10 เหตุผล ทำไมเรากู้เงินไม่ผ่าน!

จะเริ่มธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินลงทุน บางคนอาจมีเงินเก็บตัวเองอยู่บ้าง แต่บางคนที่ไม่มีจำเป็นที่ต้อง “กู้สินเชื่อ” จากสถาบันการเงินต่างๆ และการกู้เงินไม่ใช่แค่การนำมาเริ่มต้นธุรกิจ แต่ยังหมายถึงการนำเงินมาขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น

อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่ามีปัญหาที่หลายคนเคยเจอคือ “กู้เงิน” ไม่ผ่าน ซึ่งอันที่จริงสถาบันการเงินทุกแห่งมีความต้องการจะปล่อยกู้ให้กับคนที่สนใจเพียงแต่เราต้องทำตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ ลองมาพิจารณาดูว่ามีเหตุผลสำคัญอะไรบ้างที่ทำให้การกู้เงินของเราต้องล้มเหลว

ทำไมเรากู้เงินไม่ผ่าน

1.เอกสารที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้ไม่ครบถ้วน

เรื่องหลักฐานในการกู้เงินเป็นสิ่งสำคัญมาก การเตรียมเอกสารหลักฐานอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของสินเชื่อที่ต้องการ โดยมี 3 กลุ่มหลักคือ เอกสารประจำตัวเช่น สำเนาบัตรประชาชน , สำเนาทะเบียนบ้าน , สำเนาทะเบียนสมรส เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องมีเอกสารเกี่ยวกับรายได้ เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก , หลักฐานการรับหรือจ่ายเงิน เป็นต้น สุดท้ายเอกสารที่สถาบันอาจต้องการเช่น สำเนาโฉนดที่ดิน (สำหรับค้ำประกัน) , เอกสารสำคัญของผู้กู้ร่วม , แผนธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งเอกสารเหล่านี้ถือเป็นขั้นต้นในการยื่นของกู้เงิน ซึ่งหากมีไม่ครบก็เป็นเหตุผลที่อาจไม่อนุมัติให้กู้

2.ขาดคุณสมบัติขั้นพื้นฐานในการกู้เงิน

นอกจากเอกสารที่ต้องจัดเตรียมให้ชัดเจน การเช็คคุณสมบัติตัวเองก็สำคัญในการกู้ ตามกฎหมายแล้วผู้ที่จะขอสินเชื่อ SME หรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน จำเป็นจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะถ้ามีอายุน้อยกว่าตามที่กฎหมายกำหนด ถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะและอาจส่งผลต่อการชำระหนี้ในอนาคต หรือในกรณีที่ผู้กู้อายุมากเกินไป คำนวณระยะเวลาในการชำระหนี้ประมาณ 30-35 ปี อายุผู้กู้ไม่ควรจะเกิน 60-65 ซึ่งผู้กู้อายุมากเกินไป สถาบันการเงินอาจมองว่าจะมีปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับการชำระเงินได้เช่นกัน

4

3.แผนธุรกิจไม่มีความน่าสนใจ

ส่วนใหญ่การขอกู้ในกลุ่มของ SME จำเป็นต้องมีแผนธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยแผนธุรกิจจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ วิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) วัตถุประสงค์ (Objective) เป้าหมาย (Goal) และแผนการดำเนินงานของกิจการ การเขียนแผนธุรกิจที่ดี ผู้ประกอบการควรสะท้อนแผนธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ และสอดคล้องกับความเป็นจริง หากมีแผนธุรกิจไม่ดีก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ขอสินเชื่อธุรกิจไม่ผ่าน ได้เช่นกัน

4.ขาดหลักฐานการแสดงรายได้ที่ชัดเจน

เป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญสำหรับประกอบการพิจารณาที่จะดูว่าผู้กู้จะมีความสามารถในการชำระหนี้ได้มากแค่ไหน โดยหลักฐานที่สถาบันการเงินจะขอดูเป็นพิเศษเช่น บัญชีหมุนเวียน เพื่อเช็ก Statement ย้อนหลัง 6 เดือน หรืออาจดูความเคลื่อนไหวทางการเงินของธุรกิจย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อตรวจสอบว่าธุรกิจมีรายรับ – รายจ่ายเท่าไร มีกำไรมากน้อยแค่ไหน และมีเงินคงเหลือเท่าไร ซึ่งใช้ประกอบกับการพิจารณาว่า เราจะสามารถผ่อนชำระคืนกับสถาบันการเงินตามวงเงินที่ขอกู้มาได้หรือไม่ ถ้าเอกสารในส่วนนี้ไม่ชัดเจนตัวเลขรายได้ไม่แน่นอน การพิจารณาส่วนใหญ่จะมองว่าผู้กู้อาจไม่มีความสามารถในการชำระคืนที่ดีพอ ก็ปล่อยกู้ไม่ได้

3

5.มีประวัติการชำระหนี้ไม่ค่อยดี

การที่สถาบันการเงินใดๆ จะปล่อยกู้กฏเกณฑ์พิจารณาต้องดูถึงความสามารถในการชำระหนี้และจำเป็นต้องมีการเช็คเรื่องนี้อย่างละเอียด สำหรับผู้ที่จะผ่านการปล่อยกู้ได้ง่ายประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาต้องดี ไม่ติดแบล็คลิสต์ แต่คนที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ค่อยดีใช่ว่าจะหมดสิทธิ์ขอสินเชื่อได้เลย ถ้ามีการไปติดต่อเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แล้วทยอยผ่อนชำระหนี้ที่ตัวเองค้างอยู่ ทางธนาคารก็อาจพิจารณาให้เป็นพิเศษ แต่แนะนำว่า ไม่ควรมีประวัติเสียเลยตั้งแต่แรกจะดีที่สุด

6.ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

การกู้เงินเพื่อเริ่มธุรกิจจำเป็นต้องใช้วงเงินที่มากพอควร ดังนั้นสถาบันการเงินจำเป็นต้องการหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน หลายคนลาออกจากงานประจำเพื่อมาสร้างธุรกิจ ที่อาจจะยังไม่มีทุนสร้างทรัพย์สินมากนัก ทำให้ธุรกิจ SME ส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ที่เพียงพอในการใช้ค้ำประกัน ทำให้สถาบันการเงินมองว่าไม่มีความมั่นคงเพียงพอที่จะชำระ โดยสินทรัพย์ค้ำประกันส่วนมาก ได้แก่ สิ่งปลูกสร้าง บ้าน ที่ดิน รถยนต์ หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ตามแต่ผู้ให้บริการแหล่งเงินทุนเห็นว่าสามารถใช้ค้ำประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจได้

2

7.การเลือกสินเชื่อที่ไม่เหมาะสม

สินเชื่อที่จะเลือกกู้มีหลายรูปแบบ อัตราดอกเบี้ย และวงเงินในการชำระก็จะแตกต่างกันไป เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้ก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน การเลือกสินเชื่อไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อาจสร้างปัญหาระยะยาวให้แก่ผู้กู้ได้ และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ให้บริการสินเชื่อด้วยเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้สถาบันการเงินไม่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เช่น ขอสินเชื่อในวงเงินที่สูงเกินความสามารถในการชำระเงินคืน หรือขอสินเชื่อระยะสั้น เพื่อนำไปลงทุนระยะยาว เป็นต้น

8.ขาดประสบการณ์ในทางธุรกิจ

สินเชื่อของบางสถาบันการเงินมองถึงประสบการณ์ด้านธุรกิจเป็นสำคัญด้วย คนที่กู้ไม่ผ่านบางครั้งอาจมาจากเหตุผลนี้ ซึ่งต้องดูเงื่อนไขในการกู้ของแต่ละสถาบันการเงินให้ชัดเจน เพราะบางแห่งต้องการผู้กู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจหรือประกอบกิจการมาไม่น้อยกว่า 1-3 ปี หากไม่มีเงื่อนไขนี้ก็กู้ไม่ผ่าน ทางแก้ปัญหาจึงควรมองหาสินเชื่อที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องประสบการณ์เป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายใหม่ จะสามารถกู้ผ่านได้ง่ายกว่า

1

9.ไม่เดินบัญชีธนาคาร

การที่ผู้กู้เงินมีเงินหมุนเวียนทางการค้าที่ไม่ผ่านระบบบัญชีธนาคาร บางครั้งก็หมุนเวียนในนามบุคคลอื่น หรือซื้อขายกันเป็นเงินสด ทำให้ธนาคารไม่เห็นปริมาณกระแสเงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกจริงๆ ในธุรกิจ จึงเกิดความไม่ชัดเจนว่าธุรกิจมีประวัติการรับและจ่ายเงินอย่างไร ดังนั้นผู้ต้องการกู้ควรรับและจ่ายเงินผ่านทางบัญชีธนาคาร ที่ปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านทางออนไลน์บนมือถือเพื่อให้มีการเดินบัญชีที่ชัดเจนจะประกอบการพิจารณาในการกู้ได้ง่ายขึ้น

10.ความคิดเชิงลบและแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

ผู้กู้บางส่วนอาจมีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบันการเงิน เนื่องด้วยขอกู้แล้วไม่ผ่าน ทำให้มีภาพจำไม่ค่อยดี ส่งผลต่อการแสดงออกของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่นเอะอะโวยวาย , ตำหนิพนักงาน เป็นต้นซึ่งการแสดงออกเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ทางสถาบันการเงินมองว่าผู้กู้มีปัญหา และอาจทำให้การพิจารณาในเรื่องคุณลักษณะของตัวเจ้าของธุรกิจนั้นไม่ผ่าน ส่งผลให้ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามไปด้วย

ทั้งนี้การขอกู้สินเชื่อทางธุรกิจมีข้อดีคือการทำให้เรามีเงินลงทุน และที่สำคัญคือทำให้เรามีเครดิตในด้านการเงิน ซึ่งมีผลในอนาคตสำหรับคนที่ต้องการจะกู้เพิ่มเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดีคำว่าเงินกู้คือเงินที่เรานำมาใช้ล่วงหน้า ดังนั้นต้องมีการวางแผนในการชำระคืนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เงินที่กู้มานั้นเกิดประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุดด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3wEQiIK , https://bit.ly/3wMpO8k , https://bit.ly/3wJ2ubl , https://bit.ly/3sT7FnX

อ้างอิงจาก https://bit.ly/38OBXS7

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด