วิธีวางแผนการเงินหลังเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน
การเกษียณอาจดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายคน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่กำลังมุ่งมั่นกับการทำงานในปัจจุบัน แต่ความจริงแล้ว ยิ่งเริ่มวางแผนเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะมีเงินเพียงพอไว้ใช้หลังเกษียณก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น บทความนี้จะพาไปเรียนรู้วิธีวางแผนการเงินหลังเกษียณอย่างชาญฉลาด เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลานหรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย
ทำไมต้องวางแผนเกษียณ
การวางแผนเกษียณเป็นสิ่งสำคัญเพราะอายุขัยของคนไทยยืนยาวขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 17 ปีหลังเกษียณ ขณะที่ค่าครองชีพและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ หากไม่มีการวางแผนล่วงหน้า เงินเก็บอาจหมดก่อนที่ชีวิตจะหมด ทำให้เป็นภาระของลูกหลานหรือต้องกลับมาทำงานในวัยที่ควรพักผ่อน
6 วิธีวางแผนการเงินหลังเกษียณ ที่ทำได้ง่าย ๆ
มนุษย์เงินเดือนสามารถเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ หรือมีเงินเดือนมากน้อยแค่ไหน 6 วิธีต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. ตั้งเป้าหมายเงินเก็บให้ชัดเจน
ก่อนเริ่มต้นวางแผนสิ่งใด การมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือสิ่งสำคัญ ลองคำนวณดูว่าหลังเกษียณต้องการใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ต่อเดือน หรือต่อปี และคาดการณ์ว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณอีกกี่ปี โดยสามารถคำนวณง่าย ๆ จากสูตร
ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x 17 ปี (อายุขัยเฉลี่ยหลังเกษียณของคนไทย)
เช่น หากต้องการใช้เดือนละ 20,000 บาท หรือปีละ 240,000 บาท ต้องมีเงินเก็บประมาณ (240,000 x 17) 4,080,000 บาท หรือถ้าใครอยากเกษียณก่อนกำหนด ก็เปลี่ยนอายุขัยที่เหลืออยู่ได้ตามต้องการ เพื่อให้ได้เป้าหมายเงินเก็บไว้ใช้ยามเกษียณแม่นยำยิ่งขึ้น
2. เริ่มออมตั้งแต่มีรายได้แรก
ยิ่งเริ่มออมเร็ว เงินยิ่งงอกเงยได้มากขึ้น ลองวางแผนแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินออม โดยใช้หลักการออมก่อนใช้ เช่น ตั้งการหักเงินอัตโนมัติเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือการลงทุนทันทีที่ได้รับเงินเดือน อย่างน้อย 10-20% ของรายได้ โดยไม่นำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณค่าใช้จ่ายประจำเดือน
3. ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือการออมภาคบังคับและสมัครใจ
เริ่มจากการใช้เครื่องมือออมเงินภาคบังคับให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น ประกันสังคม จากนั้นเสริมด้วยเครื่องมือภาคสมัครใจที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันบำนาญที่ช่วยรับประกันรายได้หลังเกษียณและยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีอีกด้วย นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการวางแผนการเงินระยะยาว
4. ปลดหนี้ให้หมดก่อนเกษียณ
ภาระหนี้สินเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับชีวิตหลังเกษียณ วางแผนชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นก่อนเกษียณ โดยเฉพาะหนี้บ้านและหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูง หากมีหนี้หลายก้อน ให้เลือกชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน หรือพิจารณารีไฟแนนซ์เพื่อลดภาระดอกเบี้ย การปลอดหนี้จะช่วยให้เงินที่มีเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณมากขึ้น
5. สร้างแหล่งรายได้เสริมหลังเกษียณ
นอกจากเงินเก็บแล้ว ควรวางแผนสร้างแหล่งรายได้เสริมหลังเกษียณ เช่น ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า หรือสร้างธุรกิจเล็ก ๆ ที่สามารถดำเนินต่อได้ในวัยเกษียณ รวมถึงพัฒนาทักษะที่สามารถทำเป็นอาชีพเสริมได้ แหล่งรายได้ที่หลากหลายจะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
6. คำนึงถึงค่ารักษาพยาบาลและอัตราเงินเฟ้อ
ค่ารักษาพยาบาลมักเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น และอัตราเงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นทุกปี การคำนวณเงินเก็บควรคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ด้วย โดยอาจคิดอัตราเงินเฟ้อที่ 2-3% ต่อปี และวางแผนทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อให้มีโอกาสได้ทุนประกันสูงในราคาเบี้ยที่ถูกกว่าการทำประกันสุขภาพตอนอายุมาก
สรุปบทความ
การวางแผนการเงินหลังเกษียณเป็นเรื่องที่ควรเริ่มต้นตั้งแต่มีรายได้ครั้งแรก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ออมอย่างสม่ำเสมอ ใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย และปลดหนี้ให้หมดก่อนเกษียณ การมีวินัยทางการเงินจะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนมีเงินเพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณและใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุขโดยไม่เป็นภาระของใคร