ถาม-ตอบ เรื่องการส่งสินค้าไปขายกัมพูชา

การทำธุรกิจออกสินค้าไปขายต่างประเทศ คือ แนวทางการต่อยอดธุรกิจที่น่าสนใจแต่ การส่งออกสินค้า มีข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำธุรกิจภายในประเทศ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ค่านิยมของผู้บริโภค

และที่สำคัญคือเรื่องของกฎหมายและระบบการเสียภาษี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จเหมือนกับการทำธุรกิจในประเทศ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้กับทั้งผู้ประกอบการและธุรกิจคือสิ่งแรกๆ โดยเฉพาะการค้าขายกับเพื่อนบ้านอย่าง “กัมพูชา”

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะขอนำเสนอวิธีการค้าขายในประเทศกัมพูชา รวมถึงระบบการชำระเงิน ช่องทางการจำหน่ายสินค้าในกัมพูชา เพื่อให้ผู้ประกอบการไทย เจ้าของแบรนด์สินค้าต่างๆ นำไปพิจารณาก่อนทำการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศกัมพูชา เพราะการรู้เขารู้เรา รู้ช่องทางการการเจาะลูกค้า จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ครับ

การส่งออกสินค้า

ภาพจาก goo.gl/e5X5Hk, goo.gl/1jWNC3

1.สินค้าไทยที่มีศักยภาพ ชาวกัมพูชานิยม

สินค้าจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น อาหารและเครื่องดื่ม, ยาและสมุนไพรรักษาโรค, สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม, สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เรื่อยไปจนถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะ ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ตลาดกัมพูชาและผู้บริโภคชาวกัมพูชาให้การยอมรับ และต้องการนำเข้าอย่างไม่ขาดสาย

โดยส่วนมากแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจของไทยจะนิยมส่งสินค้าออกผ่านช่องทางการขนส่งสินค้าที่คลองใหญ่ จังหวัดตราด เพราะสามารถทำการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปถึงพนมเปญในระยะเวลา 7 วันเท่านั้น และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสินค้า ที่สำคัญความเสียหายหรือสินค้าสูญหายนั้น จากประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบไทยยังไม่เคยเจอปัญหา

2.วิธีการค้าขายในประเทศกัมพูชา

  1. การค้าแบบปกติผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้าของกัมพูชา จะต้องขอจดทะเบียนเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า ที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยการนำเข้าสินค้าของกัมพูชานั้น จะต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากบริษัท SGS ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ที่กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาจัดจ้างขึ้นมา เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า
  2. การค้าชายแดน การค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน โดยการค้าชายแดนจะเป็นการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนไทยกับผู้นำเข้ากัมพูชา ที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการซื้อขาย ครั้งละไม่เกิน 5 แสนบาท

op3

ภาพจาก goo.gl/fA5Gfn

3. ประเภทของผู้นำเข้าและส่งออกของกัมพูชา

  1. บริษัทของรัฐบาล (State-owned Company) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้น เพื่อนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การนำเข้าอาหารและข้าว เพื่อใช้แจกเป็นสวัสดิการแก่ทหารและข้าราชการ
  2. บริษัทเอกชน (Private Company) เป็นบริษัทผู้นำเข้า (Importer) หรือบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว (Sole Agent) หรือเป็นบริษัทตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ของกัมพูชา
  3. ผู้ค้าชายแดน เป็นผู้รับจ้างนำเข้าสินค้าให้กับร้านค้าย่อยตามตลาดต่างๆ โดยพ่อค้าชายแดนจะรับสินค้าจากชายแดนไทย ไปส่งตามร้านค้าและแผงลอยในกัมพูชา ซึ่งสินค้าที่นำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค

4. การชำระเงินค่าสินค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยกับผู้นำเข้าของกัมพูชา

  1. การชำระด้วยระบบ L/C (Letter of Credit) เป็นการชำระเงินค่าสินค้าที่มีมูลค่าสูง โดยผู้ซื้อในกัมพูชาจะติดต่อกับธนาคารของตนเองเพื่อให้ธนาคารของตนเปิด L/C ให้กับผู้ส่งออกไทยโดยผ่านธนาคารของไทย หลังจากนั้นธนาคารของไทยจะส่ง L/C ให้ผู้ส่งออกเพื่อดำเนินการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อต่อไป
  2. การชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดสกุลเงินที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดคือ ดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท หรือบางครั้งจะชำระด้วยทองคำ
  3. การชำระเงินระบบ D/P (Documents Against Payment) และ D/A (Documents Against Acceptance) ผู้ส่งออกของไทยจะทำการตรวจสอบฐานะและประวัติของผู้ซื้อกัมพูชาก่อนจนเป็นที่พอใจแล้วจึงส่งเอกสารและสินค้าไปให้กับธนาคารของผู้นำเข้าโดยผู้นำเข้าจะต้องชำระเงินค่าสินค้าก่อนจึงจะสามารถนำเอกสารไปออกสินค้าได้
  4. การชำระเงินด้วยระบบ T/T (Telegraphic Transfer) ผู้ส่งออกของไทยจะส่งสินค้าไปให้กับผู้นำเข้ากัมพูชาโดยให้เครดิตระยะหนึ่ง เมื่อครบกำหนดเครดิตผู้นำเข้าของกัมพูชาจะโอนเงินโดยทางโทรเลขกลับมาให้ผู้ส่งออกของไทย

op6

ภาพจาก goo.gl/kYJizW

5. ระบบการชำระเงินทางการค้าที่นิยมในกัมพูชา

ในอดีตกัมพูชาไม่มีสกุลเงินเป็นของตนเอง ราคาสินค้าถูกกำหนดโดยเงินดองของเวียดนาม เงินบาทของไทย ทองคำ และข้าว โดยอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวตามอัตราตลาดในปี 2533 รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศใช้ระบบเงินตราโดยนำสกุลเงินเรียล (Riel) มาใช้ ต่อมาในปี 2538 กัมพูชาได้ใช้นโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและได้มีการส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ ทำให้สกุลเงินที่ใช้ในการติดต่อค้าขายในประเทศมีหลายสกุลด้วยกันคือ

  • เงินเหรียญสหรัฐฯ ใช้ในการชำระค่าสินค้านำเข้าหรือส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์หรือสินค้าที่ผ่านทางสิงคโปร์
  • เงินบาท ใช้ในการชำระค่าสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกไปจากประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับชายแดนไทย-กัมพูชา
  • ทองคำ เป็นที่นิยมในการชำระหนี้มากที่สุด โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งออก หรือนำเข้าจากประเทศสังคมนิยมและยุโรปตะวันออกตลอดจนใช้เป็นตัวกำหนดค่าแลกเปลี่ยนเงินและซื้อขายสินค้าในตลาดทั่วไป
  • เงินเรียล (Riel) เป็นสกุลเงินของประเทศกัมพูชาที่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ของกัมพูชา อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 4054.93 เรียลเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (18 มิ.ย.2560)

6. ช่องทางการจำหน่ายสินค้าในกัมพูชา

ช่องทางการจัดจำหน่ายและการกระจายตัวของสินค้าในตลาดกัมพูชา จำแนกตามสินค้าที่สำคัญดังนี้

  • สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้นำเข้าของกัมพูชาจะนำสินค้าจากไทย ไปกระจายให้กับร้านค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท และ ร้านค้าปลีก ในกรุงพนมเปญและเมืองการค้าต่างๆ
  • สินค้าวัสดุก่อสร้าง ผู้นำเข้าจะเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเอง โดยจะกระจายสินค้าต่อไปยังตัวแทนขาย และร้านค้าปลีก
  • รวมทั้งการขายโดยตรงให้ผู้บริโภคทั้งในกรุงพนมเปญและจังหวัดต่างๆ ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านแดนผู้นำเข้าของกัมพูชาจะนำสินค้าเข้าจากไทย แล้วส่งต่อไปจำหน่ายที่เวียดนาม โดยเป็นลักษณะของการขนสินค้าผ่านแดน

op5

ภาพจาก goo.gl/Ahg7TL

7.จุดการค้าและเส้นทางการค้ากัมพูชา

จุดการค้าที่สำคัญของกัมพูชาที่มีชายแดนติดกับไทยได้แก่ พระตะบอง เสียมเรียบ และเกาะกง ส่วนเมืองการค้าที่ไม่มีเขตติดต่อกับไทยได้แก่ กรุงพนมเปญ กัมปงโสม สวายเรียง สะตรึงเตร็ง และรัตนคีรี
ส่วนเส้นทางการค้าในกัมพูชาที่ใช้ขนส่งสินค้า ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งทางรถยนต์และการขนส่งทางเรือ ดังนี้ เส้นทางคมนาคมทางบกที่ใช้รถยนต์ในการขนส่งสินค้าที่สำคัญได้แก่

  • ถนนหมายเลข 1 เป็นเส้นที่เชื่อมจากกรุงพนมเปญเข้าสู่ นครโฮจิมินห์ของประเทศเวียดนาม
  • ถนนหมายเลข 4 เป็นเส้นทางการค้าที่ใช้ขนส่งสินค้าจากท่าเรือกัมปงโสมเข้าสู่กรุงพนมเปญ
  • ถนนหมายเลข 5 เป็นถนนที่ตัดผ่านจากชายแดนไทยที่อำเภออรัญประเทศผ่านเมืองสำคัญต่างๆ ของกัมพูชาและเข้าสู่กรุงพนมเปญ
  • ถนนหมายเลขที่ 7 เป็นถนนสายสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่ใช้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวและการค้า โดยตัดจากกรุงพนมเปญเข้าสู่เมืองกัมปงจาม
  • ถนนหมายเลขที่ 13 เป็นถนนสายเอเซียที่เชื่อม 4 ประเทศจากประเทศลาวเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีของไทยผ่านเข้าสู่เมืองสะตรึงเตร็งของกัมพูชาและเข้าสู่นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม

op4

ภาพจาก goo.gl/kc6zaa

เส้นทางคมนาคมทางน้ำ ท่าเรือหลักที่ใช้ขนส่งสินค้าของกัมพูชา มี 2 แห่ง คือ

  1. ท่าเรือกัมปงโสม สามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 10,000 ตัน ได้พร้อมกัน 4 ลำ นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือขนาดเล็กสำหรับเรือลำเลียงที่มีขนาดใหญ่
  2. ท่าเรือพนมเปญ เป็นท่าเรือขนาดเล็กมีความยาวหน้าท่าประมาณ 183 เมตร และท่าลอยน้ำ 3 แห่ง รองรับเรือที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 100 เมตร ได้ นอกจากนี้ยังมีท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดเล็กด้วย

ทั้งหมดเป็นวิธีการขายสินค้าในประเทศกัมพูชาแบบค่าวๆ แต่ถ้าผู้ประกอบการไทย รวมถึงเจ้าของแบรนด์สินค้า ต้องการนำสินค้าไปขายในกัมพูชาจริงๆ ก็ต้องลองศึกษากฎระเบียบทางการค้า รวมถึงข้อต้องห้ามในการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาให้ดีเสียก่อน หรืออาจเข้าไปปรึกษาขอข้อมูลกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ครับ

อ่านบทความ SMEs goo.gl/gcDNZX
อ่านบทความค้าขาย goo.gl/JGHdST

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช