อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงปลาหมอ” ทำง่าย รายได้ดีจริง

ปลาหมอไทย เป็นปลาที่มีรสมัน เนื้อแน่น นุ่ม ก้างน้อย สามารถประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งต้มยำ แกง ทอด ปัจจุบันเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และส่งออก เป็นปลาที่มีความทนในสภาพที่มีน้ำน้อยหรือขาดน้ำ

จึงสามารถขนส่ง และจำหน่ายในรูปปลาสดที่มีชีวิตในระยะทางไกลๆได้ โดยมีความต้องการในต่างประเทศสูงในแต่ละปี โดยเฉพาะปลาหมอที่มีขนาดใหญ่ (3-5 ตัว/กิโลกรัม) ราคาจำหน่ายในประเทศ กิโลกรัมละ 100-150 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และฤดูกาล ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งใน และต่างประเทศ

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจหากเราศึกษาให้ดีจะสามารถสร้างเป็นอาชีพที่มั่นคง ยิ่งยุคนี้หลายคนตกงาน ว่างงาน อาจมีเวลากลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดมากขึ้น อาจะเป็นช่องทางให้สามารถพัฒนาพื้นที่รองรับการเลี้ยงปลาหมอเป็นธุรกิจให้กับครอบครัวได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “ปลาหมอ”

การเลี้ยงปลาหมอ

ภาพจาก bit.ly/3ifBkzP

ปลาหมอไทย มีชื่อเรียกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือ และอีสาน เรียกว่า ปลาเข็ง ภาคใต้ เรียกว่า อีแกปูยู ปลาหมอหนึ่งตัวสามารถแพร่พันธุ์ และวางไข่ได้จำนวนมาก เป็นปลากินพืช และกินเนื้อที่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่เดือน สามารถปรับตัวให้กับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย หรือน้ำเค็มได้อย่างดี ปลาเพศหมอเมียจะมีขนาดโต และน้ำหนักมากกว่าเพศผู้ และมีความกว้างของลำตัวมากกว่าเพศผู้ ส่วนเพศผู้จะมีลำตัวเรียวยาวกว่าเพศเมีย และความกว้างลำตัวสั้นกว่า

เมื่อถึงฤดูปลามีไข่ ปลาหมอเพศเมียจะมีท้องอูมเป่ง อวัยวะเพศขยายใหญ่ มีสีแดง ส่วนเพศผู้จะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อจับส่วนโคนหางจำนวนไข่ปลาหมอจะขึ้นกับขนาดเป็นสำคัญ มีการศึกษาจำนวนไข่ของปลาหมอ พบว่า ปลาหมอขนาด 38 กรัม จะมีไข่ประมาณ 2,200 ฟอง ขนาด 100 กรัม จะมีไข่ประมาณ 12,000 ฟองและ ขนาด 145 กรัม จะมีไข่ประมาณ 28,000 ฟอง เป็นต้น

เทคนิคและวิธีการเลี้ยง “ปลาหมอ”

4

ภาพจาก bit.ly/34cYO3w

1. การเตรียมบ่อ

ขนาดเล็กสุดใช้พื้นที่ประมาณ 1-3 งาน ความลึกประมาณ 1.5-2.0 เมตร หากเป็นบ่อเก่าต้องสูบน้ำให้แห้ง กำจัดศัตรูปลาให้หมด หว่านปูนขาวประมาณ 150-200 กิโลกรัมต่อไร่ ตากบ่อให้แห้งเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค

กรณีบ่อใหม่ ให้หว่านปูนขาวปริมาณ100 กิโลกรัมต่อไร่ ค่า pH ของน้ำควรอยู่ในช่วง 6.5-8.5 ใช้อวนไนลอนกั้นรอบบ่อให้สูงประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันปลาหลบหนีสูบน้ำลงบ่อก่อนปล่อยลูกปลาประมาณ 60-100 เซนติเมตร

กรองน้ำด้วยอวนมุ้งตาถี่หรืออาจฆ่าเชื้อในน้ำด้วยคลอรีนผง 3 ส่วน หรือ 3 กรัมต่อน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเข้าบ่อเป็นเวลา 8 สัปดาห์ จนมีระดับน้ำ 1.5 เมตร และควบคุมระดับน้ำที่ระดับนี้ตลอดไป

2. การเลือกลูกพันธุ์ปลา

มี 2 ขนาดคือ ลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร (อายุ 25-30 วัน) และขนาด 2-3 นิ้ว (อายุ 60-75 วัน) เกษตรกรที่ไม่มีความชำนาญอาจเลือกลูกปลาขนาด 2-3 นิ้ว ซึ่งราคาเฉลี่ยตัวละ 0.60-1.00 บาทต่อตัว จะจัดการดูแลง่ายและมีอัตรารอดสูง

ส่วนลูกปลาขนาด2-3 เซนติเมตร เป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ราคาถูก เฉลี่ย 0.30-0.50 บาทต่อตัว หากจัดการบ่อเลี้ยงที่ดีก็สามารถทำให้อัตรารอดและผลผลิตสูง

3

ภาพจาก bit.ly/2EMJdyP

3. อัตราการปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง

นิยมปล่อย 30-50 ตัวต่อตารางเมตร หรือ 50,000-80,000 ตัวต่อไร่ ทั้งนี้ความหนาแน่นในการเลี้ยงนี้ขึ้นอยู่กับสมรรถนะการจัดการฟาร์ม และงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการฟาร์มของเกษตรกรแต่ละรายเป็นสำคัญ

และหากมีเป้าหมายต้องการปลาขนาดใหญ่ต้องปล่อยลูกปลาในความหนาแน่นต่ำลงมาประมาณ 20 ตัวต่อตารางเมตรหรือ 32,000 ตัวต่อไร่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยพันธุ์ลูกปลาคือ ช่วงเวลาเช้าหรือเย็น

4. การให้อาหาร

หากเป็นการเลี้ยงแบบทั่วไปเกษตรกรนิยมให้อาหารสมทบจำพวกเศษอาหารจากครัวเรือน รำละเอียด ปลาสดสับ ปลวก และการใช้ไฟล่อแมลงกลางคืนตลอดจนอาหารสำเร็จรูปบางส่วนแต่หากเป็นการเลี้ยงธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น

เน้นการปล่อยเลี้ยงแบบหนาแน่นสูงมาก ปลา ต้องการอาหารที่เป็นโปรตีนสูงมากหลังจากนั้นเมื่ออายุ 2-3 เดือน ต้องการอาหารระดับโปรตีนต่ำ ซึ่งการให้ต้องเดินหว่านอาหารให้รอบบ่อ

โรคที่ควรระวังในการเลี้ยงปลาหมอ

2

ภาพจาก bit.ly/33isEnR

  1. โรคตกเลือดซอกเกล็ด จะมีอาการเกิดแผลสีแดงเป็นจ้ำๆ ตามลำตัว พบมากบริเวณครีบ และซอกเกล็ด หากเป็นมากจะทำให้เกล็ดหลุดหรือติดเชื้อราร่วมด้วยจนเป็นโรคเกล็ดพองได้
  2. โรคเกล็ดพอง ปลาหมอที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเกล็ดพองตามลำตัว หรือเกล็ดตั้งอ้าออก มีอาการตกเลือดตามฐานซอกเกล็ด ร่วมด้วยกับลำตัวบวมโต
  3. โรคแผลตามลำตัว จะมีอาการเกล็ดหลุด และผิวหนังเปื่อยลึกมองเห็นเนื้อด้านใน แผลมีการกระจายทั่วลำตัว และมักพบการติดเชื้อราร่วมด้วย
  4. โรคจุดขาวจะมีอาการปรากฏจุดขาวขุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดบริเวณลำตัว และครีบ

ทั้งนี้เกษตรกรควรศึกษาวิธีการป้องกันโรคและหาข้อมูลการเลี้ยงจากกรมประมงหรือสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จะช่วยทำให้การเลี้ยงปลาหมอ ปลอดโรคมากขึ้น

ราคาในการจับจำหน่าย

1

ภาพจาก bit.ly/2GfvmBN

ระยะเวลาเลี้ยงขึ้นอยู่กับขนาดปลาที่ตลาดต้องการ ทั่วไปใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 90-120 วัน ส่วนใหญ่ส่งขายให้กับแพปลา (พ่อค้าขายส่ง) มักตกลงราคาขายเหมาบ่อ โดยทอดแหสุ่มตัวอย่างปลาแล้วตีราคา

ส่วนการจับปลานั้นจะต้องสูบน้ำออกจากบ่อให้เหลือน้อย แล้วจึงตีอวนล้อมจับปลา โดยลากอวนจากขอบบ่อด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งแล้วจึงยกอวนขึ้น ใช้สวิงจับปลาใส่กระชังพักปลาหรือตะกร้าเพื่อคัดขนาดบรรจุปลาในลังไม้ ใช้น้ำสะอาดฉีดพ่นทำความสะอาดตัวปลาซึ่งมักติดคราบโคลนและกลิ่นโคลนดินหลายๆ ครั้ง แล้วลำเลียงผลผลิตสู่ตลาดต่อไป

อย่างไรก็ดีการเลี้ยงปลาหมออาจมีเทคนิคที่สอดแทรกนอกตำราอยู่มาก เป็นเรื่องที่เกษตรกรเองต้องศึกษาให้รอบด้าน สำคัญคือเรื่องการตลาดที่ต้องมีเพียงพอกับผลผลิตที่จะออกจำหน่าย และหากสามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ก็จะถือเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้ขายง่าย ขายดี และมีกำไรได้มากขึ้น

***เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ผู้สนใจควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และต้นทุน-ค่าใช้จ่าย อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง และตัวปัจจัยในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ***


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3kJSFCm , https://bit.ly/32UP6Dk

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/30oSDYW

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด