์ทรงพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิชัยพัฒนา”

โดย ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ในกรณีที่ต้องถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ ระเบียบ หรืองบประมาณที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที

จนเป็นเหตุให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้อง หรือทันกับสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำโดยเร็ว การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้นในทันที

จึงทรงเป็นต้นแบบของนักคิดที่เน้นการลงมือทำทันทีสิ่งที่พสกนิกรอย่างเราๆจะนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาตนเองคือปัญหาหลายอย่างในชีวิตคน ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความยุ่งยากโดยสภาพ แต่เกิดขึ้นมาจากการที่เราเอาแต่คิด เอาแต่กังวล โดยไม่ริเริ่มที่จะลงมือทำแล้วค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเรื่อง การมีนิสัยเป็นนักลงมือทำจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาทุกเรื่องๆนั่นเอง

2.ให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจที่ดี

pl2

ภาพจาก goo.gl/n9NyAY

ในการทรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน พระองค์ท่านจะทรงให้กำลังใจและชักจูงใจให้ทั้งข้าราชการผู้ปฎิบัติงานและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน มีกำลังใจและเป้าหมายที่จะเอาชนะปัญหาอยู่เสมอ

เช่นในปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่ บ้านดอยปุยใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จึงทรงทราบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน รับสั่งถามว่านอกจากฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีกหรือเปล่า ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย

แม้ว่าลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆ กัน จึงทรงพระราชทานแนวทางและกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและชาวเขาในพื้นที่ว่าการเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตเดิมไม่ได้หมายถึงจะทำให้ชีวิตเราแย่ลง แต่การเปลี่ยนแปลงคือความพร้อมที่จะนำคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้พระองค์ทรงทราบว่า สถานีทดลองดอยปุย

pl5

ภาพจาก goo.gl/n9NyAY

ซึ่งเป็นสถานีทดลองไม้ผลเขตหนาว ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำกิ่งพันธุ์ท้อลูกใหญ่มาต่อกับต้นตอท้อพื้นเมืองได้ จึงให้ค้นคว้าหาพันธุ์ท้อที่เหมาะสมสำหรับชาวบ้าน เพื่อให้ได้ท้อผลใหญ่ หวานฉ่ำ ที่ทำรายได้สูงไม่แพ้ฝิ่น

จากพระราชดำรัสในครั้งนั้นนอกจากก่อให้เกิดโครงการหลวงบนดอยปุยยังเป็นการพระราชทานกำลังใจให้กับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้มีเรี่ยวแรงกำลังใจและมองเห็นทางออกของปัญหาว่าไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป

สิ่งที่เรานำมาปรับใช้ในการพัฒนาตัวเองจากพระราชดำรัสนี้ได้คือการไปถึงความสำเร็จในการทำงานที่แท้จริงไม่ได้มีแค่การทุ่มเทแรงงาน ทุ่มเทเวลา หรือ ทุ่มเทกำลังทรัพย์ แต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างพลังจากภายในให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งวิธีการสร้างพลังจากภายในที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการสร้างความรักและกำลังใจให้เกิดขึ้นในทุกสภาพแวดล้อมของ

3.ให้ทำดีแบบเป็นผู้ปิดทองหลังพระ

pl3

ภาพจาก goo.gl/bTolNy

ทุกพระราชกรณียกิจของพระองค์ล้วนแต่ต้องพบกับความยากลำบาก และไม่มีพระราชกรณียกิจใดที่ได้รับผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ หรือ อาจเรียกได้ว่าแทบทุกพระราชกรณียกิจของพระองค์เป็นการ “ปิดทองหลังพระ” อย่างเช่นแนวพระราชดำริเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานมานานกว่า 30 ปี

ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย เป็นแนวทางการพัฒนาขั้นพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนทางสายกลาง และความไม่ประมาทซึ่งคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อเป็นพื้นฐานในการดำเนินชิวิต ซึ่งต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” เป็นที่ตั้ง

ซึ่งถือว่าแนวคิดจากพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ทำให้ชีวิตของประชาชนอยู่ดีกินดีได้มากขึ้นโดยที่พระองค์ทรงทราบว่าความสุขที่แท้จริงของชีวิตไม่ใช่การร่ำรวยเงินทองเพียงอย่างเดียวแต่ความร่ำรวยที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขคือการรู้จักพอและใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายไม่ฟุ้งเฟ้อนั่นเอง

สิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานเป็นต้นแบบให้ปวงชนชาวไทยได้ให้เพื่อพัฒนาตนเองคือหลักคิดในการทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ โดยไม่หวังผลลัพธ์และให้นึกถึงประโยชน์ที่มีต่อผู้คนมากที่สุด ย่อมจะสร้างพลังในการปลดปล่อยศักยภาพในตัวเองได้มากกว่าการทำงานเพียงเพื่อหวังและรอผลตอบแทนในรูปตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ

จากแนวคิดที่พระองค์ทรงพระราชทานผ่านพระราชกรณียกิจนานัปประการเชื่อว่าเป็นหลักการพัฒนาตนเองที่สมบูรณ์แบบกว่าปรัชญาอื่นใดที่เคยรู้มานี่คือแนวคิดที่ปวงชนชาวไทยรับรู้ได้ทุกหย่อมหญ้า ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพสมกับที่พระองค์ทรงอยากให้คนไทยมีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจในอนาคต

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด