ช็อปช่วยชาติ ช็อปช่วย SMEs ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา

เรียกได้ว่าผล การดำเนินงาน ประสบผลสำเร็จ ได้รับความสนใจจากประชาชนและพ่อค้าแม่ค้าอย่างล้นหลาม กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

ทั้ง “ช็อปช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 และ “กินเที่ยวช่วยชาติ” ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 และ “ช็อปสินค้าโอท็อป” เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีขึ้นอีกครั้ง ตลอดเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้คึกคัก

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว มีมติอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อการซื้อสินค้า หรือ “มาตรการช็อปช่วยชาติ” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว โดยจะยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดา ให้ผู้ที่ซื้อสินค้าตามจำนวนที่จ่ายจริง วงเงิน ไม่เกิน 15,000 บาท จากร้านค้าที่มีใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นสินค้าประเภทสุรา / ยาสูบ / รถยนต์ และน้ำมัน

การดำเนินงาน

ภาพจาก goo.gl/sUh5BH

โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 – 31 ธันวาคม 2559 รวมระยะเวลา 18 วัน โดยการยื่นแบบภาษีประจำปี 2559 สามารถทำการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีได้ในเดือน มกราคม-มีนาคม 2560

มาตรการดังกล่าว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น แม้ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้ไปบางส่วนก็ตาม แต่ก็ทำให้ได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและได้ภาษีทางอ้อมกลับคืนมา ซึ่งถือว่าคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจภาพรวม อีกทั้งยังนำไปสู่การจ้างงาน และแบ่งเบาภาระภาษีให้ประชาชน และจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนในระบบมากขึ้น

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้ทำการวิเคราะห์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท “ช็อปช่วยชาติ” เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการค้าต่างๆ SMEs พ่อค้าแม่ค้า ผู้บริโภค รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ นับว่าเป็นการช่วยชาติ ช่วย SMEs อย่างถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา

กระตุ้นการบริโภค…ได้ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา

gg24

ภาพจาก goo.gl/0XnWbe

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 มาตรการนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนบรรดาห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งหลาย เรียกร้องให้ต่ออายุมาตรการนี้ออกไปอีก พร้อมแถลงข่าวใหญ่ว่า เป็นมาตรการที่ออกมา “ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา” เพราะเป็นช่วงปลายปี ทำให้ประชาชนออกจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากการซื้อสินค้าอุโภค-บริโภคเป็นของฝาก เป็นของขวัญให้คนรู้จัก

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ระบุว่า มีผู้ได้ประโยชน์ราว 3.2 ล้านคน จากฐานผู้เสียภาษี 9.6 ล้านคน ส่งผลให้การใช้จ่ายช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นถึง 20% เป็นเงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2-3 เท่า หรือ ราว 1.25 แสนล้านบาท

พอมาคราวนี้ รัฐบาลจะคาดหวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ช็อปช่วยชาติ” จะประสบความสำเร็จเหมือนปีที่ผ่านมา แม้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบถึง 2 หมื่นล้านบาท จากผู้ช็อปสินค้าตามนโยบายรัฐบาลประมาณ 2 ล้านราย

ตรงนี้จะทำให้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้ร้อยละ 0.2 รวมถึงยังเกิดการจ้างงาน การเพิ่มยอดขายสินค้า ช่วยลดภาระภาษีให้แก่ประชาชน และดึงเอกชนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น จากมาตรการช็อปช่วยชาติในปี 58 มีผู้ซื้อสินค้า 1 ล้านราย ส่งผลต่อรัฐเสียรายได้ 1,200 ล้านบาท มียอดซื้อสินค้า 10,000 ล้านบาท

gg23

ภาพจาก goo.gl/rYqfeA

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าว หลายคนมองว่าอาจจะกระตุ้นการใช้จ่ายได้ในกลุ่มผู้บริโภค “คนชั้นกลาง” ที่ยังพอมีกำลังซื้อ มีฐานะ แต่ที่ผ่านมาระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และไม่มีอารมณ์จับจ่าย มาตรฐานนี้จึงน่าจะดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมามากขึ้น เพื่อนำค่าใช้จ่ายไปช่วยลดหย่อยภาษีประจำปี 2559

โดยผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คือ ร้านค้า ร้านบริการ ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้ารายกลางและใหญ่ที่อยู่ในระบบภาษี ที่สามารถ “ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ” ให้กับประชาชน เพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการสปา ซ่อมรถยนต์ ก็ยังได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” และได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมของธุรกิจรองรับความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้น ต้องผลิตสินค้าให้เพียงพอ ไม่กักตุน ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน ราคาไม่แพงจนเกินไป ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค

สำหรับผู้บริโภคแม้ว่า ค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท จะสามารถนำไปช่วยลดหย่อนภาษีได้ ก็ต้องมีสติในการใช้จ่าย ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง หวังว่าจะไม่โดดร่วมวงกับมาตรการนี้ผ่านการรูด “บัตรเครดิต” หรือ “ก่อหนี้นอกระบบ” เพื่อหวังวงเงินหักลดหย่อนภาษีไม่กี่พันบาท

สุดท้ายแล้ว ไม่เพียงจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ยังจะเป็นการสร้างปัญหาให้กับระบบเศรษฐกิจเพิ่ม ภายใต้ภาวะ“หนี้ครัวเรือน” ที่ยังอยู่ในระดับสูง เพราะมาตรฐานดังกล่าว “ล่อตา ล่อใจ” ได้ดี เพิ่มวงเงิน และขยายเวลาช็อปนานขึ้นด้วย

เช็คลิสต์ “สินค้า-บริการ” เข้าร่วม “ช็อปช่วยชาติ” 2559

ii20

ภาพจาก facebook.com/homeprothailand

สินค้าและบริการ ที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น ต้องเป็นสินค้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ สินค้าเสริมความงาม อาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรม (ไม่รวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) โดยร้านอาหารนั้นต้องจดทะเบียน VAT ยารักษาโรค อาหารเสริม

อุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า บริการต่าง ๆ อาทิ นวดหน้า สปา ทองรูปพรรณ (ลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ) ซื้อบัตรเพื่อแลกรับบริการ และนำบัตรไปใช้บริการ ในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 รวมถึงค่าซ่อมรถ โดยต้องรับบริการและแล้วเสร็จ ในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559

“สินค้า-บริการ” ไม่ร่วมมาตรการลดหย่อนภาษี

gg25

ภาพจาก goo.gl/8Kko7T

สำหรับสินค้าและบริการ ที่มีข้อยกเว้น เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ บุหรี่ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางในประเทศ-ต่างประเทศ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ (เพราะเป็นการใช้ในเดือนพฤศจิกายน) ค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศัลยกรรมทองคำแท่ง

ผัก ผลไม้สดที่ยังไม่ได้แปรรูป เนื้อหมู ไก่ ปลา หนังสือ นิตยสาร ตำราเรียน สินค้า Duty free (ยกเว้นซื้อสินค้าที่เสีย VAT ในร้าน Duty Free สามารถนำมาใช้ได้) ประกันชีวิต ประกันรถยนต์ ประกันอุบัติเหตุ บัตรของขวัญ (Gift Voucher)

ทัวร์ไปต่างประเทศ สินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ละค่าบริการนำเที่ยวในประเทศ แพ็กเกจทัวร์ หรือค่าที่พักโรงแรมในประเทศ (แต่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนเพื่อการท่องเที่ยวได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ เปิดเงื่อนไขท่องเที่ยวเดือนธันวาคมอย่างไร ให้ได้ลดหย่อนภาษี 2559)

ได้เห็นแล้วว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่าน “มาตรการช็อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 14-31 ธันวาคม ถือเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2559 มีประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย ผู้ผลิตและผู้ค้าขายสินค้าได้ ผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วนำไปช่วยลดหย่อนภาษี อีกทั้งยังเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น นับได้ว่ามาตรการดังกล่าว…เดินมาถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา ที่เหมาะพอดี

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช